เปิดฉากขึ้นแล้วสำหรับการแข่งขันศึกเพาะกายและฟิตเนสชิงแชมป์โลก 2022 หนนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 13 ที่โรงแรมดาราโฮเต็ล จ.ภูเก็ต ระหว่าง 9-11 ธ.ค.65 และนับเป็นครั้งที่ 5 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งหนนี้มี 44 ชาติตอบรับเข้าร่วมประชันความเป็นสุดยอด ซึ่งไทย ในฐานะเจ้าภาพส่งนักกีฬาทำศึกหนนี้ 46 ชีวิต พร้อมตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่ 13 ทอง
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.65 มีพิธีเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ โดยมี พลตำรวจเอก เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รองประธานคณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา คนที่ 3 และประธานคณะอนุกรรมาธิการกีฬาอาชีพและอุตสาหกรรมกีฬา เป็นประธานเปิดการแข่งขัน โดยมี ดาโต๊ะพอล ชัวร์ ประธานสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก (WBPF), นายศุกรีย์ สุภาวรีกุล นายกสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย ในฐานะเลขาธิการร่วมของสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก, ดร.ภูมิวรินทร์ ชุหะวงษ์วริศ ประธานสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมชมและมอบรางวัลให้กับนักกีฬา
สำหรับ การแข่งขันวันแรก มีการชิงชัยทั้งหมด 15 รุ่น โดยนักกีฬาไทยขึ้นเวทีวันแรก ลงแข่งขันทั้งหมด 18 คน และคว้ามาได้ถึง 5 ทอง โดยทำได้จากประเภทซีเนียร์ เพาะกายชาย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 60 กก. จีรพันธ์ โป่งคำ เจ้าของเหรียญทองซีเกมส์ หน 31 ที่เวียดนาม รวมถึงเคยเป็นแชมป์โลก และแชมป์เอเชีย ประเดิมคว้าเหรียญทองเหรียญแรกให้ทัพนักกีฬาไทยได้สำเร็จ นับเป็นแชมป์โลก สมัยที่ 5 ของเจ้าตัวด้วย ส่วนที่ 2 ดิปู ดูทตา (อินเดีย), ที่ 3 คอร์เนลิส (อินโดนีเซีย)
"ยนต์" จีรพันธ์ โป่งคำ เปิดเผยว่า ดีใจมากๆที่สามารถคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 5 ได้ หลังจากได้แชมป์โลก เมื่อปี 2559 ก็หยุดพักเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่ได้ลงแข่งมา 3 ปี ปีนี้ ก่อนกลับมาแข่งขันประเดิมด้วยเหรียญทองซีเกมส์ที่เวียดนาม ต่อด้วยแชมป์เอเชียที่มัลดีฟส์ และรายการนี้ แชมป์โลกที่ไทย ส่วนในปีหน้า ก็ตั้งเป้าหมายว่าจะเริ่มออกป้องกันแชมป์ซีเกมส์ 2023 ที่กัมพูชาให้ได้เป็นลำดับแรก
ด้านประเภทซีเนียร์ฟิตเนสหญิง รุ่นความสูงไม่เกิน 165 ซม. ศิริพร ศรช่วย ทำให้เพาะกายไทยได้เฮ หลังหยิบแชมป์โลกอีกสมัย เป็นสมัยที่ 2 ให้ตัวเองได้สำเร็จ ส่วนที่ 2 ได้แก่ เบอร์นาเด็ต บริจิตรา สเตฟาน (ฮังการี) และที่ 3 บาทาร์ไซข่าน คูลาน (มองโกเลีย)
นอกจากนี้ยัได้จากประเภทมาสเตอร์ เพาะกายชาย รุ่นอายุเกิน 60 ปี สาคร มาตรวังแสง ได้แชมป์อีกสมัย เป็นสมัยที่ 5 ส่วน ที่ 2 สุวิจักขณ์ พินทุสรชัย อดีตแชมป์โลกปี 2019, ที่ 3 ตารุน คูมาร์ ชาเตอร์จี (อินเดีย)
ประเภทฟิตเนสชาย รุ่นความสูงไม่เกิน 170 ซม. พรชัย ธรรมสังวาลย์ คว้าแชมป์โลกครั้งแรก ส่วนวันชัย กาญจนพิมาย อดีตแชมป์โลก 9 สมัย ได้ที่ 2 และที่ 3 ฮามิดุลลาห์ ครุสดิล (อาฟกานิสถาน)
ประเภทฟิตเนสชาย รุ่นความสูงเกิน 170 ซม. พัชรพงษ์ พจนะโกสีย์ คว้าแชมป์โลก สมัยที่ 2 ส่วนเรือโทดำรงค์ศักดิ์ สร้อยศรี อดีตแชมป์โลก 5 สมัย ได้ที่ 2 และที่ 3 อามิร์ฮุสเซน ยูเซฟี (อิหร่าน) ส่วน ณัฐวัตร โพธิ์ฉัตร ไม่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ เรื่องจากมีการกำหนดให้แต่ละชาติ เข้ารอบได้ชาติละ 2 คน
ส่วนผลประเภทอื่นของที่นักกีฬไทยลงสนาม มีดังนี้ จูเนียร์ ฟิตเนสหญิง รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี สิรินดา พันสถา ได้เหรียญเงิน ส่วนเหรียญทองเป็นของ เบอร์นาเด็ต บริจิตรา สเตฟาน (ฮังการี) และเหรียญทองแดง ฟาน ทราน เทียน ตรัง (เวียดนาม) นอกจากนี้ ยังได้เหรียญทองแดง ประเภทซีเนียร์ฟิตเนสหญิง รุ่นความสูงเกิน 165 ซม.
ขณะที่ นักกีฬาไทยอีกคน พันจ่าอากาศตรีหญิง อาจารี แท่นทรัพย์ ได้ที่ 4 ในประเภทซีเนียร์ฟิตเนสหญิง รุ่นความสูงเกิน 165 ซม. โดยมี ตา ทิ หงอก บิช (เวียดนาม) ได้ที่ 1, ที่ 2 อูราซบาเยวา อเล็กซานดร้า (คาซัคสถาน)
ประเภทจูเนียร์ เพาะกายชาย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 75 กก. อุษมาร์ ลอตันหยง ได้ที่ 2 โดย ชินกีอินแกมบา อโศกปาม (อินเดีย) ได้เหรียญทองไปครอง ส่วนที่ 3 คูมานเทม ซูชิล คูมาร์ ซิงห์ (อินเดีย), ประเภทซีเนียร์ เพาะกายชาย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 55 กก.เกษม รัตนพร ได้ที่ 4 ส่วนที่ 1 เจเจ ชากราบอร์ตี้ (อินเดีย), ที่ 2 โมฮาหมัด มูซา (มัลดิฟท์), ที่ 3 ฟาม ดิน ดวง (เวียดนาม), ประเภทซีเนียร์ เพาะกายชาย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 65 กก. สุรศักดิ์ ปานเรือง ได้ที่ 4 ที่ 1 แอบบาส มากิ อาลี (บาห์เรน)