"การกีฬาแห่งประเทศไทย" (กกท.) ภายใต้การดูแลของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีความมุ่งมั่นในการกำกับดูแลดูแล ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์ เผยแพร่ และพัฒนากีฬามวย เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติที่มั่นคงและยั่งยืน เนื่องจาก "มวยไทย" นอกจากจะเป็นกีฬาแล้ว ยังเป็นศิลปะการต่อสู้และมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงและโด่งดังไปทั่วโลก ที่สำคัญยังมีศักยภาพในการต่อยอดสู่การให้เป็น "Soft Power" ของประเทศไทยได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ "การกีฬาแห่งประเทศไทย" ได้ให้ความสำคัญ นั่นคือ การยกระดับกีฬามวยไทยให้มีโครงสร้างการแข่งขันที่ได้มาตรฐาน สามารถสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงกีฬามวยไทยมากขึ้น จึงได้ร่วมมือกับ "กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ" ตลอดจนพันธมิตรต่างๆ จัดการแข่งขัน “มวยไทยในท้องถิ่นจากรากหญ้าสู่สากล" ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ระบุว่า กกท. เดินหน้าอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมพัฒนากีฬาของชาติ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศ กีฬาอาชีพ และการสร้างเศรษฐกิจ รวมทั้งยังให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างมูลค่าจากอุตสาหกรรมกีฬา โดยเฉพาะการส่งเสริมสนับสนุนกีฬามวยไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ โดยครั้งนี้ได้ยกระดับการจัดแข่งขันให้ดีขึ้นนในทุกด้าน
"กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการกีฬาแห่งประเทศไทย มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะใช้มวยไทยเป็นกลไกสำคัญในการสร้าง Soft Power เนื่องจากเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ได้รับความนิยม มีความงดงามในท่วงท่าการเคลื่อนไหว รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้ในการออกกำลังกาย ตลอดจนต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมกีฬาได้เป็นอย่างดี ซึ่งหลังจากเฟ้นหายอดมวยกันมาหลายเวที จนถึงรอบรองชนะเลิศ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ" ดร.ก้องศักด ยอดมณี กล่าว
สำหรับรูปแบบการแข่งขันจะแบ่งออกเป็นรอบคัดเลือกระดับภาค ช่วงเดือน มีนาคม-มิถุนายน พ.ศ.2566 พร้อมคัดเลือกนักกีฬาจำนวน 2 คนต่อรุ่น เข้าสู่การแข่งขันแบบแพ้คัดออก รอบชิงชนะเลิศระดับภาค ช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2566
กระทั่งเข้าสู่รอบรองชนะเลิศประเทศไทย จัดชิงชัยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน พ.ศ.2566 ที่เวทีมวยชั่วคราวประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับความสนใจจากแฟนหมัดมวย ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างล้นหลาม บรรยากาศการแข่งขันเป็นไปอย่างดุเดือด เข้มข้น เร้าใจ เรียกเสียงฮือฮาได้ตลอดรายการ
ผลการแข่งขันมีดังนี้ มวยชาย รุ่น 112 ปอนด์ เพชรโพธิ์งาม ส.คงกระพัน (เชียงราย) ชนะ แคมารูน ศิษย์ลมหนาว (ระยอง)/ มานะชัย ผดุงชัยมวยไทยยิม (พิษณุโลก) แพ้ นิวปกรณ์ ม.รวมใจเพื่อน (นราธิวาส)
รุ่น 115 ปอนด์ เสือคิม ศ.ทรัพย์ไพรวัลย์ (พิษณุโลก) แพ้ ไกรทอง สุราษฎร์ยิมส์ (สุราษฎร์ธานี)/ นำสุข บุญลานนามวยไทย (เชียงใหม่) ชนะ แอนฟิลดิ์ ศิษย์ป๋าหรั่ง (พระนครศรีอยุธยา)
รุ่น 118 ปอนด์ แหวนเพชร เกียรติทอฝัน (อุบลราชธานี) แพ้ เพชรอันวา สานฝันกีฬานาทวี (ปัตตานี)/ เพชรบ้านดอน เพชรแสงทอง (ยโสธร) แพ้ พลังเพชร ช.แชมป์เปี้ยน (สระแก้ว)
รุ่น 126 ปอนด์ ปิ่นสยาม ศิษย์บอลสกล (สกลนคร) ชนะ สุดสาคร ศิษย์ดาบทวน (อ่างทอง)/ เรือนทอง โรงเรียนกีฬาขอนแก่น (ขอนแก่น) แพ้ บุเรงนอง เบียร์ภาคระนอง (ระนอง)
รุ่น 135 ปอนด์ เสือเพชร โรงเรียนกีฬาโคราช (นครราชสีมา) ชนะ เจนภพ ม.ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (ราชบุรี)/ ฉัตรชัยเล็ก ศิษย์ทองปาน (มหาสารคาม) แพ้ สิบแสน ศิษย์ไชโย (นครสวรรค์)
มวยหญิง รุ่น 118 ปอนด์ เพชรกัญญา อ.จิระติวเตอร์ (ชัยภูมิ) ชนะ บัวชมพู พ.เมืองเพชร (สมุทรปราการ)/ ชบาแก้ว ส.แก่นจันทร์ชัย (บุรีรัมย์) ชนะ เพชรมณี ศิษย์ไชโย (นครสวรรค์)
ผู้ชนะทั้ง 12 คน จากทั้งหมด 6 รุ่น จะได้สิทธิ์ตีตั๋วผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศประเทศไทย นัดดวลหาสุดยอดมวยไทยฝีมือดีเพียงหนึ่งเดียวในแต่ละรุ่น วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2566 ที่ชายหาดอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ ชิงรางวัลกว่า 2 แสนบาท พร้อมมอเตอร์ไซค์ Royal Enfield เริ่มแข่งขันเวลา 18.00 น. และถ่ายทอดสด ทางพีพีทีวี เอชดี 36 เวลา 20.30 น. รวมทั้งสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ "มวยไทยรากหญ้า Muaythai Rakya”
นับตั้งแต่การแข่งขันรอบคัดเลือกระกับภาค ขับเคี่ยวมาจนถึงรอบชิงชนะเลิศประเทศไทย เรียกได้ว่าเป็นการคัดเลือกที่เข้มข้นในทุกเวที การันตีได้ว่า "รอบชิงชนะเลิศประเทศไทย" จะต้องอัดแน่นไปด้วยคุณภาพ ความมัน และสีสันอย่างครบรส ขณะที่เวทีจะถูกเนรมิตอย่างยิ่งใหญ่กลาง "อ่าวนาง" แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างแน่นอน การกีฬาแห่งประเทศไทย ขอเชิญชวนผู้สนใจมาร่วมเป็นพลังในการขับเคลื่อน "วงการมวยไทย" สร้างคุณค่าด้านกีฬา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และก้าวสู่สากลไปด้วยกัน
กองประชาสัมพันธ์ กกท.