อธิษฐ์ มิเคล โรมานิค แต้มเสีย 6 แต้ม อยู่ลำดับที่ 2 ของตาราง ขณะที่ ชูศิษฐ์ ปัญจมาลานักกีฬาไทยอีกคน เข้าป้ายลำดับที่ 4 อยู่ในกลุ่มผู้นำที่มีลุ้นเช่นเดียวกัน
การแข่งขันเรือใบ ชิงแชมป์เอเซียและคัดเลือกโอลิมปิก ที่พัทยา โดยมีเรือใบ ILCA7 ประเภทชาย มีที่นั่งโอลิมปิก 2 ที่นั่ง มีเรือเข้าแข่งขันทั้งหมด 46 ลำ โดยจะทำการแข่งขันจำนวน 10 รอบ (วันละ 2 รอบ รวม 5 วัน) เพื่อคัดนักกีฬา 10 ลำแรกเข้าไปเล่นรอบสุดท้าย หรือ Medal race
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 เป็นการแข่งขันวันแรก ทำการแข่งขันจำนวน 2 รอบ นายอธิษฐ์ มิเคล โรมานิค แต้มเสีย 6 แต้ม อยู่ลำดับที่ 2 ของตาราง แต้มเท่า Kazumasa Segawa จากญี่ปุ่น แต่นักกีฬาจากญี่ปุ่นเข้าเป็นลำดับที่ 1 ในรอบที่สองจึงขึ้นนำในตาราง ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์การได้ที่นั่งโอลิมปิก นอกจากนี้ยังมี นายชูศิษฐ์ ปัญจมาลานักกีฬาไทยอีก 1 คน เข้าป้ายลำดับที่ 4 อยู่ในกลุ่มผู้นำที่มีลุ้นเช่นเดียวกัน
เรือใบ ILCA6 ประเภทหญิง มีที่นั่งโอลิมปิก 2 ที่นั่ง มีเรือเข้าแข่งขันทั้งหมด 33 ลำ แข่งขันทั้งหมด 10 รอบเช่นเดียวกัน โซเฟีย เกล มอนโกเมอรี่ ของไทย ผลงานไม่น้อยหน้าประเภท ILCA7 ผ่าน 2 รอบแต้มเสีย 7 แต้ม อยู่ลำดับที่ 2 ของตาราง แต้มห่างจาก Dongshuang Zhang จากจีนที่เป็นผู้นำ 1 แต้ม อยู่ในเกณฑ์การได้ที่นั่งโอลิมปิกเช่นเดียวกัน สำหรับประเภทนี้ยังมี ทอฝัน บุนนาค เข้าป้ายเป็นลำดับที่ 6 อยู่ในกลุ่มผู้นำ
สำหรับ เรือใบประเภท 470 มีที่นั่งโอลิมปิก 1 ที่นั่ง มีเรือเข้าแข่งขันทั้งหมด 16 ลำ ผ่าน 2 รอบ จ่าโทนาวี ธรรมสุนทร และ จ่าโทหญิง นิชาภา ไหวไว สองนักกีฬาไทยนำเรือเข้ามาเป็นลำดับ 5 โดยมี Ming xu จากประเทศจีนเป็นผู้นำ
อีกประเภทที่นักกีฬาไทยลงแข่งขัน คือ 49er มีที่นั่งโอลิมปิก 1 ที่นั่ง มีเรือเข้าแข่งขันทั้งหมด 21 ลำ ผ่าน 2 รอบ สองพี่น้อง ดอน กับ ดีแลน วิสคราฟ เข้ามาเป็นลำดับ 13 ส่วนประเภท 49erFx Nacra 17 นักกีฬาไทยยังตามมาห่างๆ
สำหรับในการแข่งขันทุกประเภทเรือยังเหลือการแข่งขันอีก 5 วันโดยและสามารถตัดรอบที่มีคะแนนเสียมากที่สุดได้ประเภทละ 1 เที่ยว ทำให้นักกีฬาจากประเทศไทยยังมีความหวังในทุกประเภทที่ลงแข่งขัน