ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่ากว่าร้อยละ 40 ของนักดื่ม เคยดื่มแล้วขับ เพราะคิดว่า “เอาอยู่” ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่ายังมีคนอีกมากที่เข้าใจว่า การดื่มแล้วขับไม่ใช่เรื่องอันตรายอะไร “เรายังไหว” “นิดๆ หน่อยๆ ไม่ใช่ไม่ เค้ยย เอื๊ออกก”
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แม้ว่าปัจจุบันนี้ เมื่อสังคมโดยรวมได้ตระหนักถึงมหันตภัยจากการดื่ม แต่ตัวเลขของสถิติอุบัติเหตุที่มีสาเหตุมาจากการดื่มแล้วขับ ก็ยังคงความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่ค่อนข้างรุนแรง เมื่อเทียบกับสัดส่วนของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนประเภทอื่น
เรื่องขำ ๆ ที่นิยมอำกันเล่นในหมู่เพื่อนฝูง “ดื่มไม่ขับ แล้วจะกลับยังไง” จึงยังสะท้อนออกมาเป็นจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่น่าเศร้า เอาแค่ตัวเลขล่าสุดจากเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีคดีดื่มแล้วขับในช่วง 7 วันอันตราย มากถึง 8,575 คดี รวมทั้งมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากมายหลายร้อยคนอีกด้วย
แล้วที่น่าสะเทือนใจกว่านั้น คือช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 ที่ผ่านมา กว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิต (56%) เกิดเหตุและเสียชีวิตไม่ไกลจากบ้าน ในรัศมีเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น และแน่นอน สาเหตุหลักของการเสียชีวิต เนื่องจากความเร็วและการดื่มแล้วขับ
ที่ผ่านมาแม้ว่าจะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การดื่มแล้วขับจะนำมาสู่การสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แต่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบถึงข้อเท็จจริงที่ชัดเจนกว่านั้น นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่แอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย จะมีฤทธิ์เป็นสารกดประสาท ที่สามารถออกฤทธิ์กระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำงานของสมอง ต้นเหตุของความผิดพลาด ซ้ำแล้ว..ซ้ำเล่า..
เริ่มกันตั้งแต่สมองส่วนหน้า (frontal lope) ที่เปรียบได้กับศูนย์บัญชาการที่ทำหน้าที่ควบคุมความคิด บุคลิก พฤติกรรม ผู้ดื่มจะสูญเสียความสามารถในการตัดสินใจ ลดความมีเหตุผล ลดทักษะในการประมวลผลเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งสูญเสียความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
ไม่ไหวอย่าบอกไหว เพราะแอลกอฮอล์ยังทำให้สมองหลั่งสารโดปามีน (Dopamine) และเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ผู้ดื่มเกิดอารมณ์คึกคะนอง ขาดความยั้งคิด กล้าเต้น กล้าร้อง กล้าพูดมาก กล้าทำอะไรแผลง ๆ กล้าได้กล้าเสีย จนหลายคนเรียกเหล้าว่าน้ำเปลี่ยนนิสัย เพราะมันทำให้คนนุ่มนิ่มกลายเป็นคนหัวร้อนง่ายยย ก้าวร้าว หุนหันพลันแล่น มองหน้ากันนิดเดียว พี่ก็พร้อมจะเหนี่ยวพร้อมจะไฟต์กับใครต่อใคร จากคนที่เคยขับรถเคารพกฎจราจร ก็พร้อมจะองค์ลงประทับทันทีที่ได้จับพวงมาลัย ฝ่าไฟแดงแซงทุกโค้ง เหยียบให้สุด แล้วหยุดที่เสาไฟฟ้า ฯลฯ
ส่วนของแถมที่ต่อให้คุณไม่อยากได้ แต่แอลกอฮอล์เขาก็ยังยัดเยียดโปรให้จุก ๆ คือเรื่องของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับความทรงจำ ที่หลายคนชอบร้องเป็นเพลงว่า “ดื่มเพื่อลืมเธอ” เอาเข้าจริงไม่ใช่แค่ลืมเธอ แต่ลืมกระทั่งเรื่องที่พูด เงินที่ยืมเพื่อน หมัดที่ต่อยกำแพง แก้วที่เขวี้ยงหัวคนนั่งโต๊ะข้าง ๆ ไปจนถึงการลืมว่ามีลูกเมียรออยู่ที่บ้าน ขับรถโดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ขับมอเตอร์ไซค์โดยลืมใส่หมวกกันน็อก ลืมชะลอตรงหัวโค้ง ลืมเบรกตอนมีเด็กวิ่งข้ามถนน ฯลฯ
สุดท้าย ก็ตื่นขึ้นมา...โดยลืมว่าตัวเองทำอะไรไปบ้างเมื่อคืน
ถ้าตื่นในโรงพัก ตื่นบนเตียงโรงพยาบาล นั่นยังนับว่าโชคดี เพราะมีหลายคนที่ต้องไปตื่นในวัด มีเสียงสวดขับกล่อมคลอไปกับเสียงร่ำไห้ของคนในครอบครัวและญาติมิตรของผู้สูญเสีย
ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ สมองช้าาาาาา กะระยะง่าย ๆ ก็พลาดดดด ไปจนถึงเรื่องความกล้าเสี่ยง (ที่จะไปตายหรือทำให้คนอื่นตาย) อาจจะป้องกันได้ ถ้ารู้เท่าทัน และรับฟังข้อมูลอย่างมีสติ ด้วย คู่มือ save สมองจากอุบัติเหตุการขับขี่ ที่ได้รวบรวมข้อมูลอันเป็นประโยชน์ ตั้งแต่เรื่องของสาเหตุที่ทำให้สมองเสียหาย ผลจากการไม่สวมหมวกกันน็อกและดื่มแล้วขับ ผลกระทบเมื่อเหล้าเข้าถึงสมอง วิธีรับมือทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุ ตลอดจนแนวทางการป้องกันสำหรับคนที่ยังรักและเห็นคุณค่าของชีวิตตนเองและผู้อื่นเอาไว้อย่างครบครัน เก็บไว้อ่านหรือแบ่งปันเพื่อลดความสูญเสีย
ดาวน์โหลดและอ่านเวอร์ชันออนไลน์ได้ฟรี ! คลิก https://www.thaihealth.or.th/?p=353265
และของแบบนี้ไม่ต้องเป็นสายมู ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เพราะนี่มันขลังยิ่งกว่าขลัง สงกรานต์นี้สายตี้รู้กัน ว่ามีบทสวดคุ้มภัย แคล้วคลาดทุกถนน เป็นคาถาแค่สามคำจำง่าย ๆ แต่ต้องท่องไว้ทุกครั้งก่อนจะจับพวงมาลัย
“ดื่ม - ไม่ - ขับ”
กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดีๆ จาก สสส เพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.
Line : @thaihealththailand
Tiktok: @thaihealth
Youtube: SocialMarketingTH
Website : Social Marketing การตลาดเพื่อสังคม