รักบี้ "กีฬาของคนป่าที่เล่นโดยสุภาพบุรุษ"

รักบี้ "กีฬาของคนป่าที่เล่นโดยสุภาพบุรุษ"
ผมไม่ใช่คอรักบี้ นักรักบี้ที่รู้จักคุ้นหูก็มีแค่ไม่กี่คน..

โจนาห์ โลมู แห่งนิวซีแลนด์นั่นอันดับหนึ่ง จอนนี่ วิลกินสัน จอมเตะจากอังกฤษก็โด่งดังเป็นพลุแตก หรือ ไบรอัน ฮาบาน่า แห่งแอฟริกาใต้ก็บุกตะลุยเมามันจนพาทีมสปริงบ็อกส์คว้าแชมป์โลกเมื่อปี 2007

แต่จริงๆ แล้ววงการรักบี้โลกก็เหมือนวงการอื่นๆ นั่นล่ะครับ มีนักกีฬาที่ก้าวขึ้นไปสู่ระดับตำนานทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันและจะสานต่อไปจนถึงอนาคต

ยังมียอดนักรักบี้อีกมากมายที่โลดแล่นฝากผลงานเอาไว้ จอร์จ สมิธ, จอร์จ เกรแกน, จอห์น เอลส์, ทิม ฮอแรน แห่ง ออสเตรเลีย.. เจสัน โรบินสัน, ริชาร์ด ฮิลล์, ลอว์เรนซ์ ดัลลาโย่, มาร์ติน จอห์นสัน จากอังกฤษ

จอห์น สมิท, ฟร็องซัวส์ พีนาร์, ยูสต์ ฟาน เดอร์ เวสธุยเซ่น ของแอฟริกาใต้

เกธิน เจนกิ้นส์, เชน วิลเลียมส์ แห่งเวลส์.. พอล โอคอนเนลล์, ไบรอัน โอดริสคอลล์ แห่งไอร์แลนด์.. แดน คาร์เตอร์, คริสเตียน คัลเลน, คีแรน รีด, ริชี่ แม็คคอว์ ของนิวซีแลนด์

กระทั่งอิตาลีที่ยังไม่เคยผ่านรอบแรกของศึกชิงแชมป์โลกได้เลยก็ยังมี แซร์โจ้ ปาริสเซ่ เบอร์ 8 ที่ดีที่สุดตลอดกาลของประเทศติดเป็น one of the greatest ชนิดไร้ข้อกังขา ทุกคนยอมรับ

(เบอร์ 8 ของรักบี้ 15 คนคือหัวใจของเกมรุก ยืนคุมแนวสุดท้ายของสกรัม เป็นคนกำหนดว่าจะนำลูกออกมาเล่นตอนไหน และส่งต่อให้ใคร)

แน่นอนครับ ผมแทบไม่รู้จักพวกเขาเหล่านั้นเลยด้วยความที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงรักบี้ จะมาทำความคุ้นเคยกันก็ตอนที่หาข้อมูลเขียนคอลัมน์ อย่างรายของ ฟร็องซัวส์ พีนาร์ แห่งแอฟริกาใต้นั้นยิ่งใหญ่ในฐานะที่เป็นกัปตันทีมรับถ้วย เว็บบ์ เอลลิส โทรฟี่ จากมือ เนลสัน แมนเดลล่า ที่สนามเอลลิส พาร์ค

มันไม่ใช่การรับถ้วยฉลองแชมป์โลกสมัยแรกของทีมสปริงบ็อกส์เพียงเท่านั้น หากยังเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นมากเพราะมันคือสัญลักษณ์สำคัญของการรวมชาติแอฟริกาใต้ในการสิ้นสุดยุคอะพาร์เท็ดหรือการแบ่งแยกสีผิวด้วย

พีนาร์คือคนผิวขาว แมนเดลล่าคือคนผิวดำผู้เป็นมหาบุรุษของชาวแอฟริกาใต้.. แชมป์โลกในปี 1995 ครั้งนั้นจึงอยู่ในความทรงจำของผู้คนมากมาย

ผมอยู่วงนอกมากๆ สำหรับรักบี้ ความรู้ที่มีในกีฬาปล้ำลูกหนำเลี้ยบก็แค่หางอึ่ง แต่กระนั้นรักบี้ก็เป็นกีฬาที่ผมชื่นชม มันคือกีฬาของนักกีฬาที่มีน้ำใจนักกีฬา

เคยมีคำพูดที่อธิบายถึงรักบี้เอาไว้ว่ามันคือ "กีฬาของคนป่า (หรือของกุ๊ย ของอันธพาล ของนักเลง แล้วแต่ว่าจะใช้คำไหน) ที่เล่นโดยสุภาพบุรุษ"

