ตลอดปี 2022 ยกน้ำหนักไทย ภายใต้การบริหารงานของสมาคมกีฬายกน้ำหนักไทย ถือเป็นอีกหนึ่งสมาคมกีฬาที่สร้างผลงานได้ยอดยอดเยี่ยมทีเดียวในเวทีระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาชุดเล็กเยาวชน หรือชุดใหญ่ประชาชน เมื่อลงสนามแข่งขันในเวทีใด มักมีเหรียญรางวัล โดยเฉพาะเหรียญทองติดมือกลับมาเสมอ
ตลอดปี 2022 เกิดอะไรขึ้นบ้างกับวงการยกน้ำหนักไทย และมีเรื่องเด่นเรื่องใดที่น่าสนใจและเป็นกระแสให้ต้องพูดถึงบ้าง นี่คือบทสรุปทั้งหมด
1. สหพันธ์โลกคืนสิทธิให้ไทยทุกกรณี
หลังวงการยกน้ำหนักไทยดำดิ่ง ถูกคณะกรรมการอิสระ ของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ ออกบทลงโทษ ทั้งบุคลากร และ นักกีฬาของไทย เมื่อ 21 เม.ย. 2020 โดยในส่วนของบุคลากร ถูกห้ามยุ่งเกี่ยวกับสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ 3 ปี และห้ามนักกีฬา อายุต่ำกว่า 18 ปี รวมถึงรุ่นทั่วไป ลงแข่งขันในรายการระดับนานาชาติ เป็นเวลา 5 เดือน และ 11 เดือน ตามลำดับ โดยถูกแบน เนื่องพบว่ามีการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา
ภายหลังพิสูจน์ชัดทราบว่า จอมพลังไทยไม่ได้มีเจตนาแต่อย่างใดในการใช้สารต้องห้ามดังกล่าว โดยผลมาจากการใช้เจลทารักษาอาการบาดเจ็บให้นักกีฬาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ว่าตัวยาที่ใช้นั้น ถูกขึ้นทะเบียนเป็นสารต้องห้ามทางการกีฬา จนเกิดเป็นปัญหา ภายหลังสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ ได้อุธรณ์ไปยังศาลกีฬาโลก ซึ่งต่อมาได้คืนความเป็นธรรมให้กับสมาคม โดยส่วนแรกให้นักกีฬายกน้ำหนักระดับยุวชน สามารถกลับเข้าไปแข่งขันในรายการระดับนานาชาติของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติได้ ก่อนที่นักกีฬาระดับเยาวชน และประชาชน จะสามารถกลับมาร่วมการแข่งขันได้อีกครั้ง เมื่อ 18 มิ.ย. 2021
ทั้งนี้เมื่อ 7 มี.ค.2022 สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ ได้รับการยืนยันจากทางสหพันธ์ ในการคืนสิทธิต่างๆ กลับมาเหมือนเดิมครบทุกสิทธิก่อนเวลาที่กำหนดไว้ในตอนแรก หลังปฎิบัติตามข้อแนะนำของคณะกรรมการอิสระของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ เป็นอย่างดีมาตลอด ซึ่งสิทธิที่ได้รับกลับคืนมาก่อนกำหนด ( 1 เม.ย.2023) คือ การได้กลับมาเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์เหมือนเดิมทุกอย่าง
โดยนอกจากไทยจะส่งนักกีฬาแข่งขันได้ดังเดิมในทุกๆรุ่นๆแล้ว ยังสามารถโหวตออกเสียงในการประชุมใหญ่ และการเลือกตั้งของสหพันธ์ฯได้ รวมไปถึงการได้รับเงินสนับสนุนการจัดอบรม อุปกรณ์ฝึกซ้อม แข่งขัน การส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งของสหพันธ์ฯ รวมไปถึงการจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ
2. คู่แข่งถูกโด๊ปย้อนหลัง "จตุภูมิ" ส้มหล่มซิวทองแดงอลป.
ถือเป็นข่าวดีของวงการกีฬาไทย และวงการยกน้ำหนักไทยก็ว่าได้ เมื่อ "เจ้าก็อต" จตุภูมิ ชินวงค์ อดีตจอมพลังหนุ่ม ซึ่งประกาศหันหลังเลิกเล่นกีฬายกน้ำหนักไปแล้ว ได้ส้มหล่น คว้าเหรียญทองแดง ยกน้ำหนัก โอลิมปิกเกมส์ 2016 ในรุ่น 77 กก.ชาย หลังเจ้าของเหรียญทองในรุ่นนี้ นิยาต ราฮิมอฟ จอมพลังจากคาซัคสถาน ถูกตรวจพบในภายหลังว่าใช้สารต้องห้าม
ผลการตัดสินดังกล่าวส่งผลให้ หลู่ เสียวจุ่น หนุ่มจีนถูกเลื่อนจากเหรียญเงิน ขึ้นมาคว้าเหรียญทอง ส่วน โมฮัมเหม็ด อิฮาบ จากอียิปต์ จากที่ได้เหรียญทองแดงได้เหรียญเงิน และ "จตุภูมิ" ซึ่งได้อันดับที่ 4 ในการแข่งขัน "ริโอเกมส์" ขยับขึ้นมาคว้าเหรียญทองแดง ซึ่งเหรียญทองแดงดังกล่าว ก็นับเป็นเหรียญรางวัลที่ 15 และเหรียญทองแดงเหรียญที่ 8 ของทีมยกน้ำหนักไทยในกีฬาโอลิมปิกเกมส์
ทั้งนี้หลังเลิกเล่น "เจ้าก็อต" ได้ออกไปทำธุรกิจส่วนตัวเปิดบริษัทงานออแกไนซ์ร่วมกับคู่ชีวิต ก่อนที่สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯจะทาบทามเจ้าตัวให้เข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้ฝึกสอนของทีมยกน้ำหนักทีมชาติไทย เมื่อเดือนมิ.ย.2022
3. ทวงเบอร์ 1 อาเซียน ผงาดเจ้าทองซีเกมส์รอบ 9 ปี
หากพูดถึงวงการยกน้ำหนักในอาเซียน ต้องยอมรับว่านี่คืออีกหนึ่งภูมิภาคที่สร้างและปั้นจอมพลังเก่งๆให้ก้าวขึ้นสู่เวทีระดับโลกอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งชาติอย่าง ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย รวมไปถึงเวียดนาม ต่างมีนักยกน้ำหนักดีกรีแชมป์โลก และเหรียญรางวัลโอลิมปิกเกมส์ทั้งสิ้น
การกลับสู่เวทีแข่งขันของทัพนักกีฬายกน้ำหนักไทยในศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 31 เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับฝากผลงานด้วยการคว้ารวมทั้งสิ้น 6 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง ครองความเป็นเจ้าเหรียญทองในกีฬายกน้ำหนักได้สำเร็จ จึงมิอาจปฎิเสธได้ว่า นี่คืออีกหนึ่งความสำเร็จชิ้นโบว์แดงในรอบปี 2022 และเป็นการทวงบัลลังก์เจ้าอาเซียนได้สำเร็จเป็นหนแรกในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 27 เมื่อปี 2013 ที่เมียนมาด้วย
4. ผลงานชิงแชมป์โลกแจ่มทั้งชุดเล็กชุดใหญ่
หนึ่งตัวชี้วัดที่ดีที่สุดในการประเมินผลงานของทีมยกน้ำหนักไทยในรอบปี 2022 คือ การแข่งขันเวทีใหญ่ อย่าง รายการชิงแชมป์โลก ซึ่งปี 2022 สมาคมส่งนักกีฬาเข้าร่วมทั้งระดับประชาชนและเยาวชน ซึ่งผลปรากฎว่าทำได้อย่างยอดเยี่ยมทั้ง 2 เวที
ในการแข่งขันชิงแชมป์โลก 2022 รุ่นประชาชน เมื่อต้นเดือนธ.ค.ที่โคลอมเบีย 14 จอมพลังหนุ่ม-สาวไทย ประกาศศักดิ์ดา ช่วยกันคว้ามา 5 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน 7 เหรียญทองแดง จบด้วยการเป็นอันดับที่ 2 ในตารางเหรียญรางวัลรวม ซึ่งก็เป็นรองเพียงแค่จีน มหาอำนาจของกีฬายกน้ำหนัก ที่โกยเหรียญทองห่างจากชาติอื่นๆในทัวร์นาเมนต์นี้ โดยจีน คว้าไป 19 เหรียญทอง 8 เหรียญเงิน 7 เหรียญทองแดง โดยเจ้าภาพ โคลอมเบีย ได้อันดับ 3 คว้าไป 3 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 16 เหรียญทองแดง
ผลงานดังกล่าวนับว่าส่งผลดีกับทีมจอมพลังไทยด้วย เพราะการแข่งขันชิงแชมป์โลก 2022 ถือเป็นหนึ่งรายการสำคัญที่ใช้ในการเก็บคะแนนสะสมโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในรอบสุดท้ายจะมีชิงชัยทั้งหมด 10 รุ่น แบ่งเป็นหญิง 5 รุ่น และ ชาย 5 รุ่น และแต่ละประเทศจะได้โควตาไม่เกินชาติละ 6 คน แบ่งเป็นหญิง 3 คน และชาย 3 คน
ด้านผลงานของจอมพลังชุดเล็ก ถือว่าทำได้ยอดเยี่ยมที่เดียวในศึกชิงแชมป์โลก 2022 ที่กรีซ เมื่อเดือนพ.ค. โดยรายการนี้สมาคมส่ง 7 นักกีฬาร่วมแข่งขัน ก่อนคว้ารวมกลับมาได้ 2 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน 1 เหรียญทอง ซึ่งทัวร์นาเมนต์นี้ "เวฟ" วีรพล วิชุมา กวาดคนเดียว 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน ในรุ่น 67 กก.ชาย ก่อนที่ในศึกชิงแชมป์โลก 2022 เจ้าตัวจะแจ้งเกิดด้วยการคว้าคนเดียว 3 เหรียญทองแดงอีกด้วย
** สรุปผลงานยกน้ำหนักไทย รอบปี 2022 **