แนะเอกชนลงขัน!"จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์"ค้านใช้งบกสทช.ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก

แนะเอกชนลงขัน!"จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์"ค้านใช้งบกสทช.ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก
"จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์" ผนึกนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน แถลงคัดค้าน กสทช. นำเงินก้อนใหญ่ 1,600 ล้านบาท ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 เหตุผิดวัตถุประสงค์ และงบประมาณค่อนข้างสูงมาก กระทบความมั่นคง และสภาพคล่องของกองทุน แนะใช้แหล่งเงินทุนอื่นร่วมด้วย หรือควรเปิดทางให้กกท.ร่วมมือกับเอกชน เพื่อจะได้จ่ายในราคาที่ถูกลง ด้าน ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท. เผยขอให้ชาวไทยสบายใจยืนยันเงินทุกบาททุกสตางค์จะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ

เมื่อวันที่ 8 พ.ย.65 ที่หอประชุมนิเทศศาสตร์ ชั้น 11 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ นำโดย รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ และ ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสาร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ พร้อมด้วยนักวิชาการและคณาจารย์จากสถาบันต่างๆ อาทิ ม.ธรรมศาสตร์,  ม.บูรพา และม.เชียงใหม่  ตั้งโต๊ะแถลงข่าวคัดค้านการนำเงินของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ของ กสทช. ไปใช้สนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย 

รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ เผยว่า คณาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ รวมทั้งนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนหลายท่าน ได้ร่วมกันคัดค้านกรณีที่ กสทช. จะนำเงิน 1,600 ล้านบาทมาใช้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งกรณีนี้ต้องแยกเป็น 2 เรื่องคือ คนไทยควรได้ชมฟุตบอลโลก เพราะเป็นกีฬารายการสำคัญที่คนไทยติดตามเยอะมาก และมีการถ่ายทอดสดต่อเนื่องยาวนาน แต่ กสทช.ไม่ควรนำเงิน กทปส. มาใช้ซื้อลิขสิทธิ์ เพราะผิดวัตถุประสงค์ และงบประมาณค่อนข้างสูงมาก กระทบความมั่นคง และสภาพคล่องของกองทุนที่จะเหลือเงินในบัญชีที่ 1 ราว 2,000 ล้านบาท และบัญชีที่ 2 อีกกว่า 800 ล้านบาท

"เงิน กทปส. ที่หายไปจะส่งผลกระทบต่อภารกิจ แผนงาน และโครงการของ กสทช. ซึ่งมีนโยบายสำคัญ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงสื่อ โดยเฉพาะผู้ด้วยโอกาส ผู้พิการ และผู้สูงอายุ กสทช.ไม่ควรแทรกแซงเนื้อหารายการ ซึ่งควรจะเน้นรายการเฉพาะกลุ่มที่ไม่อาจหารายได้ได้ มากกว่าจะสนับสนุนเงินจำนวนมากในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่ไปสามารถหารายได้ได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดีเช่นนี้"

รศ.ดร.ปรีดา เผยอีกว่า สำหรับนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนมองทางแก้ไขระยะสั้น ด้วยการเจรจากับองค์กรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้ง กกท. และภาคเอกชน โดยตามระเบียบของ กสทช.ได้มีการเปิดช่องให้มีการพิจารณายกเว้นเป็นกรณีพิเศษได้หากมีความจำเป็น โดยเฉพาะกฏ Must have (มัสต์แฮฟ) ที่ต้องถ่ายทอดสดให้ชมฟรี และ Must carry (มัสต์แคร์รี่) ที่ต้องถ่ายทอดสดทุกแพลตฟอร์ม ซึ่ง 2 กฎดังกล่าวทำให้ภาคเอกชนไม่กล้าเข้าร่วมลงทุนประมูล แต่ควรเปิดทางให้ กกท. คุยกับเอกชนได้ ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลง และง่ายมากขึ้น ส่วนระยะยาวก็ควรที่จะพิจารณาทบทวนใหม่กับกฏมัสต์แฮฟ และมัสต์แคร์รี่ ที่ทำให้เอกชนไม่กล้าลงทุน

ขณะที่ ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ กล่าวเสริมว่า การที่นำเงินของ กทปส. มาสนับสนุนฟุตบอลโลก เรามอง 2 จุดใหญ่ๆ คือ 1.คุ้มค่าหรือไม่ 2.ตรงตามวัตถุประสงค์หรือเปล่า หากเราไปดูวัตถุประสงค์กองทุนจริงๆ คือการสนับสนุนเรื่องการเข้าถึงบริการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง โดยทั่วถึง ในที่นี้หมายถึงโครงสร้างพื้นฐาน เช่นโครงข่าย สัญญาณอินเตอร์เน็ต รวมถึงรายการบางประเภทที่ถ้าไม่สนับสนุนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น รายการเด็ก, ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส

"ดังนั้นฟุตบอลโลกไม่ได้เข้าวัตถุประสงค์ ซึ่งอาจจะต้องลองหาวิธีการแก้ไข เช่น อาจจะมีภาคเอกชนให้ความสนใจ แต่อาจจะติดเรื่องของกฎมัสต์แฮฟ ทำให้ไม่กล้าที่จะเข้ามาลงทุน ตรงนี้ถ้าสามารถปลดล็อกได้ ซึ่งคณะกรรมการมีอำนาจที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงปลดล็อกระยะสั้นเฉพาะกรณี ก็อาจจะทำให้มีเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนในส่วนนี้ด้วยก็เป็นได้"

ผศ.ดร.มรรยาท กล่าวอีกว่า การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ควรจะพิจารณาว่าจะถ่ายครบ 64 แมตช์หรือไม่ เพราะประเทศเพื่อนบ้านเองก็ไม่ได้ถ่ายครบ และถ่ายแมตช์สำคัญ ส่วนแมตช์ที่เหลือก็จ่ายเงินชมแบบเปย์เปอร์วิว ซึ่งจะทำให้ค่าลิขสิทธิ์ถูกลงได้ เพราะ กสทช.ไม่ควรนำเงินทั้งหมดมาใช้จับจ่ายใช้สอยภายใน 1 เดือนแล้วหายไป โดยผิดวัตถุประสงค์ แต่ถ้ามติของบอร์ด กสทช. ยังอนุมัติงบ 1,600 ล้านบาท เราก็คงรู้สึกผิดหวัง และต้องจับตามองติดตามกับการใช้เงินดังกล่าวว่าไปเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใดหรือไม่


"ถ้ามีการอนุมัติจริงๆ กสทช.จะต้องชี้แจงว่าเงินในส่วนที่หายไปมียอดคงเหลือเท่าไร และกระทบต่อแผนงาน โครงการอะไรบ้าง เราคงจะต้องเกาะติดว่าไปเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ รวมถึงช่องถ่ายทอดสดต่างๆ ที่สามารถนำไปสร้างกลไกทางการตลาดได้ ผลประโยชน์จะไปเข้าที่ใคร เพราะเงินไม่สามารถกลับเข้ามายัง กสทช.ได้ อย่างไรก็ตาม หาก กสทช. ยืนยันว่าจะนำเงินในส่วนดังกล่าวไปใช้ ก็ต้องขอชี้แจงว่ามาจากตรงไหน และจะไม่กระทบต่อสิทธิเข้าการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาคประชาชนโดยวงกว้าง"

ผศ.ดร.มรรยาท กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มองว่าการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกสามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3-4 หมื่นล้านบาทนั้น ถามว่าถ้าเป็นเช่นนั้นทำไมเอกชนไม่กล้าลงทุน อีกทั้งจากยูโร 2020 และฟุตบอลโลก 2018 ครั้งก่อน เอกชนก็ไม่ได้เงินกำไรกลับคืนมา ดังนั้นจึงไม่แน่ใจว่าครั้งนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวตามมาหรือไม่ หรืออาจนำไปสู่การล่มสลายทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อประชาชนทั้งประเทศหรือไม่ เพราะเป็นการนำเงินไปใช้แล้วหายไปเพียงเวลาแค่ 1 เดือนเท่านั้น

 ด้าน  ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)  เปิดเผยว่า กกท. มีความตั้งใจที่จะทำให้ประชาชนชาวไทยได้ดูการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 เพราะเป็นมหกรรมกีฬาสำคัญจริงๆ แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องรักษาประโยชน์ของประเทศชาติด้วย ใช้งบประมาณอย่างประหยัดที่สุด และคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรากำลังดู และทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้ได้ราคาที่มีความเหมาะสม หมายความว่าเราก็เปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านให้ใกล้เคียงกันด้วย ไม่ให้ใครมาเอาเปรียบประเทศไทย ฉะนั้นตัวแทนสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า)  และฟีฟ่า เองต้องอธิบายได้ว่า ไม่มีการแบ่งแยก ไม่ใช่ว่าประเทศไทยมาช้าก็เลยได้ราคาสูง อันนี้ยอมไม่ได้ รับไม่ได้ ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการพูดคุยกับฟีฟ่าอยู่ ขอให้พี่น้องประชาชนคนไทยสบายใจได้ว่าเรารักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนชาวไทยและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เราพยายามมากที่สุดเพื่อที่จะได้สิ่งที่ดีที่สุดมา 

"ในขณะเดียวก็ต้องดูแล้วคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ตอนนี้เราก็ประเมินในตัวเลขต่างๆ ถ้าเกิดมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในเมืองไทยจะมีการตื่นตัว ตัวเลขของกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดช่วงฟุตบอลโลก 2022 จะมีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจอยู่ประมาณ 4 หมื่นกว่าล้าน นั่นคือสิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับจากกิจกรรมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก เช่น ร้านอาหารทำกิจกรรมได้ มหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถที่จะเผยแพร่ให้เด็กได้ดู ซึ่งตรงนี้ก่อให้เกิดรายได้ต่างๆ อย่างไรก็ตามเราจะลงทุนอะไรก็ตามก็ต้องไตร่ตรองให้ดี เพราะปัจจุบันประเทศไทยก็ไม่ได้มีเงินมหาศาลอะไร ประกอบกับภาคเอกชนเองยังมีกำลังไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ กกท. พยายามทำก็คือ เข้ามาเพื่อให้เราได้ราคาที่คุ้มค่าที่สุด และหากับภาคเอกชนเข้ามาช่วยเพื่อลดภาระภาครัฐ" 

ดร.ก้องศักด กล่าวว่า ผลการตัดสินใจของบอร์ด กสทช. จะออกมาอย่างไรนั้น อยู่ที่ดุลพินิจของ กสทช. ตอนนี้ กสทช. ยังไม่ชัดเจนเรื่องของเอกสารที่เราส่งไป ทางตนยินดี และพร้อมที่จะไปร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมบอร์ด กสทช. ในส่วนของช่องสถานีที่จะใช้ในการออกอากาศเราจะใช้ของ กสทช. เลย เราจะให้เกิดความเท่าเทียมทุกช่องเหมือนตอนโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แต่ละช่องจะได้คอนเทนต์ไปร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินการ ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการบางส่วนออกมาคัดค้านนั้น ดร.ก้องศักด กล่าวว่า เรายินดีที่จะมาพูดคุยกัน มาชี้แจงกัน  ยินดีรับฟังความคิดเห็น และนำความคิดเห็นมาปรับปรุงเพื่อนำไปสู่การใช้เม็ดเงินของประเทศชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport