ทัพนักกีฬาเบ่งกล้ามไทย โกยแชมป์โลกได้แล้วถึง 9 ประเภท จากที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ 13 เหรียญทอง โดยวันอาทิตย์ ที่ 11 ธ.ค.นี้ จะชิงชัยเป็นวันสุดท้าย
เข้าสู่วันที่ 2 แล้ว สำหรับศึกเพาะกายและฟิตเนสชิงแชมป์โลก 2022 ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 9-11 ธ.ค.65 ที่เซ็นทรัล ภูเก็ต จ.ภูเก็ต โดยงานนี้มีนักกีฬาเบ่งกล้ามทั่วโลกกว่า 44 ชาติร่วมประชัน
เมื่อช่วงค่ำวันที่ 10 ธ.ค.65 เป็นอีกหนึ่งวันที่ทัพนักกีฬาไทยยังไม่แผ่ว เพราะสามารถเก็บเหรียญทองเพิ่มได้ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง หลังวันแรก (9 ธ.ค.65) โกยไปทั้งสิ้น 5 ทอง โดยการแข่งวันที่สองได้รับเกียรติ จาก ดาโต๊ะพอล ชัวร์ ประธานสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก (WBPF) พร้อมด้วย ศุกรีย์ สุภาวรีกุล นายกสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย ในฐานะเลขาธิการร่วมของสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก และ ดร.ภูมิวรินทร์ ชุณหะวงษ์วริศ ประธานสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมชมการแข่งขัน
ในวันที่ 2 ชิงชัย 16 ทอง นักกีฬาไทยลงแข่งขันทั้งสิ้น 27 คน คว้าเพิ่มมาได้อีก 4 ทอง โดยประเภทซีเนียร์ โมเดลฟิสิคหญิง รุ่นความสูงไม่เกิน 165 ซม. นั้น "เนม" ตรีรักษ์ สระป้อมแก้ว คว้าแชมป์โลกได้สำเร็จครั้งแรก ส่วนที่ 2 เป็นของ ซาเนตต์ พาร์แซค (ฮังการี) และที่ 3 ชอยซูเรน อามาร์ไตแวน (มองโกเลีย)
"เนม" ตรีรักษ์ สระป้อมแก้ว เผยว่า ดีใจมากๆที่สามารคถคว้าแชมป์โลกเป็นครั้งแรกมาครองได้สำเร็จ ในปีหน้าจะพยายามรักษาแชมป์โลกไว้ให้ได้ ส่วนแชมป์เอเชีย เป็นอีกหนึ่งแชมป์ที่ไม่เคยทำได้ อย่างดีที่สุด ก็คือรองแชมป์เอเชีย ปี 2019 แต่ปีหน้ายังไม่แน่ใจว่าจะไปแข่งชิงแชมป์เอเชียหรือไม่ โดยปีนี้ที่มัลดิฟส์ มีชื่อไปแข่งขัน แต่ถอนตัว เนื่องจากคุณแม่เสียชีวิต ส่วน ประเภทสปอร์ตฟิสิคชาย รุ่นความสูงไม่เกิน 180 ซม. "ตูน วีแกน" ประกาศิต เครือบุตร ได้แชมป์โลกครั้งแรกเช่นกัน ส่วน บุลากร ดีกระโทก ตกรอบคัดเลือก
ประเภทซีเนียร์ สปอร์ตฟิสิคหญิง รุ่นความสูงเกิน 165 ซม.อรอนงค์ อินทร์แก้ว คว้าแชมป์ครั้งแรกเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้เคยได้ 2 เหรียญทองชิงแชมป์เอเชีย ปี 2018 ส่วนพันจ่าอากาศตรีหญิงอาจารี แท่นทรัพย์ ได้ที่ 3 ด้านที่ 2 ฮา ทานห์ หง็อก (เวียดนาม)
ประเภทแอธเลติกฟิสิคชาย รุ่นความสูงไม่เกิน 175 ซม. “บ่าวไข่เจียว” เอกพล สุขทอง ดีกรีเหรียญทองซีเกมส์ ที่เวียดนาม ได้แชมป์โลกสมัย 2 ส่วนที่ 2 คิม โฮ จาง (เกาหลีใต้) ที่ 3 ฮุสเซน ฮิมยาน (มัลดิฟท์) ส่วน ธนกฤต บุญศรี ตกรอบคัดเลือก
ขณะที่มิกซ์แพร์ เรือโทดำรงค์ศักดิ์ สร้อยศรี กับ พันจ่าอากาศตรีหญิงอาจารี แท่นทรัพย์ ได้เงิน ส่วนวันชัย กาญจนพิมาย กับ ศิริพร ศรช่วย ตกรอบคัดเลือก ขณะที่ หม่า ซินยี่ กับ ชอย ไค หยุน (ฮ่องกง) ได้แชมป์ ด้านที่ 3 บูดา อานัก อันชา และฟิลโลมีนา เด็กซ์ซิน อานัก สตาร์ (มาเลเซีย)
ขณะที่ ประเภทซีเนียร์ โมเดลฟิสิคหญิง รุ่นความสูงไม่เกิน 155 ซม. “จูน” กีรติญา จันทรัตน์ แชมป์เอเชีย ปี 2019 พลาดยืน 1 บนโพเดี้ยม หลังจบที่ 2 โดยแชมป์เป็นของ นาซานบายาร์ ดัชโบลเซ็ตเซ็ก (มองโกเลีย) และที่ 3 เบอร์นาเด็ต บริจิตรา สเตฟาน (ฮังการี)
ประเภทซีเนียร์ เพาะกายชาย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 85 กก. "อาร์ม" อภิชัย วันดี แชมป์โลก 3 สมัย และเจ้าของเหรียญทองซีเกมส์ ที่เวียดนาม ได้อันดับที่ 2 โดย ราวินเดอร์ คูมาร์ มาลิค (อินเดีย) คว้าแชมป์ไปครอง ส่วนที่ 3 บาครีฟ ฟาร์คฮอด (อุซเบกิสถาน)
ประเภทสปอร์ตฟิสิคชาย รุ่นความสูงไม่เกิน 175 ซม. ธนพิพัฒน์ จันทนเสวี คว้าที่ 2 ส่วน เทพพร พวงทับทิม ได้ที่ 4 ด้านแชมป์โลกตกเป็นของ เทลเก ฮัสแฮน ดิตรุกชา เปริส (ศรีลังกา) และที่ 3 จาง แทค ซู (เกาหลีใต้) ส่วน สหรัฐ เคลือบมาศ ตกรอบคัดเลือก
ประเภทสปอร์ตฟิสิคชาย รุ่นความสูงไม่เกิน 170 ซม. สุรพันธ์ ไหมสีทอง คว้าที่ 2 ส่วน กิตติ ผลาผล และณัฐนันท์ พรหมภูวงศ์ ตกรอบคัดเลือก ส่วนประเภทซีเนียร์ โมเดลฟิสิคหญิง รุ่นความสูงไม่เกิน 160 ซม. ศิริพร ศรช่วย ได้ที่ 5 และประเภทซีเนียร์ เพาะกายชาย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 80 กก. ผไทวัฒน์ เอลกวัฒน์ ได้ที่ 4 ด้านประเภทซีเนียร์ เพาะกายชาย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 75 กก.พรเทพ สุขเกษม และ อุษมาร์ ลอตันหยง ตกรอบคัดเลือก ขณะที่ประเภทสปอร์ตฟิสิคขาย รุ่นความสูงเกิน 180 ซม. ชวินธร เทพวงษ์ ตกรอบคัดเลือก