สมาคมฟุตบอลยูเครน วิงวอนให้ ฟีฟ่า ตัดสิทธิ์ อิหร่าน จากการร่วมโม่แข้งศึก ฟุตบอลโลก 2022 แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นเรียกร้องให้พวกเขาได้สิทธิ์ดังกล่าวแทน
สมาคมฟุตบอลยูเครน (ยูเอเอฟ) แถลงการณ์เรียกร้องให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ตัดสิทธิ์ อิหร่าน จากการลงเล่นศึก ฟุตบอลโลก 2022
ตลอดช่วงที่ผ่านมารัฐบาลอิหร่านเจอข่าวเชิงลบด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงอย่างรุนแรง จากการที่ มาห์ซา อามินี หญิงวัย 22 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจด้านศีลธรรมทำร้ายร่างกายจากการที่เธอไม่ได้แต่งตัวตามกฎที่ภาครัฐระบุเอาไว้จนทำให้เธอเสียชีวิตในเวลาต่อมา
การตายของ อามินี ทำให้เกิดการประท้วงอย่างหนักใน อิหร่าน ซึ่งในเวลาต่อมาคนในวงการฟุตบอลกับแวดวงกีฬาของ อิหร่าน ก็ออกมาโวยว่าสมาคมฟุตบอลอิหร่านเหมือนจะยอมให้ภาครัฐเข้ามาแทรกแซงจนปฏิบัติกับเพศหญิงได้แย่เหมือนกัน จากการที่ไม่ยอมให้พวกเธอได้เข้าไปชมเกมฟุตบอลของผู้ชายในสนาม พร้อมกับเรียกร้องให้ ฟีฟ่า ตัดสิทธิ์ชาติของตัวเองจากการลงเล่น ฟุตบอลโลก 2022 เพราะมันขัดกับกฎหลายอย่างที่ ฟีฟ่า ระบุไว้ อย่างเช่นกฎด้านความเท่าเทียม และการที่ห้ามรัฐบาลเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสมาคมฟุตบอลของแต่ละชาติ
นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวหาด้วยว่า อิหร่าน แอบให้ความช่วยเหลือ รัสเซีย ในการรุกราน ยูเครน เพราะมีการพบว่ากองทัพรัสเซียใช้โดรนของ อิหร่าน ในการสู้รบ ซึ่งจากปัจจัยทั้งหมดนี้ก็ทำให้ ยูเอเอฟ ขอร้องให้ ฟีฟ่า ตัดสิทธิ์ อิหร่าน เพื่อเป็นการลงโทษ
"เมื่อพิจารณาถึงข้อมูลจากสื่อเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเด่นชัดใน อิหร่าน ซึ่งอาจขัดกับระเบียบการและมาตรฐานสำหรับการขอใบอนุญาต (การเป็นสมาชิก) ของ ฟีฟ่า, เมื่อพิจารณาถึงการลงมติ 22.31 ของสหประชาชาติเกี่ยวกับการคว่ำบาตร อิหร่าน และเมื่อพิจารณาถึงข้อกล่าวหาที่ว่า อิหร่าน มีส่วนร่วมกับการที่กองทัพของสหพันธ์รัสเซียทำการรุกราน ยูเครน แล้วนั้น เราก็ยื่นข้อเสนอให้ ฟีฟ่า เพื่อขอร้องให้พวกเขาทำการพิจารณาเกี่ยวกับการตัดสิทธิ์ทีมชาติ อิหร่าน จากศึก ฟุตบอลโลก 2022" แถลงการณ์ของ ยูเอเอฟ ระบุ
ที่จริงก่อนหน้านี้ เซอร์เก พัลกิ้น ประธานบริหารของ ชัคตาร์ โดเน็ตส์ค สโมสรดังของประเทศยูเครนก็เรียกร้องให้ ฟีฟ่า ตัดสิทธิ์ อิหร่าน เหมือนกัน แต่กรณีของ พัลกิ้น ต้องการให้ ฟีฟ่า ยกสิทธิ์ดังกล่าวมาให้ ยูเครน แทนด้วย ขณะที่ ยูเอเอฟ ไม่ได้มีการระบุถึงเรื่องนั้นแต่อย่างใด