ไฟด้านหน้าค่อนข้างมืดแต่พอเดินเข้าใกล้ก็พบป้ายที่เขียนไว้ว่า'Asian Town'กับเจ้าหน้าที่รายหนึ่งกำลังก้มเก็บขยะบนพื้น ผมยิ้มให้ทีแรกก่อนถามว่าสนามข้างหน้านี้ใช่สนามคริกเกตใช่ไหม เขาพงกหัวแทนคำตอบ
หลังจากศึกษามาละเอียดก็พบว่าหากอยากเรียนรู้ให้ถึงลมหายใจที่แท้จริงของกาตาร์ก็ต้องสะพายเป้ออกมาทางตะวันตกเฉียงใต้ของโดฮาในย่านที่เหมือนชื่อป้าย หากคำว่า'เอเชี่ยน ทาวน์'นี้จะต่างไปจากในอังกฤษหรือบางประเทศที่มักเนืองแน่นด้วยชาวจีน
"วันนี้ไม่มีคริกเกตแข่งหรอกนะ เอาจริงๆก็ไม่มีแข่งในช่วงเวิล์ด คัพ วันนี้มีงานอย่างอื่นแทน มีคอนเสิร์ต มีเกมให้เล่น เดี๋ยวผมจะพาคุณเข้าไปข้างในเอง"เจ้าหน้าที่อีกคนที่ดูหนุ่มแน่นกว่าอาสาพาผมเข้าไปด้านใน
บางวันที่อยากเดินทางต่อให้ระยะทางจะไม่ได้ไกลอะไรนักแค่ราว20นาทีจากใจกลางเมืองแต่คำว่า'เดินทาง'ย่อมอยู่ที่ว่าไปแล้วเราได้อะไรมาบ้าง
ประเทศเล็กๆที่มีประชากรไม่ถึงสามล้านคนดีนักก็มีรากฐานกลุ่มใหญ่เกือบครึ่งของทั้งหมดมาจากพวกใช้แรงงาน ดังนั้นในปี2015ทางกาตาร์จึงเนรมิตพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมาเพื่อให้เป็นศูนย์กลางรวมคนต่างชาติที่ตั้งใจมาแสวงหาชีวิตที่พวกเขาต่างเชื่อว่าจะดีขึ้นโดยสำคัญก็คือว่าพวกที่ถูกเกณฑ์ไปสร้างสนามใหม่รับบอลโลกก็มาจากกลุ่มนี้เกือบทั้งนั้น
ถึงยังไม่โผล่เข้าข้างในแต่เสียงจากลำโพงก็ดังจนได้ยินเสียงเพลง การที่มีสนามคริกเกตตั้งก็ด้วยเหตุผลง่ายๆเลยครับเนื่องจากเป็นกีฬาที่นิยมที่สุดของคนอินเดีย, ปากีสถาน, บังคลาเทศจนถึงเนปาล แน่นอนครับว่าในย่าน'Asian Town'ก็เต็มไปด้วยคนเชื้อสายดังกล่าว
ภาพแรกที่ปรากฎก็มีแต่ผู้ชายที่ไม่ใช่คนกาตาร์
ภาพต่อมาก็มีผู้ชายจำนวนหลายคนไปยืนมุงตรงหน้าเวทีกลางแสดงโดยตอนนั้นมีเต้นระบำอะไรสักอย่างจากสาวผมสีบลอนด์
วันที่ผมไปเป็นวันหยุดพักการแข่งขันโดยที่เลือกมาก็เพราะอยากสัมผัสถีงชีวิตของพวกเขาว่าทำอะไรบ้างในแต่ละวัน
"ผมอยากไปดูในสนามนะแต่ก็หาตั๋วไม่ได้หรือว่าถ้ามีราคาก็เกินรับไหว"ชายผิวสีดำเข้มที่ใส่เสื้อยืดสีดำ, กางเกงยีนส์ขาดตรงหัวเข่ากับรองเท้าแตะเล่าออกมา
"งานของผมนะหรือ? เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในห้างข้างหลังสนามนี้เอง"
ตอนนั่งแท็กซี่มาก็เห็นอยู่ว่าในละแวกนั้นมีห้างสรรพสินค้าด้วย ก็เท่ากับว่าทางกาตาร์จัดให้ครบจบเลยซึ่งจะได้ไม่เสียเวลาต้องออกไปหาซื้อของที่ไหน จุดนี้ก็ต้องให้เครดิตถึงด้านการดูแลเอาใจใส่คนต่างชาติที่เข้ามา
นอกจากเวทีการแสดงแล้วข้างล่างก็มีทำเป็นสนามบอล5คนให้ได้มาออกกำลังกายกัน ด้านบนของอัฒจันทร์ก็มีคนทยอยเข้ามาหย่อนก้นในยามเย็นที่ฟ้ามืดสนิทแล้ว หลายคนเพิ่งผ่านพ้นการทำงานหนักไปอีกวัน
ดูเหมือนว่าพวกเขาจะสนใจกับสาวผมบลอนด์ที่ยังคงระบำโชว์โดยไม่ละสายตา ก็เข้าใจได้ว่าที่เจออยู่ในชีวิตประจำวันมีแต่ผู้ชาย ผู้ชายและผู้ชาย
นี่คือบางแง่ง่ามของกาตาร์
นี่คือบางสิ่งที่มีคนจำนวนหนึ่งกำลังเผชิญอยู่ในเส้นทางที่พวกเขาได้เลือกเองและพอเลือกแล้วก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าก้มหน้าก้มตาทำตามคำสั่ง
พื้นที่'Asian Town'มีขนาดกว้างเหมือนสนามบอลสัก10สนามมาเย็บรวมกัน จากสนามคริกเกตก็เลยอ้อมหลังไปต่อตรงจุดที่มีห้างวางอยู่ ทีแรกก็ว่าจะไปหาซื้อน้ำเย็นๆสักขวดกินแต่พอมองเข้าไปเจอความวุ่นวายข้างในแล้วจึงขอยอมแพ้
รอบๆนั้นก็มีแสงไฟของร้านรวงชวนให้คิดว่าน่าจะร้านสะดวกซื้ออยู่บ้าง หากพอขยับเข้าใกล้ไปดูก็เจอแต่พวกร้านแลกเงินที่มีบริการรับส่งเงินไปต่างประเทศซึ่งที่ทำให้ตกใจก็เป็นจำนวนของคนที่เบียดเสียดประหนึ่งปลากระป๋องกันอยู่
"เรื่องปกติเลยเพราะพรุ่งนี้คือวันศุกร์เป็นวันหยุด คนเลยออกมาจับจ่ายซื้อของกัน คนที่มาทำงานที่นี่ก็หาเงินเพื่อส่งกลับบ้านกันทั้งนั้น"
อย่างหนึ่งวันหยุดของกาตาร์เป็นวันศุกร์-เสาร์ ไม่ใช่วันเสาร์-อาทิตย์เหมือนที่อื่น
อย่างต่อมานอกจากผู้หญิงจะมีน้อยแล้ว จะคิวในห้าง คิวในร้านส่งเงินจะยาวแล้ว คิวที่ต่อกดเงินตรงตู้เอทีเอ็มก็ล้นออกมาจนเกือบถึงถนนรถวิ่ง นี่มันสะท้อนถึงชีวิตของคนชนชั้นล่างแท้จริงว่าทำงานแล้วก็นับวันรอวันที่เงินเดือนออก
บังเอิญเหลือเกินผมไปตรงวันพฤหัสฯช่วงสัปดาห์ที่เงินเดือนออก มันจึงได้เข้าถึงวิถีของกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มสำคัญเลยของประเทศที่ได้ชื่อว่าร่ำรวยติดลำดับต้นๆของโลก
"ผมมาจากเนปาลตั้งแต่อายุ18โดยตอนนี้ก็28แล้ว"
"คุณอยู่มา10ปีแล้ว? ไม่คิดถึงบ้านบ้างเลยหรอ?"
"คิดถึงซิแต่ผมก็มีกลับไปเนปาลบ้าง ไปแล้วก็กลับมากาตาร์อีกเมื่อต้องการหาเงิน"
พ่อหนุ่มเนปาลคนนี้ก็เหมือนกับอีกหลายคนที่ต้องนอนในห้องแคบๆที่มีสี่เตียงร่วมกับคนอื่นซึ่งเวลาต่อมาก็กลายเป็นเพื่อนกันโดยปริยาย เขายังเปิดเผยถึงรายได้ให้ผมรู้อีกด้วย
"งานของผมเป็นงานก่อสร้าง ได้เงินเดือน2,200ริยาล"
ผมคำนวนออกมาทันทีว่าตกเดือนละประมาณ22,000บาทไทยจะพอได้อย่างไรกับค่าครองชีพของกาตาร์ ไหนจะค่ากินใช้ ไหนจะค่าที่พัก ไหนจะค่าอื่นๆอีกจิปาถะ
"เงินเดือนนี้หักทุกอย่างหมดแล้วจากบริษัท มันจึงอยู่ได้แถมมีเงินส่งกลับไปบ้านด้วย"แววตาใสๆของเขาทำให้จับได้ว่าคงจะพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่
คนมาทำงานในกาตาร์ก็ไม่ได้ว่านึกจะมาก็มาได้ มันต้องผ่านตัวกลางที่จัดตั้งขึ้นมาในรูปแบบบริษัทโดยพอมาแล้วก็จะมีงานให้ทำ เงินเดือนที่ได้ก็อยู่ที่ว่าบริษัทนั้นๆจะให้ในเรตเท่าไรซึ่งก็มีไม่น้อยเลยที่ต้องขอกู้ยืมเงินมาเพื่อให้ได้วีซ่าเข้ามา
นอกจากนั้นก็ยังมีโรงหนังที่ฉายหนังแขกด้วย(ตั๋วใบละ20ริยาล)ซึ่งก็เท่ากับยืนยันหนักแน่นด้วยว่าคนที่มาอาศัยอยู่นั้นเป็นพวกไหนกัน
"คุณชอบกาตาร์ไหม?"นี่เป็นคำถามสุดท้ายเสมอที่ผมถามออกไปไม่ว่าใครก็ตามที่ไม่ใช่คนกาตารี่โดยชาติกำเนิด
เขาดูเขินๆ
"ผมต้องชอบกาตาร์ซิ ไม่งั้นจะอยู่มานานถึงสิบปีแบบนี้หรอ พวกเขาดีกับผม"
"ไก่ป่า"