"บิ๊กเอ" ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ชื่นชม 6 แผนงานมวยไทยซอฟต์พาวเวอร์ เดินหน้าไหลลื่นไปด้วยดี คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา ประชุมสรุปการดำเนินงาน มวยไทยซอฟต์พาวเวอร์ ในช่วงที่ผ่านมา โดยทั้ง 6 แผนงาน ได้แก่ การรวบรวมองค์ความรู้และการจัดทำหลักสูตรมาตรฐานกีฬามวยไทย, การเพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพของบุคคลในวงการกีฬามวย, การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการแข่งขันมวยไทยทุกระดับ, การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์มวยไทยทั้งในและต่างประเทศ, การรับรองมาตรฐานมวยไทยสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศ และ การกำกับควบคุม เร่งรัด ติดตามประเมิน และรายงานผล คืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ
ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา ครั้งที่ 8/2567 พร้อมด้วย นายไพฑูร ชุติมากรกุล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านกีฬา นายปรีชา ลาลุน รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย และคณะอนุกรรมการฯ เข้าประชุมพร้อมเพรียงกัน ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 7 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย วันที่ 5 มิ.ย. 2567
ที่ประชุม ได้สรุปความคืบหน้าในการดำเนินงาน มวยไทยซอฟต์พาวเวอร์ ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา ตามนโยบายและแผนการพัฒนา โดยแบ่งเป็น 6 แผนงาน ดังนี้ 1. การรวบรวมองค์ความรู้และการจัดทำหลักสูตรมาตรฐานกีฬามวยไทย ดำเนินการสถาบันมวยไทย ศึกษาโครงสร้างรูปแบบการจัดตั้ง เบื้องต้นมีการดำเนินการปรับโครงสร้างดังกล่าวอยู่ภายใต้ กกท. โดยต้องพิจารณาให้ครบทุกมิติ ข้อดี ข้อเสีย ตามมติคณะรัฐมนตรี, การจัดทำหลักสูตรมาตรฐานกลางกีฬามวยไทย MTSO ได้ดำเนินการนำหลักสูตรที่ได้รับไปใช้ในการพัฒนา การอบรมผู้ฝึกสอนระดับ License การพัฒนาผู้ตัดสิน รวมถึงนำไปใช้ในการขับเคลื่อนศูนย์ทดสอบมาตรฐานสมรรถนะมวยไทย ในอนาคต
2. การเพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพของบุคคลในวงการกีฬามวย มีการจัดอบรมผู้ฝึกสอนระดับ License ได้ดำเนินการไป 2 รุ่น และตามแผนวางไว้อีก 3 ครั้งในปีนี้, การส่งเสริมค่ายมวยไทยสู่มาตรฐาน และการส่งเสริมมวยไทยในสถานศึกษา (Muaythai for All) โดยเป้าหมายได้ 57 ค่ายมวยทั่วประเทศ และ 23 สถานศึกษา ในกรุงเทพมหานคร โดยได้ทำการเปิดและสอนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา
3. การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการแข่งขันมวยไทยทุกระดับ ได้ดำเนินการตามแผน เบื้องต้นในระยะแรกดำเนินการโดยใช้งบประมาณประจำปี และจะบูรณาการร่วมกับงบประมาณ Soft Power ต่อไป
4. การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์มวยไทยทั้งในและต่างประเทศ ได้ขอความอนุเคราะห์ตรวจลงตราหนังสือเดินทาง ได้นำเสนอ เรื่องของวีซ่า ตัวใหม่ (DTV) Destination Thailand Visa สำหรับผู้ประสงค์จะพำนักในประเทศไทยเพื่อทำงานและท่องเที่ยว อาทิ เรียนมวยไทยและศิลปะป้องกันตัว การเรียนและฝึกซ้อมกีฬา โดยได้รับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย ซึ่งระยะแรกอยู่ได้ 180 วัน และสามารถอยู่ต่อในประเทศอีก 1 ครั้ง ได้ถึง 1 ปี แต่ต้องการันตีเรื่องของรายได้ 500,000 บาท เสียค่าธรรมเนียม 10,000 บาท
รวมทั้ง การจัดโร้ดโชว์เผยแพร่มวยไทยในประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 23-26 พ.ค. 2567 ได้นำมวยไทยไปเผยแพร่ในงาน "Tout a fait thai" และตรวจเยี่ยมค่ายมวยไทยในปารีส โดยความร่วมมือจากสถานทูตประจำฝรั่งเศส อีกทั้ง คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมค่ายมวยไทย ที่จังหวัดภูเก็ต ดูมาตรฐานค่ายมวย สำรวจนักมวยต่างชาติที่เข้าเรียนมวยไทยในค่ายต่างๆ และรายงานความคืบหน้าการจัดงานประชุมนานาชาติด้าน Soft Power Forum วันที่ 28-30 มิ.ย. 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยด้านกีฬาได้นำมวยไทยไปเผยแพร่ เป็นการนำเสนอผลงาน เชิญนักมวยที่มีชื่อเสียงมาพูดคุยแสดงวิสัยทัศน์
5. การรับรองมาตรฐานมวยไทยสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศ มีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบและรับรองมาตรฐานสมรรถนะมวยไทย เปิดการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 ได้ดำเนินการเป็นเป้าหมายที่กำหนดไว้และจะต่อยอดให้ครบทุก 5 ภาค ทั่วประเทศ และ 6. การกำกับควบคุม เร่งรัด ติดตามประเมิน และรายงานผล ได้กำกับควบคุม และเร่งรัด ติดตามประเมินผล ให้เป็นไปตามแผนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกีฬามวย ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ การเพิ่มจำนวน การสร้างการรับรู้ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ที่ประชุมรับทราบ พร้อมนำเสนอความคิดเห็นในด้านต่างๆ เป็นประโยชน์ที่ดี ในการพัฒนามวยไทยซอฟต์พาวเวอร์ต่อไป