ละแวกบ้านที่พวกเราเช่าอยู่ตลอดฟุตบอลโลกมีซูเปอร์มาร์เกต์ในชื่อ'Al Meera'โดยมีหลายสาขาทั่วประเทศ ในช่วงสองวันที่เบรกรอรอบแปดทีมนั้นก็เป็นสองวันที่ผมแปลงร่างเป็นเชฟจำเป็นเข้าครัวทำอาหาร
พวกเรา ณ ที่นี่หมายถึงนอกจากผมแล้วก็ยังมีพี่โจ้-ลิตเติ้ลโจกับน้องหยอง นักข่าวจากเดลี่นิวส์ผู้ที่มาขอพักอาศัยด้วย ทั้งหมดก็สามชีวิต
ซูเปอร์มาร์เกตที่เอ่ยถึงนั้นก็ไม่ได้ต่างจากของบ้านเราครับ มีของทุกอย่างให้เลือกซื้อตั้งแต่พวกของสดไปจนถึงของใช้ทั่วไป ทว่าข้อดีของมันอยู่ที่ปิดราวตีสามของทุกวันได้
ในแง่นี้ก็สะท้อนถึงวิถีความเป็นอยู่ของคนในกาตาร์ได้ชัดเจนว่าเป็นพวกมีชีวิตส่วนใหญ่ตอนกลางคืน เหตุผลหลักก็คงเพราะกลางวันอากาศร้อน นั่นทำให้ต้องเลื่อนบอลโลกมาปลายปีซึ่งเป็นฤดูหนาวของพวกเขา อุณหภูมิช่วงนี้ก็ลดต่ำลงมาครับแต่ก็ไม่เชิงหนาวซะทีเดียว แม้อาจมีบ้างในเกมที่เตะคู่สี่ทุ่ม(เวลาท้องถิ่น)ต้องหยิบเสื้อแจ็คเกตมาสวมทับ
มีร้านอาหารไม่น้อยเลยที่เปิดตลอด24ชั่วโมง
อย่างที่ผมเคยเขียนเล่าไปว่าพวกร้านปะยางในปั๊มน้ำมันก็ยังมีให้บริการแม้จะล่วงถึงตีสองของอีกวันแล้วก็ตาม นี่ไม่ใช่เรื่องปกติที่จะหาได้ในประเทศอื่น
สำหรับเมนูที่ผมทำสองวันที่ผ่านมาก็เป็นเมนูเบสิคที่ถือเป็นอาวุธเด็ดเลยยามมาทำข่าวบอลทัวร์นาเมนต์แบบนี้
วันแรก-เนื้อผัดกระเทียม
วันสอง-กะเพราเนื้อสับ
ความที่เป็นประเทศมุสลิมครับดังนั้นเนื้อวัวจึงเป็นเนื้อสัตว์ที่หาได้ง่ายและนิยมกัน ขณะเดียวกันการจะเอาอะไรก็ตาม(หมู, ไก่หรือกุ้ง)มาผัดกระเทียมหรือผัดกะเพราก็เป็นจานที่ถูกปากคนไทยอย่างเรา เห็นด้วยกันไหมครับ
เนื้อผัดกระเทียมผ่านไปด้วยดี ก็ไม่ยากอะไร
แต่กะเพรานี่ซิปัญหาคือในกาตาร์หาใบกะเพรายากเหลือเกิน โชคดีปัญหานี้ผ่านไปได้เมื่อภรรยาเจ้าของบ้านที่พวกเราเช่านั้นเด็ดจากต้นที่ปลูกไว้เองมาให้ แกเป็นคนไทยครับแต่มาแต่งงานอยู่กับกาตารี่ได้เกือบสิบปีแล้ว
ถามว่ารสชาติที่ผมทำเป็นอย่างไร?