ผมคิดว่ามันจริงแท้ทีเดียว

อัดกันดุเดือด ชนเป็นชน ใส่เป็นใส่ แตกเป็นแตก ได้เลือดก็ห้ามเลือด พันผ้าโพกหัวลงมาบู๊กันใหม่ อารมณ์ร่วมพุ่งกระฉูด ห้ำหั่นกันราวกับจะฆ่าให้ตายกันไปข้าง

แต่น่าแปลก.. แพสชั่นทะลักปรอทขนาดนั้น กลับแทบไม่เห็นการเล่นนอกเกม จงใจทำร้ายคู่ต่อสู้ หรือโวยวายไม่ยอมรับคำตัดสินของกรรมการเลย

ไม่มีใครแกล้งเจ็บนอนร้องโอดโอย เจ็บจริงก็รีบปฐมพยาบาล เล่นต่อไหวก็ลงไปลุยต่อ เล่นต่อไม่ไหวก็เปลี่ยนให้เพื่อนลงมาแทน ให้เกียรติกรรมการ เคารพในการตัดสินของกรรมการ ไม่มีภาพกรูกันมากลุ้มรุมตะคอกใส่ยามที่คำตัดสินไม่เป็นดั่งใจ

นักรักบี้ยังเคารพและให้เกียรติคู่ต่อสู้ มีน้ำใจนักกีฬาให้แก่กัน 80 นาทีของการแข่งขันอัดกันแทบหามแต่เมื่อเกมจบ ทุกอย่างก็จบ จับมือตบบ่าแสดงความยินดีต่อกัน ฉุดแขนดึงเพื่อนร่วมอาชีพขึ้นมาให้กำลังใจกัน

ภาพที่ผู้ชนะยืนเข้าแถวปรบมือให้ผู้แพ้ ก่อนที่ผู้แพ้ที่เดินผ่านไปแล้วจะมายืนตั้งแถวปรบมือให้กับผู้ชนะคืนบ้างมีให้เห็นเป็นปกติ เกมชิงแชมป์โลกรอบ 8 ทีมสุดท้ายระหว่าง นิวซีแลนด์ กับ ไอร์แลนด์ เมื่อสัปดาห์ก่อนก็เป็นอย่างนั้น

ดูรักบี้ทุกครั้ง ผมเห็นภาพแบบนี้เสมอ รู้สึกว่ามันมีความเป็นกีฬาที่บริสุทธิ์มาก คือสัมผัสได้ถึงความเป็นนักกีฬาที่มีน้ำใจเป็นนักกีฬาจริงๆ

จากรุ่นสู่รุ่น จากยุคสู่ยุค รักบี้ก็เป็นภาพแบบนี้ ผู้ชายตัวใหญ่บึกบึนหน้าตาถมึงทึงชนิดที่เด็ก 2-3 ขวบเห็นแล้วต้องกลัวจนแหกปากร้องไห้ แต่น้ำใจนักกีฬางดงามเหลือเกิน ประมาณว่าพ่อเสือยิ้มยากร่างยักษ์เดินดุ่มๆ เข้าไปหาเด็กน้อยก่อนจะยิ้มกว้างให้แล้วยกเด็กคนนั้นขึ้นมาอุ้ม หยอกล้อเล่นด้วย

ดูน่ากลัว แต่จิตใจดี ผมรู้สึกกับนักรักบี้ประมาณนั้นจริงๆ

ผมเขียนถึงรักบี้เพราะในคืนวันนี้กับวันพรุ่งนี้ ศึกรักบี้ชิงแชมป์โลก 2023 ก็จะฟาดฟันกันในรอบรองชนะเลิศแล้ว

รักบี้ชิงแชมป์โลกแต่ละครั้งใช้เวลาแข่งกันนาน เพราะนักกีฬาจำเป็นต้องพักฟื้นร่างกายมากเป็นพิเศษ แต่ละทีมต้องได้พักไม่ต่ำกว่า 5 วันหลังจากลงปล้ำเกมล่าสุด

จึงไม่แปลกที่รักบี้ชิงแชมป์โลกมีทีมเข้าแข่งแค่ 20 ชาติ แต่ใช้เวลาแข่งขันยาวนานถึง 7 สัปดาห์หรือเกือบๆ สองเดือน นานกว่าฟุตบอลโลกเสียอีก อย่างรักบี้เวิลด์คัพคราวนี้ก็แข่งกันมาตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. นู่น

หากมันก็คุ้มค่าสำหรับใครก็ตามที่ชอบรักบี้ รู้สึกถึงใจสมการรอคอย ด้วยความที่มันแข่งกัน 4 ปีครั้งเหมือนฟุตบอลโลก

ผมไม่เข้าใจกติการักบี้เท่าไหร่แต่ทุกครั้งที่รักบี้ชิงแชมป์โลกมาถึงมันคือวาระสำคัญที่ต้องติดตามข่าวสารอยู่บ้าง ทั้งยังมี "ออลล์แบล็คส์" นิวซีแลนด์ ที่เราได้ยินชื่อมาตลอดให้ตามเชียร์

ไม่ได้รู้เรื่องรักบี้ แต่เชียร์ออลล์แบล็คส์ มันก็แปลกดีเหมือนกันนะครับ มันคงจะเป็นเรื่องของชื่อเสียง ประวัติที่มา และความสำเร็จที่ได้ผ่านเข้าหูได้เห็นเข้าตา ได้ยินชื่อนี้มาตั้งแต่เด็ก แล้วทีมนี้ก็ยังเก่งด้วย เป็นแชมป์โลกทีมแรก ทั้งยังมีธรรมเนียม "ฮาก้า" ที่เป็นเอกลักษณ์อีกต่างหาก

ความจริงผมอยากจะเขียนถึงรักบี้ชิงแชมป์โลกหนนี้ตั้งแต่รู้ผลประกบคู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายแล้วล่ะครับ เพราะเป็นเรื่องบังเอิญที่ใน 4 คู่ที่ดวลกันนั้นเป็นการพบกันระหว่างชาติในซีกโลกทางเหนือกับชาติในซีกโลกทางใต้ทั้งหมดแบบพอดีเป๊ะ

เป็น Northern Hemisphere พบกับ Southern Hemisphere ทั้ง 4 คู่ (Hemisphere หมายถึงซีกโลกครึ่งใดครึ่งหนึ่ง และเราแบ่งซีกโลกทางเหนือกับทางใต้โดยยึดเส้นศูนย์สูตรเป็นหลัก)

  • เวลส์ - อาร์เจนติน่า
  • ไอร์แลนด์ - นิวซีแลนด์
  • อังกฤษ - ฟิจิ
  • ฝรั่งเศส (เจ้าภาพ) - แอฟริกาใต้

แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้งเมื่อปี 1999 กับ 2015 แต่มันก็ชวนให้รู้สึกน่าสนใจเพิ่มขึ้นมาอีกนิด

ดุลอำนาจของรักบี้โลกนั้นเทลงมาทางซีกโลกใต้เสียเยอะ "ออลล์แบล็คส์" นิวซีแลนด์ "สปริงบ็อกส์" แอฟริกาใต้ และ "วอลลาบีส์" ออสเตรเลีย กวาดแชมป์โลกรวมกัน 8 จาก 9 สมัยนับตั้งแต่มีศึกชิงแชมป์โลกเมื่อปี 1987 เป็นต้นมา ทั้งยังมี ฟิจิ กับ อาร์เจนติน่า ที่เป็นทีมชั้นดี

ทางซีกโลกเหนือเส้นศูนย์สูตรก็มีทีมในกลุ่มซิกซ์เนชั่นส์อย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส สกอตแลนด์ เวลส์ และ ไอร์แลนด์ ที่แข็งแกร่ง ทะลุเข้าไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย รอบตัดเชือก หรือกระทั่งเข้าชิงได้บ่อยๆ เช่นกัน

เพียงแต่ท้ายที่สุดแล้ว "ใต้" มักจะพิฆาต "เหนือ" อยู่ร่ำไป

ไม่กวาดเรียบตั้งแต่รอบตัดเชือกก็ไล่ทุบในนัดชิง ทีมจากซีกโลกเหนือเข้าชิงรักบี้ชิงแชมป์โลกไม่ใช่เรื่องแปลก ใน 9 สมัยที่ผ่านมา อังกฤษ กับ ฝรั่งเศส สองตัวแทนจากทางเหนือผ่านเข้าชิงรวมกันได้ถึง 7 หน (อังกฤษ 4 ฝรั่งเศส 3) แต่มีเพียง "กุหลาบแดง" อังกฤษ เมื่อปี 2003 ครั้งเดียวเท่านั้นที่ไปถึงแชมป์ ด้วยตีนมหัศจรรย์ของ จอนนี่ วิลกินสัน

คล้ายกับว่าเมื่อถึงเวลาเข้าด้ายเข้าเข็ม ดีกรีและตบะของ ออลล์แบล็คส์ วอลลาบีส์ และ สปริงบ็อกส์ จะทำให้พวกเขาตัวใหญ่ขึ้นไปอีกเท่าตัวจนกลายเป็นกำแพงที่เหล่าทีมเหนือเอาชนะเด็ดขาดไม่ได้สักทีในสังเวียนเวิลด์คัพ

ทีมเหนือบางทีมอย่าง ไอร์แลนด์ ต่อให้เก่งและพร้อมขนาดไหนก็ไม่เคยไปไกลเกินกว่ารอบ 8 ทีมสุดท้ายจนกลายเป็นอาถรรพ์ไปแล้ว ชิงแชมป์โลกปีนี้ขุนพลไอริชเป็นเต็งหนึ่งจากผลงานสุดยอดคว้าแชมป์ซิกซ์เนชั่นส์ด้วยการทำแกรนด์สแลม (ชนะรวดทั้ง 5 เกมที่ลงแข่ง) แต่ก็มาถูก ออลล์แบล็คส์ เขี่ยตกรอบก่อนรองชนะเลิศไปเรียบร้อย

เท่ากับว่าตลอด 10 สมัยที่เข้าร่วมชิงชัย ไอร์แลนด์ตกรอบแรก 1 ครั้ง ตกรอบเพลย์ออฟ 1 ครั้ง และอีก 8 ครั้งที่เหลือตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายทั้งหมด

รักบี้ชิงแชมป์โลก 9 สมัยที่ผ่านมา นิวซีแลนด์เป็นแชมป์ 3 ครั้ง แอฟริกาใต้เป็นแชมป์ 3 ครั้ง ออสเตรเลียเป็นแชมป์ 2 ครั้ง และอังกฤษเป็นแชมป์ 1 ครั้ง

ในศึก ฟร้องซ์ 2023 นี้ "วอลลาบีส์" ออสเตรเลีย กลายเป็นจิ้งโจ้ขากะเผลกถูกถีบร่วงไปตั้งแต่รอบแรก เป็นการไปไม่ถึงรอบน็อคเอาต์เป็นครั้งแรก ขณะที่เกมโดน เวลส์ ขยี้ยับ 6-40 จุดนั้นยังเป็นความพ่ายแพ้ที่ยับเยินที่สุดในประวัติศาสตร์ชิงแชมป์โลกของตัวเองอีกด้วย

แชมป์โลกจาก 4 ทีมก็เลยเหลือ 3 ทีม คือ นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ และ อังกฤษ แต่ทั้ง 3 ทีมต่างก็ตะลุยผ่านรอบ 8 ทีมสุดท้ายเข้าสู่รอบรองชนะเลิศได้ด้วยกันทั้งหมด

4 คู่ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายนั้นระทึกใจกันทั้งหมด แอฟริกาใต้เบียดเจ้าภาพแค่แต้มเดียว อังกฤษ กับ นิวซีแลนด์ ก็กำชัยเหนือ ฟิจิ และ ไอร์แลนด์ ชนิดหายใจไม่ทั่วท้อง อาร์เจนติน่าก็เร่งเครื่องแซงเวลส์เข้าป้าย

ในรอบรองชนะเลิศรักบี้ชิงแชมป์โลกครั้งนี้ มีสถานการณ์ 3 รุม 1 อยู่สองเรื่องครับ

เรื่องแรก.. 3 ทีมแชมป์โลก (นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ อังกฤษ) รุม 1 ทีมที่ยังไม่เคยแม้กระทั่งเข้าชิง (อาร์เจนติน่า)

เรื่องที่สอง.. 3 ทีมซีกโลกใต้ (อาร์เจนติน่า นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้) รุม 1 ทีมซีกโลกเหนือ (อังกฤษ)

ใจผมเชียร์ออลล์แบล็คส์อยู่แล้ว แต่ดูเหมือนวงการกีฬาของอาร์เจนติน่ากำลังเฟื่องฟูอย่างไรพิกล แชมป์ฟุตบอลโลกเมื่อปลายปีก่อนคล้ายจะปลุกความคึกคักให้กลับมา สีฟ้าขาวกำลังสว่างไสว มันก็เลยหวาดเสียวอยู่ลึกๆ เหมือนกัน

ตีสองคืนนี้ (ศุกร์ที่ 20 ต.ค.) "ออลล์แบล็คส์" นิวซีแลนด์ จะพบกับ อาร์เจนติน่า จากนั้นอีกหนึ่งวัน ตีสองคืนวันเสาร์ที่ 21 ต.ค. อังกฤษ จะพบกับ แอฟริกาใต้

ผู้แพ้ไปชิงอันดับสามกันคืนวันศุกร์หน้า ส่วนผู้ชนะไปแย่งแชมป์โลกกันในคืนวันเสาร์ที่ 28 ต.ค. ที่ สต๊าด เดอ ฟร้องซ์ กรุงปารีส

ใครจะได้แชมป์ก็คู่ควรทั้งนั้น พวกคุณผ่านความสมบุกสมบันกันมาตลอดเกือบสองเดือน ขอแสดงความยินดีล่วงหน้ากับแชมป์โลก 2023 ด้วยนะครับ

ตังกุย


ที่มาของภาพ : gettyimages
BY : ตังกุย
ณัฐพล ดำรงโรจน์วัฒนา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport