นายกองเอก ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ COO SEAGF. Office และรองประธานกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ พร้อมด้วย นพ.วารินทร์ ตัณฑ์ศุภศิริ, ศ.(พิเศษ)เจริญ วรรธนะสิน มนตรีซีเกมส์ และ รองประธานกรรมการโอลิมปิคฯ พร้อมด้วย พลเอก มังกร โกสินทรเสนีย์ หัวหน้าสำนักงานเลขาธิการฯ ร่วมแถลงข่าวและชี้แจงเรื่องกีฬามวยเขมร หรือ KUN KHMER ในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 32 รวมถึงการถ่ายทอดสดการแข่งขัน โดยยืนยันไม่ส่งนักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขันกุนขแมร์ในซีเกมส์ครั้งนี้
นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ พร้อมด้วย ศ.(พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน และ นพ.วารินทร์ ตัณฑ์ศุภศิริ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะมนตรีซีเกมส์ ร่วมกันแถลงข่าวถึงการแข่งขันกีฬามวยไทย ในชื่อกุน ขแมร์ ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ที่สำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ถนนศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา
"บิ๊กแน็ต" ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ กล่าวว่า ในการประชุมกำหนดชนิดกีฬาที่ผ่านมา มีการกำหนดกีฬามวยไทยแข่งขันชิงทั้งหมด 17 เหรียญทองมาโดยตลอด จนถึงการกำหนดชนิดกีฬาครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่มีการตัดชนิดกีฬาเพาะกายกับลีลาศออก จากนั้นในการส่งคู่มือการแข่งขันให้แต่ละประเทศครั้งแรกของกัมพูชา เมื่อวันที่ 14 มกราคม ยังคงใช้สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (อิฟม่า) เป็นผู้จัดการแข่งขันอยู่ แต่หลังจากนั้นในวันที่ 18 และ 30 มกราคม ได้มาเปลี่ยนเป็นสหพันธ์กุนขแมร์นานาชาติ (เคไอเอฟ) ดูแลแทน
"ในการประชุมสำนักงานซีเกมส์ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการพูดถึงเรื่องของกุนขแมร์มาก่อนเลย มีเพียงการทำหนังสือเปลี่ยนชื่อมา พร้อมกับมีการวงเล็บคำว่ามวย เอาไว้หลังคำว่ากุนขแมร์แทน ซึ่งประเด็นนี้คณะกรรมการโอลิมปิคไทยฯ ไม่สามารถเข้าไปขัดขวางได้ เพราะไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ" บิ๊กแน็ต กล่าว
ด้าน ศ.(พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน กล่าวว่า จริงๆแล้วประเทศใดก็ตามที่เป็นเจ้าภาพควรจะยึดธรรมนูญซีเกมส์เป็นบรรทัดฐานในการจัดการแข่งขัน ซึ่งในธรรมนูญซีเกมส์ยืนยันชัดเจนว่ากีฬาใดๆ ที่จะจัดการแข่งขันจะต้องได้รับการรับรองจากสหพันธ์ที่ได้รับการรับรองโดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) หรือสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) แต่เคไอเอฟไม่มีหลักฐานการรับรองจากทั้งสองคณะกรรมการใดๆ เรื่องนี้ได้มีการแย้งและลงบันทึกในที่ประชุมมนตรีซีเกมส์ไปแล้ว แต่ถ้าสุดท้ายเจ้าภาพจะยังต้องการจัดต่อ ทางมนตรีซีเกมส์ก็ไม่เข้าไปก้าวล่วงเจ้าภาพแต่อย่างใด
ขณะที่ นพ.วารินทร์ ตัณฑ์ศุภศิริ กล่าวว่า ในธรรมนูญซีเกมส์เอง นอกเหนือจากการได้รับรองโดย 2 สหพันธ์แล้ว ก็จะต้องได้รับรองจากองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (วาด้า) ด้วย เท่ากับว่าการแข่งขันครั้งนี้ไม่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์กีฬาที่เป็นระดับนานาชาติใดๆเลย
นายชัยภักดิ์ กล่าวเสริมว่า เมื่อเจ้าภาพยืนยันว่าจะจัดการแข่งขันกุนขแมร์ ขณะที่ทางสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้รับคำเตือนจากอิฟม่าว่าห้ามส่งการแข่งขัน ฉะนั้นคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯก็จะไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกุนขแมร์ในซีเกมส์ครั้งนี้
ทั้งนี้ 3 มนตรีซีเกมส์ของไทยได้กล่าวปิดท้ายว่า จากเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ก็จะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะมีการเปลี่ยนแปลงกีฬากันตามใจชอบเจ้าภาพ เพราะว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงธรรมนูญการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ใหม่เพื่อรองรับการแข่งขันในอีก 2 ปีข้างหน้าที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ โดยจะปรับลำดับขั้นชนิดกีฬาใหม่ทั้งหมด จากเดิมกีฬาหลักมีแค่ 2 ชนิดคือกรีฑากับกีฬาทางน้ำ ก็จะเพิ่มมาเป็น 15-17 ชนิดกีฬา ที่อิงจากโอลิมปิกเกมส์และเอเชี่ยนเกมส์ และประเทศที่จะเป็นเจ้าภาพจะต้องจัดให้ได้ครบทุกชนิดกีฬา จากนั้นกีฬารองลงมาก็จะอยู่ที่เจ้าภาพเลือกนำมาใส่ และลำดับสุดท้ายคือกีฬาพื้นบ้าน จะถูกจำกัดให้เหลือแค่ 2-5 ชนิดกีฬาเท่านั้น โดยตอนนี้ไทยได้ทำบันทึกข้อตกลงกับมาเลเซีย เจ้าภาพ 2027 และสิงคโปร์ เจ้าภาพ 2029 แล้ว ว่าจากนี้ไป 3 ครั้งซีเกมส์จะใช้ชนิดกีฬาเดียวกันหมด ดังนั้นจะเป็น 3 ครั้งที่เป็นมาตรฐานที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ยอมรับว่าหนักใจเพราะจำเป็นต้องใช้ถึง 6-7 เสียงจาก 11 ประเทศ ในการเห็นชอบธรรมนูญใหม่นี้ แต่จะพยายามผลักดันให้ได้เพื่อความยั่งยืนของการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ให้เป็นกีฬาที่มีมาตรฐานที่ดีที่สุด