ไม่อยากคุยเลยจริงๆ ก็ทำเอาข้าวที่หุงไว้หมดหม้อได้แล้วกัน...(ฮ่า)
ในโดฮามีร้านจีนแนวบุฟเฟต์ที่รวมชาบูตักไม่อั้นในนั้นด้วย
แน่นอนว่าด้วยข้อจำกัดบางอย่างจึงทำให้ไม่ได้มีเวลาที่จะมาเข้าครัวเองเช่นนี้หรอก การไปฝากท้องร้านอาหารนอกบ้านจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อนี้ถึงอาจต้องจ่ายแพงกว่าทำเองแต่ผมกลับว่ามันก็มีข้อดีที่สำคัญอยู่ นั่นคือเราจะได้เรียนรู้ว่าคนกาตาร์กินอะไรกันหรือว่าร้านที่มาเปิดในโดฮานั้นราคาเป็นไงอันเหมือนได้ศึกษาค่าครองชีพของชาติบนอ่าวเปอร์เซียนี้ได้ด้วย
ผมลองมาหมดแล้วครับ
ตั้งแต่ฟาสต์ฟู๊ดไก่ทอดเจ้าดังของอเมริกาโดยที่นี่ขายเป็นเซตประกอบด้วยไก่ทอด(มีให้เลือก2-4ชิ้นหรือมากกว่านั้น), เฟรนซ์ฟรายส์, โควสลอว์, น้ำอัดลมและขนมปัง(ไก่ทอดในกาตาร์ต้องเสิร์ฟพร้อมขนมปัง)
อย่างชุดไก่ทอด2ชิ้นตกอยู่ที่ 18 ริยาล(ประมาณ 180 บาท)
เรื่องที่อยากบอกก็คือรสชาติของไก่ทอดเจ้าดังในกาตาร์นี้คล้ายกับที่ไทยมาก เอาว่าเคยไปลองมาหลายประเทศแล้วก็หาที่ไหนอร่อยเท่านี้ไม่ได้เลย
ร้านจีนในห้างก็เคยแวะไปชิมมา เจ้านี้ขายเป็นบุฟเฟ่ต์ครับหัวละ 69 ริยาล(ประมาณ 690 บาท)ซึ่งเป็นบุฟเฟต์ที่ดีเยี่ยมตรงมีชาบูสไตล์ไต้หวันรวมด้วย คือพอสั่งมาก็มีหม้อซุปมาวาง จากนั้นก็ไปหยิบเอาพวกเนื้อสัตว์กับผักต่างๆในชั้นเอง ขณะที่พวกอาหารทั่วไปก็มีวางให้ไปตักเองเช่นกัน
ถามว่าคุ้มไหม? บุฟเฟต์นี่ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครกินจุแค่ไหนด้วย อย่างหนึ่งเรื่องรสชาติถือว่าผ่านครับ นั่นทำให้ผมไปมาแล้วไม่ต่ำกว่าสามรอบ!!
แน่นอนว่ามาแดนอาหรับก็ต้องไปตระเวนหาชิมเมนูของอาหรับที่คนท้องถิ่นกินกัน นี่เป็นสิ่งที่ผมทำเสมอยามสะพายเป้ไปทำงานที่ไหนก็ตาม ไปบราซิลก็ต้องไปกินสเต็กแบบบราซิล ไปเยอรมันก็ต้องไส้กรอกแก้มเบียร์ ไปโปแลนด์ก็ควรลองกระดกว็อดก้าเป็นต้น
ร้านที่ผมไปก็ได้รับการแนะนำจากคนกาตาร์ด้วยว่าร้านนี้ของแท้ ไม่ใช่เทียมทำเหมือน ตั้งอยู่ตรงตลาดซุค วาคิฟ(Souq Waqif)ซึ่งก็เป็นจุดเดียวกับที่ผมได้เขียนไปเมื่อวานเรื่องของเหยี่ยวนั่นแหละ
เอาว่าแค่ไปถึงข้างหน้าก็รับรู้ได้เลยว่าของจริงแน่ ก็มีคนต่อแถวรอเข้ายาว สำคัญตรงที่ว่าพวกคนที่ว่าก็เป็นพวกแฟนบอลจากชาติอาหรับด้วยกันเช่นโมร็อกโก
เมนูที่ผมสั่งมาก็ยอมรับว่าจิ้มไปตามรูปกับประสบการณ์ที่เคยลองมาบ้างในอังกฤษประกอบด้วยข้าวหมกแพะกับสตูว์เนื้อตุ๋นซึ่งมาวางพร้อมแป้งนานขนาดเท่าฝากระด้ง
รสชาติกับราคาถือว่าดีเลยครับ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมลูกค้าถึงเยอะ
อย่างไรก็ตามมีอยู่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ได้ทำตามวิถีปฎิบัติการกินของพวกอาหรับ ตรงๆพยายามฝืนใจแล้วแต่ก็ไม่ได้จริงๆ
พวกเขาบอกว่าให้ครบสูตรต้องกินอาหารด้วยมือ...
"ไก่ป่า"