เคบียู สปอร์ต โพล โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต เผยแฟนกีฬาไทยยกเหตุการณ์ "เทนนิส" พาณิภัค โกงตาย พลิกกลับมาคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ด้วยการเอาชนะนักกีฬา เจ้าภาพไปแบบระทึกหัวใจ เป็นปรากฎการณ์สุดประทับใจของวงการกีฬาไทยในรอบปี 2566 รองลงมา คือทีมลูกยางสาวไทยคว้าแชมป์เอเชียในบ้าน ส่วนเรื่องที่สร้างผิดหวังสุดๆ คือเหตุฉาวกระฉ่อนโลกลูกหนัง ที่ทีมช้างศึกชุดยู-23 ทะเลาะวิวาทกับทีมคู่แข่ง อินโดนีเซีย ในรอบชิงเหรียญทอง ฟุตบอลซีเกมส์ ที่กัมพูชา
สืบเนื่องจากในรอบปี 2566 มีปรากฎการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวงการกีฬาไทยในหลากหลายมิติ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของแฟนกีฬาที่มีต่อปรากฎการณ์ดังกล่าว KBU SPORT POLL (เคบียู สปอร์ต โพล) โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต จึงสำรวจคิดเห็นเรื่อง "ปรากฎการณ์กีฬาไทยในรอบปี 2566"
สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ระหว่าง วันที่ 18 - 20 ธ.ค.66โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไปที่ติดตามข่าวสารทางการกีฬา ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,206 คน โดยแบ่ง
เป็นเพศชาย 746 คน คิดเป็น ร้อยละ 61.86 เพศหญิง 460 คน คิดเป็น ร้อยละ 38.14 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆโดยภาพรวมพบว่าความสนใจในการติดตามความเคลื่อนไหวของวงการกีฬาไทย ส่วนใหญ่ร้อยละ 76.01 สนใจติดตามอย่างต่อเนื่อง รองลงมาร้อยละ 21.63 สนใจติดตามเป็นครั้งคราว และร้อยละ 2.36 ไม่สนใจ ด้านปรากฎการณ์พัฒนาการโดยภาพรวมของวงการกีฬาไทยในรอบปี 2566 ส่วนใหญ่ร้อยละ 37.45 เห็นว่าพัฒนาการยังคงที่ รองลงมาร้อยละ 24.60 พัฒนาการดีขึ้น, ร้อยละ 22.89 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 15.06 พัฒนาการต่ำลง
ปรากฎการณ์ที่สร้างความประทับใจ ส่วนใหญ่ร้อยละ 28.07 พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโด คว้าเหรียญทองด้วยการชนะเจ้าภาพจีนแบบตื่นเต้นในกีฬาเอเชียนเกมส์ (หางโจว 2022) รองลงมา ร้อยละ 25.59 นักวอลเลย์บอลสาวไทยคว้าแชมป์เอเชีย ที่ จ.นครราชสีมา, ร้อยละ 17.39 ทัพนักกีฬาทีมชาติสร้างชื่อจากการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ (หางโจว 2022) เอเชียนพาราเกมส์ 2022, ร้อยละ 13.81 นักกีฬาทีมชาติสร้างชื่อเสียงจากการแข่งขันซีเกมส์ (กัมพูชาเกมส์ 2023) และเอเชียนพาราเกมส์ 2023, ร้อยละ 8.03 นักกีฬาทีมชาติได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ (ปารีสเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ 2024, ร้อยละ 5.01 รัฐบาล/ภาครัฐ/เอกชน ให้ความสนใจในการส่งเสริมและสนับสนุนการกีฬาและอื่นๆร้อยละ 2.10
ส่วนปรากฎการณ์ที่สร้างความผิดหวัง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 28.17 คือการที่นักฟุตบอลทีมชาติไทยชุด อายุไม่เกิน 23 ปี ก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับทีมชาติอินโดนีเซีย ในรอบชิงชนะเลิศกีฬาซีเกมส์ที่กัมพูชา รองลงมา
ร้อยละ 26.05 นักฟุตบอลทีมชาติชุดใหญ่แพ้ทีมชาติจอร์เจีย 0-8 ในรายการอุ่นเครื่องฟีฟ่าเดย์, ร้อยละ 18.07 นักฟุตบอลทีมชาติไทยชุดใหญ่ พลาดแชมป์ในการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 49 ที่จ.เชียงใหม่, ร้อยละ 17.96 ผลงานนักกีฬาไทยไม่สัมพันธ์กับงบประมาณและจำนวนที่ส่งเข้าราวมการแข่งขันในกีฬาเอเชียนเกมส์ (หางโจวเกมส์2022) และซีเกมส์ (กัมพูชาเกมส์ 2023), ร้อยละ 7.63 ทัพนักกีฬาไทยไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลได้ตามเป้าหมายจากการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ (หางโจวเกมส์ 2022) กับ ซีเกมส์ (กัมพูชาเกมส์ 2023) และอื่นๆร้อยละ 2.12
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต เผยว่า จากผลการสำรวจดังกล่าวจะเห็นได้ว่าหนึ่งในมิติที่น่าสนใจ สำหรับปรากฎการณ์ของวงการกีฬาไทยในรอบปี 2566 คือ พัฒนาการโดยรวมที่กลุ่มตัวอย่างสะท้อนให้เห็นว่าพัฒนาการต่างๆยังคงที่ ขณะเดียวกันในมิติที่เกี่ยวกับความประทับใจในลำดับต้นๆที่คอกีฬาฉายภาพให้เห็นโดยเฉพาะผลงานของนักนักเทควันโด อย่าง "เทนนิส" พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ที่สร้างความตื่นเต้นไล่เตะแซงชนะเจ้าภาพจีนในหางโจวเกมส์ 2022ได้อย่างสะใจแฟนๆ ผนวกกับนักตบลูกยางสาวไทยที่ผนึกพลังร่วมด้วยการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศและส่งความสุขให้กับคนไทยด้วยการก้าวไปคว้าแชมป์เอเชียมาครองได้สำเร็จอีกสมัยหนึ่ง ซึ่งก็ถือว่าเป็นความประทับใจอันสุดยอดที่สมกับการรอคอยที่เหล่านักตบและทีมงานได้ร่วมสร้างปรากฎการณ์ให้กับวงการกีฬาไทยได้จดจำ
สำหรับปรากฎการณ์ของความผิดหวังที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สะท้อนให้เห็นพบว่าการก่อเหตุทะเลาะวิวาทของนักเตะทีมชาติชุดอายุไม่เกิน 23 ปี กับอินโดนีเซียในกัมพูชาเกมส์ รวมทั้งทัพช้างศึกไปพ่ายในเกมนัดอุ่นเครื่องต่อทีมชาติจอร์เจียอย่างย่อยยับถึง 0-8 ก็ถือว่าปรากฏการณ์ที่สอดคล้องกับประเด็นร้อนในวงการกีฬาไทยมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามในมิติที่เกี่ยวกับปรากฎการณ์อื่นๆไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ผลงานนักกีฬาทีมชาติไทยไม่สัมพันธ์กับงบประมาณและจำนวนที่ส่งเข้าร่วมการแข่งขันในรายการสำคัญๆก็คงเป็นหนึ่งในบท
เรียนที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องนำไปปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป