กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมลงนาม MOU และประกาศเจตนารมณ์ฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายและสมาคมกีฬานําร่อง 20 สมาคม รวมกว่า 40 หน่วยงาน เป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในวงการกีฬา โดยเฉพาะการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศที่มีต่อนักกีฬาสตรี เด็ก เยาวชน คนพิการ
เมื่อช่วงเช้าวันพุธที่ 19 ก.ย.67 ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั ่นคงของ มนุษย์ ผู้แทนกระทรวงในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และประกาศเจตนารมณ์ในการป้องกันและแก้ไข ปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการกีฬา ร่วมกับภาคีเครือข่ายและสมาคมกีฬานําร่อง 20 สมาคม และภายใน งานยังมีกิจกรรมการเสวนาในหัวข้อ “Breaking the Silence : ยุติการล่วงละเมิดทางเพศในการกีฬา ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศที่มีต่อนักกีฬาสตรี เด็ก เยาวชน คนพิการ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ห้อง Richmond Grand Ballroom 1 ช้น 6 โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากลตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเข้าเป็นภาคี ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women: CEDAW) รวมถึงกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 หรือ SDG5 การบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง โดยมีข้อท้าทายที่สำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนเจตคติของผู้คนอันเป็นผลจากบรรทัดฐานด้านเพศภาวะของสังคมที่มีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงต่อสตรี ที่รากเหง้าของปัญหาเกิดจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เหยื่อผู้ถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิงและเด็กหญิง การปรับเปลี่ยนเจตคติของสังคมจึงเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. มีนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร ที่ให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวไทยสู่ความมั่นคงของมนุษย์อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและยุติความรุนแรงในทุกรูปแบบ ผ่านการผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองคนทุกเพศ ทุกวัย ควบคู่ไปกับสร้างการรับรู้และการเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียม ตลอดจนเสริมพลังให้ผู้เสียหายจากความรุนแรง โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างสังคมที่เคารพในสิทธิและความแตกต่างหลากหลาย ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อสร้างความเสมอภาคอย่างแท้จริง
"วันนี้กระทรวงพม. ขอขอบคุณหลายๆหน่วยงาน โดยเฉพาะ การกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมกีฬาจำนวน 20 สมาคม รวมไปถึงภาคเครือข่าย มูลนิธิต่าง เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการกีฬาไทย รวมถึงสิทธิความเท่าเทียม สิทธิสตรีในวงการกีฬาในแบบ Safe Sport จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนในการแข่งขันกีฬา นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแกร่งแล้ว ยังจะทำให้จิตใจเข็มแข็งไปด้วย การที่เกิดเหตุต่างๆในการแข่งขัน อาทิ การล่วงละเมิดทางเพศ ทางร่างกาย จิตใจ แม้กระทั่งการบูลลี่กันนั้น ล้วนเป็นการบั่นทอนจิตใจของนักกีฬาในการแข่งขัน"
"การมีปฏิสัมพันธ์ ในการฝึกซ้อมระหว่างผู้ฝึกสอน กับ นักกีฬา หรือความสัมพันธ์ของนักกีฬาด้วยกันเองนั้น ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญให้กำลังให้นักกีฬประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาแต่ละชนิดไม่ว่าในระดับโอลิมปิก และ พาราลิมปิกเกมส์ ที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่านักกีฬาไทยทำผลงานได้ดีกว่าทุกๆครั้งที่ผ่านมา ผมเชื่อมั่นว่าในการลงนามครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งให้นักกีฬาไทยมีความมั่นใจ ที่จะได้รับความคุ้มครองทั้งในและนอกสนาม การมีชีวิตอยู่ประจำวันที่ดี ความเสมอภาคทางเพศการลดความรุนแรงในเด็ก และสตรี ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงพม. ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และจะเป็นมิติใหม่ในวงการกีฬาเช่นกัน"
ด้าน นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. กล่าวว่า ปัญหาการถูกล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ เป็นปัญหาความรุนแรงรูปแบบหนึ่งที่คุกคามความปลอดภัยต่อสังคมไทย สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งในครอบครัว ในที่ทำงาน ในที่สาธารณะ แม้แต่ในวงการกีฬาก็ประสบกับปัญหานี้ แต่เป็นภัยเงียบที่ผู้ถูกกระทำไม่ค่อยออกมาแสดงตัวหรือปรากฎเป็นข่าว เนื่องจากความกังวลใจของผู้ถูกกระทำที่กลัวว่าจะได้รับผลกระทบในอาชีพการงานของตน ซึ่งในความเป็นจริงคงมีตัวเลขของผู้ถูกกระทำไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะนักกีฬาผู้ถูกกระทำที่เป็นสตรี เด็ก เยาวชน คนพิการ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทุกภาคส่วนจึงควรร่วมมือกันผลักดันให้ปัญหานี้เป็นวาระสำคัญทางสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน กระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมความเสมอภาคและความเท่าเทียมระหว่างเพศ คุ้มครองและป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ กำหนดนโยบายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ รวมถึงยุติปัญหาความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายกว่า 40 หน่วยงาน จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการกีฬา” และร่วมประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว การวางแนวปฏิบัติการประสานส่งต่อและการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิให้แก่ผู้ถูกกระทำหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนเสริมสร้างองค์ความรู้เรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศให้แก่บุคลากรในวงการกีฬา และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในวงกว้างเพื่อสร้างความตระหนักรู้และทัศนคติที่ถูกต้องให้แก่สังคมต่อไป
นอกจาก พิธีลงนาม MOU และประกาศเจตนารมณ์ เรื่อง “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการกีฬา” ภายในงานยังได้มีเวทีเสวนาในหัวข้อ “Breaking the Silence : ยุติการล่วงละเมิดทางเพศในการกีฬา” โดย ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน รองประธานกรรมการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, นางสุดา สุหลง รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, นายสุรศักดิ์ เกิดจันทึก รองผู้ว่าการฝ่ายกีฬาเป็นเลิศและวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย, นางสาวศิริพร ไชยสุต นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมด้วยนักกีฬา นำโดย นายภราดร ศรีชาพันธุ์ นักกีฬาเทนนิสชายมือหนึ่งเอเชีย และอดีตนักเทนนิสหมายเลข 9 ของโลก, นายชัชชัย เช หัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย, "แวว" สายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบหญิง เจ้าเหรียญทอง 3 เหรียญทองพาราลิมปิก 2024 และ คุณนุศรา ต้อมคำ อดีตวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย พร้อมด้วยการแสดงที่สร้างแรงบันดาลใจ ความหวังและรอยยิ้ม จากเยาวชนทีมดาวน์ซินโดรม Bangkok Trisomy 21 ในชื่อชุดการแสดง Inspiration show BY DBK-T21 team
ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย กล่าวในช่วงหนึ่งของการเสวนาว่า การตัดสินใจเข้าร่วม MOU เนื่องจากตระหนักถึงปัญหาการถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศของคนในวงการกีฬาทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดหวังว่าการลงนามความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการ Kick-off ความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในวงการกีฬา นำปัญหาที่ถูกซุกซ่อนอยู่ ให้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระสำคัญทางสังคม และตนเองในฐานะตัวแทนสร้างการเปลี่ยนแปลง มองเห็นศักยภาพของหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการกีฬาและด้านสิทธิมนุษยชนที่มารวมตัวกันในวันนี้ ว่าจะเป็นกำลังสำคัญร่วมกันผลักดันมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือการคุกคามทางเพศ ให้เกิดขึ้นในวงการกีฬาบ้านเรา อีกทั้งภารกิจนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของประเด็น Safe Sport ที่ ทางโอลิมปิก สากลกำหนดเป็นข้อปฏิบัติสำคัญของทุกองค์กรที่เกี่ยวกับกีฬาทั่วโลกที่ต้องมีการดูแลนักกีฬาในด้านของ Safe Sport ดังนั้น พวกเราในฐานะคนจากการกีฬาแห่งประเทศไทยจึงต้องผลักดัน Safe Sport ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
“การร่วมมือในครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในวงการกีฬา เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬา การดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในด้านนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของนักกีฬาให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งสร้างบรรยากาศการทำงานและแข่งขันที่เคารพในสิทธิมนุษยชน การสร้างความเชื่อมั่นในความเท่าเทียมและความปลอดภัยจะเป็นรากฐานสำคัญของวงการกีฬาที่มีคุณภาพและยั่งยืนต่อไป” ดร.สุวรรณา กล่าวทิ้งท้าย