ฌอน คว่ำแชมป์เก่า ลุ้นสร้างวีรกรรมเหมือน พอล ฮันเตอร์

ฌอน คว่ำแชมป์เก่า ลุ้นสร้างวีรกรรมเหมือน พอล ฮันเตอร์
เริ่มคู่แรกก็เกิดเหตุการณ์พลิกล็อกกันแล้ว สำหรับสนุกเกอร์รายการใหญ่ระดับทริปเปิลคราวน์ทัวร์นาเมนต์ อย่างศึกมาสเตอร์ส 2023 ณ อเล็กซานดราพาเลซ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

หลัง "พ่อมดน้อย" ฌอน เมอร์ฟี่ นักสอยคิวมือ 11 ของโลกจากอังกฤษ จัดการโค่นแชมป์เก่าอย่าง นีล โรเบิร์ตสัน มือ 3 ของโลกจากออสเตรเลีย ที่ถูกยกให้เป็นเต็ง 2 ที่จะคว้าแชมป์ไปอย่างเหลือเชื่อ 6-4 เฟรม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา

แมตช์นี้ อดีตแชมป์โลกปี 2005 ทำท่าจะคว้าชัยได้ไม่ยาก เมื่อออกสตาร์ทอย่างร้อนแรง จนขึ้นแท่นนำไปก่อนถึง 5-1 เฟรม

ทว่าหลังจากนั้น จอมคิวจากแดนจิงโจ้ ที่ตกอยู่ในสถานการณ์หลังพิงฝา กลับฮึดสู้จนไล่จี้มาเหลือ 4-5 เฟรม โดยเฟรมที่ 9 นีล ยังเกือบทำแม็กซิมั่มเบรกอีกด้วย หลังกดไม้เดียว 104 แต้ม จากการตบแดง-ดำไป 13 ชุด ก่อนจะพลาดแดงลูกที่ 14 อย่างน่าเสียดาย จนโมเมนตัมเกม ณ เวลานั้น ทำท่าว่าจะกลับมาอยู่กับทางฝั่งแชมป์เก่า

อย่างไรก็ตาม ในเฟรมที่ 10 ระหว่างที่ นีล กำลังจะเข้าเบรกเพื่อปล้นอยู่นั้น กลับตบน้ำเงินหลุมกลางซ้ายพลาด เปิดโอกาสให้ ฌอน ลุกขึ้นมาเข้าเบรก ก่อนจะปิดแมตช์ด้วยการเอาชนะไปได้ในที่สุด 6-4 เฟรม ผ่านเข้ารอบ 8 คนไปรอพบผู้ชนะคู่ระหว่าง ไคเรน วิลวัน มือ 8 ของโลกจากอังกฤษ กับ สจวร์ต บิงแฮม มือ 14 ของโลกจากชาติเดียวกันต่อไป 

ความพ่ายแพ้ของ นีล โรเบิร์ตสัน คราวนี้ ทำให้เป็นศึกมาสเตอร์สหนที่ 16(จากทั้งหมด 49 ครั้ง) ที่แชมป์เก่าต้องจอดป้ายตั้งแต่รอบแรก

นอกจากนี้ ยังทำให้นักสอยคิวผมบลอนด์ทองจากนครเมลเบิร์น กลายเป็นแชมป์เก่าคนที่ 15 ที่หมดสิทธิ์รักษาถ้วยแชมป์ไว้กับตัวเอง ตั้งแต่แมตช์แรกที่ลงชิงชัย

โดย 14 แชมป์เก่า ที่ต้องตกรอบแรกในศึกมาสเตอร์สก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย ดั๊ก เมาท์จอย(เวลส์) ปี 1978, เพอร์รี่ แมนส์ (แอฟริกาใต้) ปี 1980, คลิฟฟ์ ธอร์เบิร์น (แคนาดา) ปี 1984, เดนนิส เทย์เลอร์ (ไอร์แลนด์เหนือ) ปี 1988, จอห์น ฮิกกินส์ (สกอตแลนด์) ปี 2000 กับปี 2007, แมทธิว สตีเวนส์(เวลส์) ปี 2001, พอล ฮันเตอร์(อังกฤษ) ปี 2005, รอนนี่ โอซัลลิแวน (อังกฤษ) ปี 2008, มาร์ค เซลบี้ (อังกฤษ) ปี 2011, ติง จุ้น ฮุย (จีน) ปี 2012, ฌอน เมอร์ฟี่(อังกฤษ) ปี 2016, มาร์ค อัลเลน (ไอร์แลนด์เหนือ) ปี 2019, จัดด์ ทรัมป์(อังกฤษ) ปี 2020 และ แหยน ปิ่ง เทา(จีน) ปี 2022    

ส่วน ฌอน เมอร์ฟี่ แม้จะสามารถหักปากกาเซียน ด้วยการโค่น นีล โรเบิร์ตสัน ในรอบแรก(รอบ 16 คน) ของศึกมาสเตอร์สคราวนี้ได้สำเร็จ ทว่าเขาอาจจะต้องสะดุ้งโหยง หากได้มาเห็นสถิติ ในเรื่องที่กำลังจะพูดถึงต่อจากนี้

ในศึกมาสเตอร์ส 15 ครั้งที่ได้กล่าวมา ที่แชมป์เก่าต้องตกรอบแรก ปรากฏว่าคนที่เขี่ยแชมป์เก่าพ้นจากทัวร์นาเมนต์ตั้งแต่แมตช์แรก มักจะไม่ค่อยได้แชมป์แต่อย่างใด

มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ทำสำเร็จ ซึ่งเกิดจากวีรกรรมของ "เบ็คแฮมแห่งวงการสอยคิว" พอล ฮันเตอร์ ตำนานสอยคิวจากอังกฤษ ที่ได้ลาโลกนี้ไปแล้วเมื่อปี 2006 ด้วยวัยเพียง 27 ปี จากการเป็นโรคมะเร็ง

ในศึกมาสเตอร์ส 2001 เมื่อ 22 ปีก่อน ฮันเตอร์ ที่เพิ่งจะได้สิทธิ์ดวลคิวรายการนี้เป็นหนที่ 3 ประเดิมรอบแรกในฐานะมวยรอง แต่จัดการหักปากการเซียน ด้วยการเชือด แมทธิว สตีเวนส์ จากเวลส์ ที่เป็นรองแชมป์โลกครั้งล่าสุดในเวลานั้น(รองแชมป์โลก 2000) ไปอย่างเหลือเชื่อ 6-5 เฟรม ทั้งๆที่โดนขึ้นแท่นนำไปก่อน 5-4 เฟรม

ก่อนที่เทพบุตรแห่งวงการคิวโลกผู้นี้ จะก้าวไปคว้าแชมป์มาสเตอร์สสมัยแรกมาครองในท้ายที่สุด ซึ่งรอบชิง เขาเอาชนะ เฟอร์กัล โอไบรอัน จากไอร์แลนด์ไปอย่างดราม่า 10-9 เฟรม

นั่นคือศึกมาสเตอร์เพียงครั้งเดียว ที่คนที่เขี่ยแชมป์เก่าตกรอบแรก สามารถโบยบินไปถึงตำแหน่งแชมป์ จึงน่าติดตามไม่น้อยว่า ฌอน เมอร์ฟี่ จะเป็นคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ ที่ทำได้เหมือนดั่ง พอล ฮันเตอร์ เมื่อ 22 ปีก่อนหรือไม่

นอกจากคู่ระหว่าง ฌอน กับ นีล แล้ว อีกคู่ในวันเดียวกัน กลับเกิดผลการแข่งขันที่พลิกล็อกยิ่งกว่าเมื่อ ฮอสเซน วาฟาอี มือ 19 ของโลกจากอิหร่าน ที่ทำศึกมาสเตอร์สหนนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต ในฐานะมวยแทน จัดการโค่นเต็ง 4 ของรายการอย่าง มาร์ค เซลบี้ มือ 2 ของโลกจากอังกฤษไปแบบเซอร์ไพรส์ 6-2 เฟรม

ทำให้แค่วันแรก มีตัวเต็งแชมป์ลำดับต้นๆ ต้องกระเด็นตกรอบไปแล้วถึง 2 คนเลยทีเดียว

ปิดท้ายกันที่เรื่องของ พอล ฮันเตอร์ นิดนึงก็แล้วกัน หลังจากเขาคว้าแชมป์มาสเตอร์สหนแรกเมื่อปี 2001 แล้ว เขายังคว้าแชมป์รายการนี้มาครองอีก 2 หน ในปี 2002 และ 2004

ไม่น่าเชื่อว่า สกอร์ในรอบชิงที่ ฮันเตอร์ คว้าแชมป์ คือการเอาชนะคู่แข่งด้วยสกอร์ 10-9 เฟรมเหมือนกันทั้ง 3 ครั้ง ทั้งการปราบ เฟอร์กัล โอไบรอัน ในปี 2001, สยบ มาร์ค เจ วิลเลียมส์ ในปี 2002 และพลิกโค่นเพื่อนรักอย่าง รอนนี่ โอซัลลิแวน ในปี 2004 ทั้งๆที่แมตช์นี้ตามหลังในเซสชั่นแรกถึง 2-7 เฟรม

การเถลิงบัลลังก์แชมป์มาสเตอร์ส 3 หน ภายในห้วงเวลาเพียง 4 ปี(2001-2004) แถมยังคว้าชัยเหนือคู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศไปอย่างระทึกใจทั้ง 3 ครั้งอีกต่างหาก นับเป็นโมเมนต์แห่งความประทับใจ ที่สถิตย์อยู่ในความทรงจำของแฟนสนุกเกอร์มาโดยตลอดอย่างมิเสื่อมคลาย 

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ในปี 2016 ทางองค์กรคิวโลก ได้ตั้งชื่อถ้วยรางวัลของศึกมาสเตอร์ส ให้มีชื่อว่า "พอลฮันเตอร์โทรฟี่" เพื่อเป็นเกียรติให้กับอดีตแชมป์มาสเตอร์ส 3 สมัยผู้นี้ แม้เขาจะลาโลกนี้ไปนาน นับตั้งแต่ปี 2006 แล้วก็ตาม

ถิรพัฒน์ ณ ลำปาง


ที่มาของภาพ : gettyimages
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport