สองล้อนำวิทย์กีฬาพัฒนานักปั่นประเดิมกีฬายช.-ปั่นลู่ปทท.

สองล้อนำวิทย์กีฬาพัฒนานักปั่นประเดิมกีฬายช.-ปั่นลู่ปทท.
สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย นำวิทยาศาสตร์การกีฬาทุกแขนง เพื่อมาพัฒนานักกีฬาจักรยานไทย และนำมาวิเคราะห์พัฒนาศักยภาพต่อไป

"เสธ.หมึก" พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า จากการที่สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ร่วมมือกับ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในการนำวิทยาศาสตร์การกีฬาทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวกลศาสตร์, สรีระวิทยา, การเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ไปจนถึงด้านโภชนาการและการรักษาอาการบาดเจ็บให้แก่นักกีฬา เพื่อมาพัฒนานักกีฬาจักรยานไทย ล่าสุด รศ.ดร.ศิริรัตน์ หิรัญรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ หารือเกี่ยวการพัฒนาศัยกยภาพนักกีฬาระยะสั้น

พลเอกเดชา กล่าวว่า ในการหารือดังกล่าว รศ.ดร.ศิริรัตน์ ได้นำผลการวิเคราะห์การออกตัวของนักกีฬาจักรยานประเภทลู่ ที่ได้บันทึกภาพจากการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2565 ที่ผ่านมา  ทางคณะผู้เชี่ยวชาญจัดทำการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวร่างกายนักกีฬาในการออกสตาร์ต ทั้งเรื่องมุมข้อต่อของร่างกาย และองศาการเคลื่อนที่ลำตัวท่อนบน รวมถึงตำแหน่งจุดศูนย์ถ่วง นำมาเปรียบเทียบกับอัตราความเร่ง ความเร็วสูงสุด ความเร็วเฉลี่ย เพื่อชี้ให้เห็นว่ากระบวนการการเคลื่อนไหวของร่างกายมีส่วนสำคัญในการสร้างความเร็วของนักกีฬาจักรยาน โดยเฉพาะในประเภทลู่ระยะสั้น 

ขณะเดียวกันทางสตาฟฟ์โค้ชก็ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติของกีฬาจักรยาน ทั้งการใช้ร่างกายแต่ละส่วนในการแข่งขัน และเพิ่มเติมข้อมูลในส่วนสำคัญอื่น เพื่อให้ รศ.ดร.ศิริรัตน์และคณะ นำไปเตรียมการบันทึกข้อมูลเพื่อที่จะเริ่มนำกระบวนการวิเคราะห์การเคลื่อนที่มาตรวจวัด และวิเคราะห์นักกีฬาไทยเป็นรายบุคคลต่อส.กีฬาจักรยานฯ ใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาพัฒนานักกีฬาทีมชาติให้มีประสิทธิภาพ

ทางด้าน รศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าวว่า กระบวนการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว มีจุดประสงค์เพื่อให้นักกีฬาใช้กล้ามเนื้อ และร่างกายในส่วนที่ต้องการออกกำลังเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจงในการเล่นกีฬาอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด  เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ โดยเฉพาะชนิดกีฬาที่อาศัยการจับเวลาเพียงเสี้ยววินาทีในการแข่งขัน แม้ว่าในการพัฒนาดังกล่าว จะไม่สามารถเห็นผลได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่จะเป็นผลดีอย่างยิ่งในการพัฒนานักกีฬาระยะยาว  นอกเหนือจากที่สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ  จะสามารถสร้างนักกีฬารุ่นใหม่อย่างถูกต้องและยั่งยืนแล้ว กระบวนการชีวกลศาสตร์ที่ถูกต้อง ยังจะสามารถช่วยลดอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อผิด ๆ ได้เป็นอย่างดี 


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport