มันแสดงออกมาให้เห็นอีกครั้งว่าทำไมแกเร็ธ เซาธ์เกตที่เป็นโค้ชที่เหมาะกับบอลประเภทน็อกเอาต์เพราะบางทีอาจดูแล้วอึดอัดแต่ได้ผลลัพธที่ต้องการ ขณะเดียวกันคาแรกเตอร์เด่นของอังกฤษในรอบหลายปีมานี้ก็สามารถสรุปได้ใน90นาทีเมื่อคืนวันอาทิตย์
ออกสตาร์ทเกมเป็นเซเนกัลที่เซตเกมต่อบอลได้ดี ทีมแชมเปี้ยนจากทวีปแอฟริกาเกือบได้ประตูขึ้นนำก่อนด้วยถึงสองครั้ง ถ้าไม่ได้จอร์แดน พิคฟอร์ดโชว์ซูเปอร์เซฟไว้ก็ไม่มั่นใจนักว่าโมเมนตัมของเกมจะเหวี่ยงทิศทางไหน สกอร์สุดท้ายจะใช่ออกมา3-0ตามที่ปรากฎ
นี่ใช่ปัญหาไหม? ก็อาจใช่กับความที่ขุนพลสิงโตคำรามแทบจะหาเกมที่เพอร์เฟกต์ตั้งแต่ต้นจนจบไม่ได้เลย พวกเขามักทำให้กองเชียร์ต้องเสียวเสมอซึ่งก็เช่นเดียวกับการจัดตัวของเซาธ์เกตที่ก็อาจจะมีนับครั้งได้ที่ทำให้ทุกคนพึงพอใจว่าเลือกถูกต้อง
หนนี้รอบ16ทีมเรียกบูกาโย่ ซาก้าคืนตัวจริง ดร็อปมาร์คัส แรชฟอร์ดที่กำลังฟอร์มร้อนแรงไปเป็นสำรอง นอกจากนั้นแดนกลางก็ยึดสามตัวที่ว่าไปก็ไม่มีสักคนเลยที่เป็นแนวตัวรุกธรรมชาติอันเป็นสิ่งที่หลายคนเรียกร้องจากทีมชุดนี้
ก็พิสูจน์แล้วพิสูจน์ซ้ำว่าโค้ชวัย52ที่ไม่เคยยึดสี่ห้องหัวใจแฟนบอลได้วางแท็กติกได้ถูกต้อง ก็อาจมีแค่เซาธ์เกตกระมังที่ส่วนใหญ่ทำถูกมากกว่าผิด พาทีมมีผลงานยอดเยี่ยมสุดนับจากชุดแชมป์ครั้งสุดท้ายปี1966แล้วยังโดนเสียงจากภายนอกรุมวิจารณ์
จอร์แดน เฮนเดอร์สัน, เดแคลน ไรซ์กับจู๊ด เบลลิ่งแฮมเป็นสามมิดฟิลด์ที่กลายว่าประสานงานได้ลงตัว อย่างประตู1-0ก็เป็นเด็กจู๊ดที่หลุดไปตบเข้ากลางให้เฮนโด้วิ่งมาซัดตุงตาข่าย
นี่ครับเป็นการอ่านเกมของเซาธ์เกตที่มองว่าบรรดาตัวรุกของทีมต้องเจอนักเตะเซเนกัลตามประกบหายใจรดต้นคอ ดังนั้นการสอดมาจากแดนกลางจึงเปลี่ยนเกมได้ หากสังเกตก็พบว่าจะดาวโรจน์ดอร์ทมุนด์ที่นาทีนี้หัวกะไดไม่แห้งหรือจะกัปตันลิเวอร์พูลก็ตามมักยืนตำแหน่งที่สูงกว่าไรซ์ในบทบาทตัวบ็อกซ์ ทู บ็อกซ์
เบลลิ่งแฮมจะถ่างไปทางซ้ายคอยช่วยฟิล โฟเด้นขึ้นเกม ส่วนเฮนเดอร์สันนั้นจะไปสลับกับซาก้าทางริมเส้นด้านขวา
ย้อนไปเวิล์ด คัพ2018ที่รัสเซีย คราวนั้นอังกฤษผ่านถึงรอบตัดเชือก หมากของเซาธ์เกตที่ใช้เป็นระบบ3-3-2-2โดยมีเดเล่ อัลลี่กับเจสซี่ย์ ลินการ์ดทำหน้าที่ตัวฟรีอยู่หลังกองหน้า เวลาผ่านไประบบการเล่นก็ปรับมาเป็น4-3-3(มีบางเกมอาจใช้หลังสามคน)ซึ่งทีมก็มีพัฒนาการขึ้นมาจนได้เข้าชิงยูโรรวมถึงบอลโลกหนนี้ด้วยที่ยังอยู่ในเส้นทางที่หวังได้
จากนัดเปิดสนามที่ถล่มอิหร่าน6-2มาก็ยังพบถึงความยืดหยุ่นของการวางแผน จากแบ็กขวาคีแรน ทริปเปียร์ก็เป็นไคล วอล์คเกอร์ที่ยึดตัวจริง จากเมสัน เมานท์ที่มักโดนนินทว่า'ลูกรัก'ก็สองเกมหลังมานี้ใช้เฮนโด้ของชาวหงส์
แน่นอนสิ่งที่ทำให้เซาธ์เกตปวดหัวสุดก็ต้องเป็นตัวรุกริมเส้นเนื่องจากมีออพชั่นที่พอฟัดพอเหวี่ยงกัน มีจุดดีจุดด้อยต่างกันไม่ว่าจะโฟเด้น, ซาก้า, แรชฟอร์ด, ราฮีม สเตอร์ลิ่งไปจนถึงแจ็ค กรีลิชก็ตาม
ก็ธรรมดาที่ต้องมีบ้างที่ดูขัดใจเช่นแมตช์เสมออเมริกาจืดชืด0-0
กระนั้นภาพรวมแล้วก็ต้องบอกว่านี่ก็ยังเป็นทีมชาติอังกฤษยุคที่ทำให้กองเชียร์คงฝันได้ต่อไปว่ามันอาจถึงเวลาที่ถ้วยแชมป์ได้กลับบ้านซะที
"It's coming home It's coming home..."กลางของครึ่งหลังกองทัพสิงโตพร้อมใจตะเบ็งลำคอออกมา
12 ประตูจาก 4 เกมโดยที่มีถึง 8 ผู้เล่นที่ช่วยกันทำสกอร์
นี่ไม่ใช่ทีมที่โยนทุกความหวังให้แฮร์รี่ เคนอีกต่อไป
จากตัวเลขนี่ก็ไม่น่าจะใช่ทีมที่เล่นได้น่าเบื่อหรือหวังแค่ผล(ต่อให้รสนิยมของโค้ชจะชอบเน้นความชัวร์ไว้ก่อน)
มีอีกสถิติครับที่สะท้อนทุกริ้วรอยว่าทำไมเซาธ์เกตควรได้เครดิตกว่านี้ เขาไม่ใช่กุนซือแย่ๆอย่างเด็ดขาดโดยตรงกันข้ามสิ้นเชิงด้วย นับจากปี1968เป็นต้นมาหรือถัดจากชุดประวัติศาสตร์สามารถกำชัยในรอบน็อกเอาต์บอลทัวร์นาเมนต์ได้แค่ 6 เกมภายในเวลา48ปี
ภายใต้เซาธ์เกตทำได้เท่ากันเลยจากใน4ปีเท่านั้น...
ด่านต่อไปรอบแปดทีมเจอฝรั่งเศสซึ่งมีโปรแกรมเตะวันเสาร์ที่10นี้ย่อมถือเป็นเกมที่หนักอยู่แล้ว เอาแค่ดีกรีแชมป์เก่าก็พอ ไม่จำเป็นเลยต้องเอ่ยว่าคิลิยาน เอ็มบั๊ปเป้กำลังนำดาวซัลโวอยู่หรือว่าโอลิวิเย่ร์ ชิรูด์อยู่ในช่วงที่มั่นใจ
หากหนึ่งในประโยคคลาสสิคที่ใช้ได้เสมอในฟุตบอล"เจอช้าเจอเร็วก็ต้องเจอถ้าอยากจะเป็นแชมป์"
"ไก่ป่า"