"ส.มวยอาชีพ" จับมือ "กกท.-กองทุนฯ" จัดอบรม Work Shop รวมถึงผลิต และเผยแพร่หลักสูตร "มวยไทย 9 ขั้น" ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์ "รองน้อย" นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม รองผู้ว่าการ กกท. เชื่อช่วยยกระดับมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมสร้างแรงบันดาลใจยุวชนเยาวชนสนใจมวยไทยมากขึ้น เพื่อพัฒนาสู่กีฬาอาชีพอย่างเป็นระบบ และเพิ่มบุคลากรวงการมวยไทยให้มี "One Standard Muaythai" มาตรฐานเป็นหนึ่งเดียว และนำไปเผยแพร่สู่นานาชาติต่อไป
สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย ร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) โดยสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) จัดกิจกรรมอบรม Work Shop รวมถึงผลิต และเผยแพร่หลักสูตร "มวยไทย 9 ขั้น" ณ ลานด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 โดยมี "รองน้อย" นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม รองผู้ว่าการฝ่ายกีฬาอาชีพ และกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม
ภายในงานยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านมวยไทย เข้าร่วมการเสวนา ประกอบด้วย "ชาติซ้าย" นายสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย, ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ นายกสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยฯ และประธานสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (อิฟม่า), ดร.ปัญญา หาญลำยวง คณะกรรมการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของกองทุนฯ รวมทั้งผู้ฝึกสอน ผู้ช่วยปฏิบัติงานมวย นักกีฬา นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการกีฬามวยไทย อาทิ วรพจน์ เพชรขุ้ม อดีตนักชกฮีโร่เหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์ 2004 และนักมวยต่างๆ เข้าร่วมด้วยอย่างคับคั่ง
บรรยากาศในพิธีเปิดตัวกิจกรรมอบรม Work Shop รวมถึงผลิต และเผยแพร่มวยไทย 9 ขั้น เริ่มด้วยการด้วยบทเพลง We Are Muaythai ขับร้องโดยศิลปิน ณัฐธนัญ แซ่เจา โรดริเกซ ตามด้วยกิจกรรมบนเวทีกับการไหว้ครู กับครูเช้า วาทโยธา ครูมวยไทยนานาชาติ, กิจกรรมมวยไทย ซอฟต์ เพาเวอร์ และร่วมพูดคุยกับ Young Designer ในการออกแบบศิลปะมวยไทยบนเสื้อผ้านักมวย
หลังจากนั้นเป็นกิจกรรม Work shop มวยไทยรากหญ้าสู่โอลิมปิกเกมส์ และมวยไทยอาชีพกับสุดยอดมวยดัง ตามด้วยการแสดงศิลปะการป้องกันตัวด้วยแม่ไม้มวยไทยจากเยาวชน, การแสดงแฟชั่นโชว์มวยไทย ซอฟต์ เพาเวอร์ จากมิสแกรนด์ทั่วประเทศ พร้อมพบกับดีไซเนอร์ระดับแถวหน้าของเมืองไทย ปิดท้ายด้วยการแสดงจากศิลปินนักร้อง ซอฟต์ เพาเวอร์ อย่าง กระแต - กระต่าย อาร์สยาม และกฤษ เคทีโกรว์
สำหรับการจัดกิจกรรมอบรมครั้งนี้ วงเสวนาได้มีการหารือกันอย่างกว้างขวางถึงการทำให้มวยไทยมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ซึ่งทางกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) โดย “ดร.หญิง” ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนฯ ได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมอบรม และทดสอบทักษะ และความรู้ของมวยไทย เพื่อให้ได้รับใบรับรองที่ออกโดย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (อิฟม่า) ให้เป็น “One Standard Muaythai” ที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก
"รองน้อย" นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม กล่าวว่า มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ชั้นนำโลกของประเทศไทยที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนแพร่หลายทั่วโลก และมีชาวต่างชาติให้ความสนใจเรียนมวยไทยกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่างมีรูปแบบการสอนจากครูมวยที่หลากหลาย โดยทางสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย กกท. พยายามรวบรวมองค์ความรู้จากทุกแหล่งในประเทศไทย เพื่อเป็นหลักสูตรมาตรฐานกลางของไทย แต่ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร
นายทนุเกียรติ กล่าวอีกว่า ทางมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ได้จัดทำหลักสูตรมวยไทย 9 ขั้นนี้ขึ้นมา ซึ่งระหว่างนี้เราก็จะนำหลักสูตรนี้สามารถนำมาใช้เผยแพร่ไปสู่คนวงการมวยไทยได้รับทราบได้เลย โดยหวังว่าหลักสูตรมวยไทย 9 ขั้นจะช่วยยกระดับมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อใช้เผยแพร่ในประเทศ และองค์กรระดับนานาชาติอย่าง สหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (อิฟม่า) จึงต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติ ที่ได้จัดทำหลักสูตรนี้ขึ้นมา
"ชาติซ้าย" นายสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ เปิดเผยว่า สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย ร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) ดำเนินการโครงการอบรม Work Shop รวมถึงผลิต และเผยแพร่หลักสูตรมวยไทย 9 ขั้น ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 - พฤษภาคม 2566 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 1,500 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิครูมวยไทย ผู้ฝึกสอน ผู้ช่วยปฏิบัติงานมวย นักกีฬา นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการกีฬามวยไทย
"วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับยุวชน เยาวชน ให้มาสนใจกีฬามวยไทย และรู้จักศิลปะการต่อสู้ของประเทศไทย และเพื่อสืบสานต่อไป รวมทั้งการส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนากีฬาอาชีพ และกีฬามวยอย่างเป็นระบบ พร้อมกับช่วยส่งเสริม และพัฒนายุวชน เยาวชน ให้มีโอกาสที่จะเติบโตบุคลากรการกีฬา และนันทนาการมีคุณภาพ และมาตรฐานเพิ่มขึ้น และสามารถพัฒนาบุคลากรด้านกีฬามวยให้มีมาตรฐานเป็นหนึ่งเดียว และนำไปเผยแพร่สู่นานาชาติด้วยมาตรฐานที่ผ่านการรับรองจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และองกรค์ระดับนานาชาติของมวยไทย"
นายสมชาติ กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรัยผลที่คาดหวังจากการจัดกิจกรรม Work Shop ครั้งนี้ เราต้องการให้คนโดยทั่วไปมีความสนใจในกีฬามวยไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 80 รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของบุคลากรที่มีความรู้ทางการกีฬามวยไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 และต้องการที่จะให้มีเยาวชนการให้ความสนใจเรื่องการเข้าศึกษาต่อในด้านกีฬา เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 อีกด้วย