กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์แบดมินตันโลกชายเดี่ยว ผงาดรางวัลนักกีฬาสมัครเล่นชายดีเด่นแห่งปี 2566 ด้าน พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ที่สร้างผลงานสุดไร้เทียมทาน ได้ถึง 6 แชมป์ในปีนี้ โดยเฉพาะการคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2 สมัยติดต่อกัน และสร้างสถิติแชมป์เวิลด์กรังด์ปรีซ์สูงสุดตลอดกาลของฝ่ายหญิงที่ 12 สมัย ซิวรางวัลนักกีฬาสมัครเล่นหญิงดีเด่น ส่วนรางวัลนักกีฬาอาชีพดีเด่นฝ่ายชาย "ก้อง" สมเกียรติ จันทรา นักแข่งรถจักรยานยนต์ คว้าไปครอง โดยฝ่ายหญิงเป็นของ "จีน" อาฒยา ฐิติกุล นักกอล์ฟ
เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 ธ.ค.66 การกีฬาแห่งประเทศไทย จัดงานประกาศเกียรติคุณนักกีฬาดีเด่น เนื่องในวันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2566 ที่ลานพลาซ่า ทางขึ้นราชมังคลากีฬาสถาน ฝั่งสระน้ำ การกีฬาแห่งประเทศไทย โดยภายในงานมี นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้บริหาร คณะนักกีฬา ผู้ฝึกสอน และผู้แทนจากสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยและสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเข้าร่วมอย่างคับคั่ง
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 15 เมษายน 2529 โดยกำหนดให้ทุกวันที่ 16 ธันวาคม ของทุกๆปีเป็น "วันกีฬาแห่งชาติ" เพื่อน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงชนะเลิศการแข่งขันเรือใบประเภท โอ.เค. ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2510 ยังความปลื้มปิติแก่ประชาชนชาวไทยทั้งชาติ
"การที่นักกีฬาซึ่งเป็นตัวแทนของชาติ ได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ฝึกซ้อม ทุ่มเทพลังทั้งหมดในการแข่งขันจนชนะเลิศ สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ ถือเป็น การเสียสละ เพื่อประเทศชาติตามรอยพระยุคลบาท โดยผลงานของนักกีฬาในรอบปีที่ผ่าน ถือว่าได้สร้างชื่อเสียงและความสุขให้กับประชาชนในประเทศเป็นอย่างมาก ผมขอแสดงความยินดีกับผู้ที่จะได้รับรางวัลทุกรางวัล ซึ่งได้สร้างชื่อเสียง เกียรติยศ ด้านการกีฬาในแก่ประเทศชาติด้วยกันทั้งสิ้น"
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เผยอีกว่า เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธานด้านกีฬาของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง จึงจัดงานในปีนี้ขึ้นมา ซึ่งถือจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 38 ภายใต้แนวคิด "Supporter Spirit Soft Power" โดยมีการมอบรางวัลให้กับนักกีฬา ผู้ฝึกสอน สมาคมกีฬา และบุคลากรกีฬา ซึ่งก็ถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ทุกท่านที่ได้รับรางวัล
สำหรับรางวัลที่มีการจัดมอบ 41 รางวัล ใน 12 สาขา มีดังนี้ 1.นักกีฬาสมัครเล่นชายดีเด่น ได้แก่ "วิว" กุลวุฒิ วิทิตศานต์ (แบดมินตัน) จากผลงานสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์โลกชายเดี่ยวในปีนี้ ส่วนรองดีเด่นชาย 2 คน ได้แก่ บัลลังก์ ทับทิมแดง (เทควันโด) กับ ธีเดช ทรงสายสกุล (อีสปอร์ต), นักกีฬาสมัครเล่นหญิงดีเด่น ได้แก่ "เทนนิส" พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ (เทควันโด) จากผลงานสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน และเพิ่งทำสถิติคว้าแชมป์เวิลด์กรังด์ปรีซ์สูงสุดตลอดกาลของนักเทควันโดหญิงที่จำนวน 12 สมัย ที่สำคัญตลอดปี 2566 คว้าแชมป์ถึง 6 รายการ ส่วนรองดีเด่น 2 ราย ได้แก่ สิริวิมล ประมงคล (ยกน้ำหนัก) กับ จ่าอากาศตรีหญิง จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง (มวยสากล)
2. นักกีฬาเยาวชนสมัครเล่นชายดีเด่น ได้แก่ วีรพล วิชุมา (ยกน้ำหนัก) ส่วนรองดีเด่น ได้แก่ ม.ล.เวฆา ภาณุพันธ์ (เรือใบ) กับ ภูริพล บุญสอน (กรีฑา), นักกีฬาเยาวชนสมัครเล่นหญิงดีเด่น พิชฌามลณ์ โอภาสนิพัทธ์ (แบดมินตัน) ส่วนรองดีเด่น ได้แก่ กมลชนก สีเคน (เทควันโด) กับ ธนพร แซ่เตีย (ยกน้ำหนัก), 3. นักกีฬาอาชีพชายดีเด่น ได้แก่ "ก้อง" สมเกียรติ จันทรา (จักรยานยนต์), นักกีฬาอาชีพหญิงดีเด่น ได้แก่ "จีน" อาฒยา ฐิติกุล (กอล์ฟ)
4.นักกีฬามวยไทยอาชีพชายดีเด่น ได้แก่ ณัฐวุฒิ สิมมา หรือ เพชรจักจั่น ช.ห้าพยัคฆ์ ส่วน นักกีฬามวยไทยอาชีพหญิงดีเด่น ได้แก่ จันทร์จิรา ภารุนัย หรือ การะเกด พ.เมืองเพชร, 5. นักกีฬาคนพิการชายดีเด่น ได้แก่ พงศกร แปย (วีลแชร์เรซซิ่ง) ส่วนรองดีเด่น จักริน ด้ามุณี (กรีฑาคนพิการทางสายตา), นักกีฬาคนพิการหญิงดีเด่น ได้แก่ สายสุนีย์จ๊ะนะ (วีลแชร์ฟันดาบ) ด้านรองดีเด่น ได้แก่ ศศิราวรรณ อินทโชติ (กรีฑาคนพิการ)
6. ชนิดกีฬาทีมดีเด่นและประเภทกีฬาทีมดีเด่น ประเภทชนิดกีฬาทีมดีเด่น (SPORTS) ได้แก่ ทีมวอลเลย์บอลทีมหญิง ชุดแชมป์เอเชีย 2022 และเหรียญทองแดงเอเชียนเกมส์, ประเภทกีฬาทีมดีเด่น (EVENTS) ได้แก่ แบดมินตันคู่ผสม ซึ่งเป็นการจับคู่กันของ เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย, ชนิดกีฬาทีมคนพิการดีเด่น (SPORTS) ได้แก่ ทีมฟุตบอลคนตาบอด ชุดทำศึกชิงแชมป์โลก, ประเภทกีฬาทีมคนพิการดีเด่น (EVENTS) ได้แก่ เทเบิลเทนนิสคนพิการ ชายคู่ Class MD8 ซึ่งเป็นการจับคู่กันของ วันชัย ชัยวุฒิ กับ ยุทธจักร กลิ่นบานชื่น
7.ผู้ฝึกสอนนักกีฬาสมัครเล่นดีเด่น ได้แก่ พันตำรวจโท วิจารณ์พลฤทธิ์ (มวยสากล), ผู้ฝึกสอนนักกีฬาต่างประเทศดีเด่น ได้แก่ มร.ลุคแมน (ยกน้ำหนัก), ผู้ฝึกสอนนักกีฬาอาชีพดีเด่น ได้แก่ ภัททพล เงินศรีสุข (แบดมินตัน), ผู้ฝึกสอนนักกีฬาส่วนภูมิภาคดีเด่น ได้แก่ พัชรินทร์ จันแดง (สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดตรัง), ผู้ฝึกสอนนักกีฬาคนพิการดีเด่น ได้แก่ สุพรต เพ็งพุ่ม (วีลแชร์เรซซิ่ง)
8. สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยดีเด่น ได้แก่ สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬาคนพิการดีเด่น ได้แก่ สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดดีเด่น ได้แก่ สมาคมกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ, 9. รางวัลบุคลากรทางการกีฬาดีเด่น ประเภทผู้บริหารดีเด่น ได้แก่ ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ (เทควันโด), นักวิชาการดีเด่น ได้แก่ ดร.อาพรรณชนิต ศิริแพทย์ (นักวิทยาศาสตร์การกีฬา), ผู้จัดการทีมดีเด่น ได้แก่ ธนฑิตย์ รักตะบุตร (เทควันโด) และ ผู้ตัดสินดีเด่น ได้แก่ ดร.สิริลักษณ์ ทัดมั่น (ยกน้ำหนัก)
10.นักกีฬาอาวุโสชายดีเด่น ได้แก่ สว่าง จันทร์พราหมณ์ (กรีฑา), นักกีฬาอาวุโสหญิงดีเด่น ได้แก่ วพีรญา มั่นกิจอม (แบดมินตัน), 11. นักบริหารกีฬาระดับนานาชาติทรงคุณค่า ได้แก่ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล, 12. นักบริหารกีฬาทรงคุณค่า ได้แก่ นายกองเอก ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ และ นายวิวัฒน์ วิกรานตโนรส
นอกจากนี้ในงานดังกล่าวยังมีการมอบรางวัลกับนักกีฬาดีเด่นของสมาคมกีฬาแห่งจังหวัด ประจำปี 2566 รวม 154 รางวัล รวมถึงมอบรางวัลนักกีฬาดีเด่นของสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 จำนวน 184 รางวัล