ผจก.กองทุนกีฬาถกคนวงการเจ็ตสกียุติดราม่าปมงบอุดหนุน,เงินรางวัล

ผจก.กองทุนกีฬาถกคนวงการเจ็ตสกียุติดราม่าปมงบอุดหนุน,เงินรางวัล
คนกีฬาเจ็ตสกี ตบเท้าเข้าถก ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พร้อมนั่งจับเข่าคุยกันแบบเปิดใจ ถึงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการสนับสนุนด้านงบประมาณ และปัญหาที่ค้างคากับ กกท. และ กองทุนกีฬาชาติ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยหลังการพูดคุยทุกฝ่ายเข้าใจเป็นอย่างดี "ดร.หญิง" ชี้ ที่ผ่านมาเจ็ตสกี เป็นกีฬาสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย มาอย่างต่อเนื่อง และเป็นกีฬาที่ได้รับการสนับสนุนเหมือนกีฬาอื่น ๆ พร้อมฝากถึงทุกสมาคมกีฬาและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จากนี้ไปการทำเอกสารขอเบิกงบประมาณต้องถูกต้อง ชัดเจน ตามกติกา เพื่อไม่ให้ตัวเองเสียรักษาสิทธิอันพึงจะได้

"ดร.หญิง" ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาตนเองได้ต้อนรับบุคลากรกีฬาของวงการเจ็ตสกี ที่ประกอบด้วย ตัวแทนจากชมรม, นักกีฬา, ผู้ปกครอง และผู้ฝึกสอน ที่เข้ามาหารือ เพื่อขอทราบรายละเอียดต่างๆ ซึ่งการหารือครั้งนี้เป็นที่น่ายินดีที่ทางกองทุนฯ ได้มีโอกาสชี้แจง ทำความเข้าใจ ในประเด็นต่าง ๆ ที่ทุกคนอยากที่จะถาม ทั้งเรื่องการไปแข่งขันรายการระดับโลก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีผลงานกลับมาแล้วไม่เข้าหลักเกณฑ์การจ่ายเงินรางวัล และเรื่องอื่น ๆ ที่ทำให้มีการเข้าใจผิด

สำหรับคำถามที่ว่าทำไมทางกองทุนฯ ตัดงบการสนับสนุนการไปแข่งขันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เราก็เปิดให้ดูตารางการสนับสนุนที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมไว้ พบว่า เจ็ตสกี ได้รับงบสนับสนุนไปแข่งรายการระดับทวีป ที่ประเทศจีน แต่จีนไม่จัดแข่งขัน และสมาคมเจ็ตสกี ก็ไม่ได้ทำเรื่องขอปรับแผนการใช้เงิน รายการที่ไม่ได้ไปแข่งมาให้ทาง กกท. เมื่อเป็นเช่นนี้งบประมาณตัวนี้ก็ตกไป

ทางกองทุนฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตัดงบ แต่เป็นกติกาที่งบที่ไม่ได้ใช้ กกท.ก็จะปรับไปใช้อย่างอื่นเท่านั้นเอง และจากการคุยกันก็แจ้งว่าการแข่งขันที่สหรัฐฯ ของเจ็ตสกีไม่ได้อยู่ในเกณฑ์การสนับสนุนของฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศ กกท. ด้วยเหตุผลอะไรนั้นก็ได้อธิบายให้ทุกคนได้เข้าใจกันชัดเจนและทุกคนยอมรับว่าไม่เคยรับทราบข้อมูลนี้เลย

ดร.สุปราณี กล่าวต่อว่า จากนั้นก็ได้หารือกัน พร้อมทั้งเปิดงบประมาณที่กองทุนฯ ได้สนับสนุนกีฬาเจ็ตสกี ทั้งในส่วนที่ผ่านการดำเนินการของฝ่ายกีฬาเป็นเลิศ และ กีฬาอาชีพ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น รวมมูลค่ามากเกิน 200 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็น กกท. หรือกองทุนฯ แม้แต่ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการหนุนมาตลอด ซึ่งเมื่อดูเอกสารรายละเอียดแล้วผู้ที่เข้ามาคุยก็ถึงกับอึ้งและมีความเข้าใจ

ผู้จัดการกองทุนกีฬา กล่าวต่อว่า "เรานั่งคุยกันนาน เพื่อที่จะหาทางออกและการช่วยเหลือ เพราะในมุมหนึ่งนั้น เจ็ตสกีก็ไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย เราก็มาดูสิ่งที่ควรช่วยเหลือได้บ้าง ทั้งการสนับสนุนการส่งแข่งขันที่ผ่านมา และการให้เงินรางวัล จากหลักเกณฑ์ที่เข้าใจกันแล้วนั้น เราดูช่องทางว่า พอมีทางไหนที่จะหาทางช่วยได้บ้าง ซึ่งก็มีทางออกบ้างในการหารือ แต่ทุกอย่างจะต้องผ่านการเสนอที่อนุกรรมการกลั่นกรองของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯก่อน และเมื่ออนุกรรมการฯ พิจารณาเสร็จ หากเห็นด้วยก็นำเสนอคณะกรรมการบริหารฯ พิจารณาการช่วยเหลือที่ผ่านๆ มานี้ต่อไป ซึ่งนี่คือแนวทางช่วยเหลือในส่วนที่ผ่านมา แต่ในอนาคตข้างหน้า ทุกอย่างต้องชัดเจนตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ หรือมีการปรับใหม่เท่านั้น คงจะมาอ้างว่าไม่ทราบไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้ว ทุกสมาคมกีฬานั้น จะได้รับข้อมูลเรื่องเกี่ยวข้องนี้ทั้งเป็นเอกสารและจัดอบรม ซักซ้อมความเข้าใจกันมาโดยตลอด"

"กกท.ดูแลเจ็ตสกีเหมือนกันกับกีฬาชนิดอื่นๆ เช่นงบที่มีการหนุนมาก่อน และปีหน้า ฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศ ก็เตรียมงบหนุนไว้ให้ เมื่อกลุ่มพี่น้องเจ็ตสกีที่มานี้เข้าใจ เพราะไม่เคยรู้เรื่องใดๆอย่างนี้ ทั้งที่เขาอยู่ในกิจกรรมเจ็ตสกีตลอดทุกระดับ รวมทั้งนักกีฬา ก็ไม่ทราบว่าต้องมาขึ้นทะเบียนเป็นนักกีฬาอาชีพ จึงจะได้สิทธิสนับสนุน จึงอยากฝากถึงทุกสมาคมที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพ ต้องให้ข้อมูล ตามที่เราและกกท.อบรม หรือชี้แจงให้ทราบ ส่งไปถึงผู้เกี่ยวข้อง และฝากนักกีฬาและบุคลากรกีฬาอาชีพ ต้องมาจดแจ้งขึ้นทะเบียนเป็นบุคลากรกีฬาอาชีพ ที่สำนักงานกีฬาอาชีพ กกท. เพื่อที่จะได้รักษาสิทธิ และได้ดำเนินการตามหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติได้อย่างถูกต้องต่อไป" ดร.หญิง กล่าวทิ้งท้าย


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport