เปิดใจ 2 ช่างแอร์ ห่วงนักสูบพอต สูบบุหรี่ไฟฟ้าในบ้านทำปอดพัง ชี้แอร์ล้างได้แต่ปอดล้างไม่ได้ ขณะที่ สสส. เปิดตัวสปอตโฆษณา ‘ภัยร้ายบุหรี่ไฟฟ้า’ หวังคนไทยหยุดสูบเพื่อสุขภาวะ
หนึ่งในคอมเมนต์บนโลกออนไลน์หลัง ‘เฟิร์ส’ ช่างแอร์วัย 35 ปี เจ้าของร้านเฟิสท์แอร์บ้าน จังหวัดนครปฐม โพสต์เตือนภัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า หลังจากเดินทางไปล้างแอร์ให้ลูกค้าที่มักสูบบุหรี่ไฟฟ้าในห้องแอร์เป็นประจำมาไม่ต่ำกว่าร้อยตัว นี่คือคำบอกเล่าจากสถิติที่เขาเก็บมาโดยตลอด จนสามารถคาดเดาได้ว่า
‘เฟิร์ส’ ช่างแอร์วัย 35 ปี เจ้าของร้านเฟิสท์แอร์บ้าน บอกเล่าสิ่งที่พบเจอจากการล้างแอร์ในห้องที่มีบุหรี่ไฟฟ้า
"บุหรี่ไฟฟ้า เป็นตัวทำให้แอร์ตันและล้างไม่ออก เหนียว ๆ พอล้างได้ แต่ถ้ารอจนเเข็ง มันจะแข็งเหมือนพลาสติก เอาไม่ออก"
จากประสบการณ์ของเฟิร์ส พบว่าบ้านที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มักมีปัญหาแอร์ไม่เย็นบ่อยครั้ง เนื่องจากคอยล์เย็นสกปรกมากกว่าบ้านที่ใช้แอร์ตามปกติ เพราะเมื่อแกะแผ่นกรองออกมาทำความสะอาด จะพบคราบคล้ายวุ้นใสเกาะอยู่ หากปล่อยไว้นานวันและสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ คราบเหนียวเหล่านี้จะพัฒนากลายเป็นเชื้อราในท้ายที่สุด ส่วนบ้านที่สูบบุหรี่มวนจะพบคราบเหนียวสีส้ม คล้ายน้ำเลือดหรือน้ำหนอง แต่ปริมาณจะไม่เยอะเท่าบุหรี่ไฟฟ้า ต่างจากบ้านทั่วไปที่ตั้งอยู่ติดถนนใหญ่แอร์จะมีคราบเหนียวสีดำ คล้ายควันรถเกาะอยู่บริเวณดังกล่าวเหมือนฝุ่นทั่วไป แต่ไม่ได้มีลักษณะฟูคล้ายเชื้อรา
นี่คือปัญหาที่มักพบเป็นประจำ และยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในปัจจุบัน กลุ่มผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วงอายุที่ช่างแอร์อย่างเขาสังเกตเห็นคือ 18 ปี และ 20 – 35 ปี
“ถ้าเราสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วไม่ได้เรียกช่างแอร์ไปล้าง น่าจะไม่ต่างกับเรากำลังสูบบุหรี่ ซึ่งทำให้ปอดพังอยู่ดี เพราะทุกครั้งที่เปิดแอร์ แอร์จะมีความชื้นตลอดเวลา คราบต่าง ๆ ที่ฝังอยู่ข้างในก็ค่อย ๆ เหนียวขึ้น ชื้น และเหม็น แอร์จึงผุกร่อนกลายเป็นสนิมเร็วกว่าบ้านทั่วไปที่ไม่สูบบุหรี่”
เฟิร์สเล่าอีกว่า นอกจากแอร์จะเสื่อมสภาพเร็วขึ้นแล้ว บ้านที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามักเรียกให้ไปล้างแอร์ภายในระยะเวลาไม่เกิน 4 เดือน ต่างจากบ้านทั่วไปที่มักเรียกใช้บริการในระยะเวลา 6-12 เดือน
“อย่างบ้านหลังที่เพิ่งล้างไปใช้ระยะเวลาห่างกันแค่ 2 เดือนเขาก็เรียกเราไปล้างอีก เราก็ถามว่าเขาทำอะไรบ้าง เขาบอกว่าไม่ได้ทำอะไร มีแค่สูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียว เราก็เชิญให้เขามาดูว่าแอร์ไม่สามารถฉีดทำความสะอาดโดยวิธีปกติได้ เพราะคราบพวกนี้แข็งเกินไป ซึ่งเจ้าของบ้านเขาก็ยอมรับตามสภาพนั้นไป เนื่องจากเขายืนดูเราล้างแอร์ตลอด เลยเข้าใจว่ามันล้างไม่ออกจริง ๆ”
การเรียกใช้บริการบ่อยขึ้น ทำให้บ้านที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในห้องแอร์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เพราะไม่สามารถทำความสะอาดด้วยวิธีปกติ จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทุกครั้งเวลาเฟิร์สเดินทางไปทำความสะอาดแอร์ให้แต่ละบ้าน มักสอบถามพฤติกรรมเจ้าของบ้านอยู่เสมอ หากพบว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้า เขาก็จะบอกถึงสาเหตุว่าเป็นเพราะการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้แอร์ไม่เย็น ลมแอร์ไม่ออก แต่ใช่ว่าทุกคนจะเชื่อสิ่งที่เขาบอกเสมอไปในฐานะช่างแอร์จึงทำได้เพียงแสดงความห่วงใย และโพสต์เตือนภัยคนที่กำลังจะเข้าสู่วงจรของบุหรี่ไฟฟ้า
“อยากจะบอกลูกค้าหลาย ๆ ท่านที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าว่า นอกจากจะต้องใช้เวลาล้างแอร์มากกว่าปกติแล้ว ราคาอาจจะคูณสอง เพราะเป็นการล้างแบบพิเศษ ลูกค้าต้องเสียเงินเพิ่ม หากไม่เสียเงินเพิ่ม แต่เลือกล้างวิธีปกติ ผมก็จะล้างให้แต่บอกได้เลยว่าล้างได้ไม่เกลี้ยง เพราะคราบมันแข็งเกินกว่าจะเอาออกโดยวิธีปกติ”
และในฐานะที่ ‘เฟิร์ส’ นั้นเป็นคุณพ่อลูกสอง เขาไม่อยากเห็นสังคมที่ลูกจะโตขึ้นมา มองว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องปกติ เพราะการที่สูบหรือเอาอะไรเข้าไปในปอด ไม่ว่าจะเป็นคนที่สูบเองหรือคนที่อยู่ใกล้เคียง มันไม่ใช่อากาศที่บริสุทธิ์ทั่วไป มันมีผลกระทบกับร่างกายแน่นอน
“ผมเองก็มีลูก 2 คน ถ้าลูกผมต้องโตขึ้นมาในสังคมที่มีบุหรี่ไฟฟ้า มันไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็น นี่คือสิ่งที่เราห่วงที่สุดคือลูกของเราจะต้องมาเจอสังคมที่มีบุหรี่ไฟฟ้าแบบนี้”
‘ตูน - ปริพัตร สลับสี’ เจ้าของร้านแอร์made บอกเล่าสิ่งที่พบเจอจากการล้างแอร์ในห้องที่มีบุหรี่ไฟฟ้า
ด้าน ‘ตูน - ปริพัตร สลับสี’ อาจารย์สอนพิเศษภาษาอังกฤษ ผู้ผันตัวมาทำธุรกิจแอร์บ้าน เผยประสบการณ์การล้างแอร์ให้กับบ้านที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ว่าเขาเองก็พบปัญหาไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคราบจากควันของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีลักษณะคล้ายดอกเห็ด และในถาดน้ำทิ้งก็มีคราบคล้ายเสมหะสีน้ำตาลข้น จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมบ้านที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ถึงเรียกใช้บริการถี่กว่าบ้านที่ไม่สูบบุหรี่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ‘บุหรีไฟฟ้าอันตรายกว่าที่คิด’ ในฐานะเจ้าของธุรกิจแอร์บ้านคนหนึ่ง
ปริพัตรยอมรับตามตรงว่า ภาพที่เห็นจากการล้างแอร์ในบ้านที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้รู้สึกคลื่นไส้อยู่ไม่น้อย แต่นี่คืองานที่เขาเลือกทำ จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้แอร์ของบ้านหลังนั้นที่มีสถานะเป็นลูกค้า สะอาดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ต้องใช้เวลานานกว่าปกติ แถมยังต้องกลับมาบ้านหลังเดิมซ้ำ ๆ ก็ตาม
“ถ้าเป็นแอร์ของบ้านคนที่ไม่สูบบุหรี่สามารถอยู่ได้นานถึง 1 ปี ไม่ต้องล้างก็ได้ แต่ถ้าเป็นแอร์ของคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะอยู่ได้แค่ประมาณ 2-3 เดือน เพราะมีฝุ่นไปเกาะอยู่ตรงกรงกระรอกหรือใบพัดข้างใน ทำให้ชิ้นส่วนตรงนี้ทำงานหนัก และเย็นได้ไม่เต็มที่”
‘ตูน ปริพัตร’ เล่าอีกว่า โดยปกติแอร์หนึ่งเครื่องล้างแค่ 20-30 นาที แต่ถ้าบ้านหลังไหนมีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า จากระยะเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ขยายเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าหากบ้านหลังนั้นมีแต่ผู้หญิงอยู่ ย่อมทำให้เกิดความไม่สบายใจให้กับเจ้าของบ้านได้ เพราะเป็นการเปิดบ้านให้ช่างแอร์ ซึ่งเป็นคนแปลกหน้าเข้ามาทำงานเป็นเวลานาน
นี่คือความอึดอัดใจที่ปริพัตรนั้นอดเป็นห่วงแทนลูกค้าไม่ได้ เพราะคงไม่มีใครอยากให้คนแปลกหน้าเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของตัวเองนานเกินไปนัก อีกหนึ่งสิ่งที่เขารู้สึกกังวลไม่ต่างกันคือ ลมแอร์ที่ปล่อยออกมาผ่านเครื่องปรับอากาศ หากมีคราบสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ คงไม่ต่างจากการส่งต่อควันบุหรี่ไฟฟ้ามือสองไปยังผู้อาศัยอยู่ในบ้านหรืออาคารหลังนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนสูบหรือคนที่ต้องรับควันมือสอง บุหรี่ไฟฟ้าล้านเป็นภัยร้ายเกาะปอดที่ล้างไม่ได้สำหรับเขา
“สิ่งที่ผมมองว่าน่ากลัว คือเวลาที่ลมแอร์มันพัด บางทีก้อนหรือฝุ่นที่เกาะอยู่ตรงแอร์จะมีอนุภาคที่หลุดออกมาด้วย ซึ่งมันไม่ใช่แค่คนสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่สร้างปัญหา แต่กลายเป็นว่า second hands smoker (ผู้สูบมือสอง) และผู้ที่ใช้แอร์ร่วมกับคนเหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่หลุดออกมาจากแอร์ด้วย เพราะทุกครั้งที่ใบพัดของแอร์ปั่น ผมก็เชื่อว่าน่าจะมีส่วนที่หลุดออกปนอยู่ในอากาศที่เราหายใจ”
“หลายคนลืมไปเลยว่าสารเคมีพวกนี้มันจะไปเกาะอยู่ตามแอร์ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่แค่ 1 หรือ 2 คนที่ได้รับ แต่มันกลายเป็นว่าคนที่ใช้ระบบปรับอากาศห้องเดียวกับเราก็จะได้รับผลกระทบไปกันหมด ไม่มากก็น้อย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม”
ส่วนกลุ่มอายุของลูกค้าที่ใช้บริการล้างแอร์ที่ปริพัตรเจอนั้น ไม่ต่างจากเฟิร์ส เจ้าของร้านแอร์ที่จังหวัดนครปฐมมากนัก แต่ลูกค้าของเขาจะอายุอยู่ที่ 30 ปีมากเป็นพิเศษ ซึ่งเขาในฐานะเจ้าของธุรกิจผู้เห็นถึงปัญหาเหล่านี้มาตลอด 1 ปี ยอมรับว่าไม่อาจห้ามให้ใครสูบบุหรี่ได้ก็จริง แม้บุหรี่บางรุ่นพบควันที่พ่นออกมาน้อยมาก จนหลายคนคิดว่าในเมื่อไม่มีควัน จึงคิดว่าไม่รบกวนคนอื่น แต่สำหรับเขามองว่า ‘สิ่งที่ไม่เห็น ใช่ว่าจะไม่มีสารพิษหรืออันตราย’ เขาจึงอยากให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าลองหันมาเห็นอกเห็นใจคนรอบข้างในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง หรือใส่ใจสิ่งที่เกิดขึ้นอีกสักนิด เพราะการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในห้องแอร์ หรือแม้แต่ห้องน้ำที่มีระบบแอร์ในบริษัทหรือห้างสรรพสินค้าก็สามารถสร้างผลกระทบต่อคนอื่นได้ไม่ต่างกัน
“สำหรับผมคิดว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำร้ายร่างกายคนสูบและคนรอบข้างทุกคน ถ้าเปรียบเทียบในเชิงศาสนามันเหมือนการทำบาปกับตัวเอง กระทบชีวิตและสุขภาพของคนอื่น ๆ ด้วย แม้จะไม่ตั้งใจก็ตาม ปัจจุบันนี้แค่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ก็เสียงต่อสุขภาพของทุกคนมากพอแล้ว ถ้าสร้างสังคมปลอดบุหรี่ไฟฟ้า โดยที่เริ่มหยุดสูบที่ตัวคุณ เชื่อว่าทั้งลูกค้า ครอบครัวของลูกค้า และคนในสังคมจะไม่ต้องรับชะตามกรรมจากโรคภัยอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า”
“แอร์ยังถอดออกมาล้างได้ แต่ปอดคนเรา อย่าว่าแต่ล้างเลย ถอด-ประกอบเพื่อเอาออกมาล้าง หรือให้มันรักษาตัวเองยังไม่ได้เลย” คือคำที่ ‘ตูน ปริพัตร’ เจ้าของธุรกิจแอร์บ้านพูดทิ้งท้าย ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับงานรณรงค์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เปิดตัวสปอตโฆษณา ‘บุหรี่ไฟฟ้า ภัยเกาะปอดที่ล้างไม่ได้’ ภายใต้สโลแกน ‘บุหรี่ไฟฟ้าทำแอร์พังขนาดนี้ และปอดของคุณจะขนาดไหน’ ขึ้นมา เพื่อสร้างความตระหนักรู้และทำให้ผู้รับชมเห็นความรุนแรงและน่ากลัวของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในบ้าน โดยบางช่วงบางตอนของสปอตโฆษณาตัวนี้ ได้ฉายให้เห็นความร้ายกาจของควันและสารพิษของบุหรี่ไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อแอร์บ้าน โดยที่ ‘ช่างแอร์’ ที่แสดงในสปอตโฆษณา พูดเหมือนกับ ‘เฟิร์ส’ และ ‘ตูน’ ว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยเกาะปอดที่ล้างไม่ได้ และแอร์ก็เหมือนกับร่างกายของคนที่ต้องตรวจสุขภาพประจำเดือนหรือประจำปี แตกต่างกันตรงที่ว่า “แอร์พังซ่อมได้ แต่….ปอดพังซ่อมไม่ได้’
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ 2 ช่างแอร์ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำประสบการชีวิตในการทำหน้าที่การงานของพวกเขามาแชร์ให้ทุกคนที่ได้อ่านบทความนี้ได้ตระหนักรู้เรื่องพิษภัยอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าหากสูบอยู่ในบ้านที่มีแอร์ และต้องการจุดประกายความคิดให้ทุกคนหยุดและเลิกบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อสุขภาวะที่ดีต่อตัวคุณเองและคนรอบข้าง
ฟังคลิปสัมภาษณ์ช่างแอร์เพิ่มเติมได้ที่