สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย จับมือ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ เตรียมเปิดหลักสูตรระยะสั้นให้ผู้สนใจจากต่างประเทศ เข้ารับการอบรมในประเทศไทย พร้อมเตรียมต่อยอดหลักสูตร NBCC ของสมาคมเป็นหลักสูตรระยะสั้นให้ต่างชาติเข้ามาร่วมการอบรมระยะสั้น 3-4 สัปดาห์ หวังพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นสปอร์ตฮับ (sports Hub) ของภูมิภาค ผลักดันร่วมกับ soft power (ซอฟต์พาวเวอร์) ของภาครัฐ
นายศุกรีย์ สุภาวรีกุล นายกสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทยและเลขาธิการสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งเอเชีย (ABBF) พร้อมด้วย มร. ราเมช สวามี่ ที่ปรึกษาด้านกฏหมายของสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก (WBPF) เข้าพบหารือกับนายวิษณุ ไล่ชะพิษ อธิการบดี มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ที่ ห้องรับรอง ชั้น 1 กกท.หัวหมาก เมื่อ 27 พ.ย.66
สำหรับการเข้าพบครั้งนี้ ก็เพื่อหารือถึงการต่อยอดด้านการศึกษาและวิชาการทางด้านการพัฒนาผู้ฝึกสอนการออกกำลังกายหรือ PERSONAL TRAINER (เพอร์ซันแนล เทรนเนอร์) ซึ่งในปัจจุบันมีกระแสความต้องการของตลาดในทุกประเทศ ประกอบกับหลักสูตรการพัฒนาผู้ฝึกสอนการออกกำลังกายของสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย NATIONAL BODYBUILDING COACHING CERTIFICATE (เนชั่นแนล บอดี้บิวดิ้ง โค้ชชิ่ง เซอร์ติฟิเคท) และเหมาะที่จะนำไปต่อยอดเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจในต่างประเทศได้เข้ามาร่วมรับการอบรมและหากได้มีการบูรณาการหลักสูตรทางด้านวิชาการ (ACCREDITED) จากทางมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติจะยิ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการศึกษาและพัฒนาเป็นวิชาชีพต่อไป
ทั้งนี้ทาง มร. ราเมช สวามี่ ที่ปรึกษาด้านกฏหมายของสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก (WBPF) ที่เป็นผู้แทนของสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก เผยว่า ตนเชื่อมั่นว่าหากหลักสูตรนี้สามารถเปิดการเรียนการสอนเป็นหลักสูตรระยะสั้นภายในระยะเวลา 3-4 สัปดาห์ และจะได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียหลายๆ ประเทศที่จะส่งบุคลากรมาเข้าร่วมรับการอบรมอย่างแน่นอน
สำหรับหลักสูตร National Bodybuilding Coaching Certificate (NBCC) ที่สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทยได้เปิดการสอนในปัจจุบันประกอบด้วย 5 สาขาวิชาหลัก คือ วิทยาศาสตร์การกีฬาด้านสรีระร่างกายและระบบกล้ามเนื้อ (Muscle and Anatomy), วิทยาศาสตร์การกีฬาชีวกลศาสตร์ด้านการเคลื่อนไหว(Biomechanics), วิทยาศาสตร์การกีฬาด้านจิตวิทยา (Psychology), วิทยาศาสตร์การกีฬาด้านโภชนาการ(Nutrition) และ วิทยาศาสตร์การกีฬาด้านเวชศาสตร์การกีฬา(Sports Medicine)
ทั้งนี้ภายหลังจากหารือร่วมกับทางมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติและทีมวิทยากรที่ปรึกษาของสมาคม ก็เตรียมที่จะขยายผลต่อยอดให้เป็นหลักสูตรในระดับนานาชาติเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่สนใจได้เข้ามาศึกษาและรับการอบรมในหลักสูตรนี้ ซึ่งคาดการณ์ว่า การเปิดสอนหลักสูตรทางด้านผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย จะเป็นส่วนสำคัญในการขยายโอกาสให้ประเทศไทยได้เป็น "สปอร์ตฮับ" ของภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นโอกาสผลักดันร่วมกับนโยบาย "ซอฟต์เพาเวอร์" ของภาครัฐต่อไป