เด็กยุคนี้ มีความเสี่ยงเรื่องเพศมากกว่าเดิม เพราะยุคนี้มีสื่อออนไลน์ ที่เด็กๆ เข้าถึงได้ง่ายตั้งแต่ยังเล็ก และบางครั้งอาจรู้ไม่เท่าทัน เมื่อเด็กยิ่งเสี่ยง ผู้ใหญ่ยิ่งต้องดูแล
แต่การคุยเรื่องเพศกับลูกกลายเป็นเรื่องยากสำหรับพ่อแม่ส่วนใหญ่ เพราะเรามักมองกันว่าเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องของเด็ก รู้มากเดี๋ยวจะเลียนแบบ เมื่อเด็กคุยกับพ่อแม่ไม่ได้ พวกเขาก็ไปหาข้อมูลกันเองจากอินเทอร์เน็ตหรือถามเพื่อน ซึ่งเสี่ยงเจอข้อมูลผิดๆ อาจนำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาดหรือเกิดปัญหาที่ยากเกินแก้ไข เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หรือเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งพบว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสในกลุ่มอายุ 15-24 ปี โดยในปี 2559-2563 เท่ากับ 13.7, 20.2, 27.9, 41.4 และ 50.4 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ ส่วนโรคหนองใน ตัวเลขอยู่ที่ 59.3, 68.1, 63.7, 69.7 และ 58.8 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าคนที่ไม่ป่วย 5-9 เท่า
การที่ครอบครัวได้คุยแลกเปลี่ยน ให้คำปรึกษาในเรื่องเพศได้จึงเป็นการลดโอกาสเสี่ยงต่าง ๆ ได้ แต่ถ้าพ่อแม่หนักอกหนักใจในการคุย ไม่รู้จะเริ่มยังไง ก็มีตัวช่วยหนึ่ง คือ หนังสือ “เทคนิคคุยกับลูกเรื่องเพศ ฉบับเข้าใจลูก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญรณรงค์ “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต่อเนื่องจากแคมเปญ “โอกาสทองคุยกับลูกเรื่องเพศ” ที่มุ่งเน้นให้พ่อแม่เห็นถึงโอกาสในการคุยกับลูกเรื่อง
โดย มีกลยุทธ์ง่ายๆ มาฝากคุณพ่อคุณแม่ที่อยากคุยเปิดใจกับลูกแต่รู้สึกไม่มั่นใจอีกด้วย เริ่มจากการเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อน เปิดใจเรียนรู้ รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ด่วนตัดสินว่าสิ่งที่ลูกคิดหรือทำนั้นถูกหรือผิด จะช่วยให้พ่อแม่เข้าใจลูกมากขึ้น และเป็นผลดีต่อการพูดคุยสื่อสารเพื่อหาวิธีป้องกัน ที่สำคัญพ่อแม่ควรเป็นฝ่ายเริ่มต้นในการคุยเพราะเป็นเรื่องยากที่วัยรุ่นจะมาพูดคุยเรื่องเพศกับพ่อแม่ ทำให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่พร้อมรับฟังและพูดคุยด้วยเสมอ
ซึ่งนั่นเป็น ตัวอย่างข้อแรก จาก 6 ทักษะคุยเรื่องเพศกับลูก สำหรับพ่อแม่ใช้เป็นเทคนิคในการคุยเพื่อให้ได้ใจลูก ที่สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก หนังสือเทคนิคคุยกับลูกเรื่องเพศ ฉบับเข้าใจลูก นั่นเอง
สำหรับ “6 ทักษะคุยเรื่องเพศกับลูก ได้แก่ 1.รับฟังไม่ตัดสินว่าถูกหรือผิด 2. สอนผ่านการตั้งคำถามเพื่อชวนให้ลูกคิดได้กว้างขึ้น 3. ชื่นชมเมื่อลูกมีความคิดหรือมีการตัดสินใจที่ดี 4. เสริมข้อมูลที่เป็นประ โยชน์ ถ้าลูกถามอะไรแต่เราไม่รู้ก็ชวนเขาไปค้นหาข้อมูลเรียนรู้ไปด้วยกัน 5.เชื่อมั่นและเคารพในตัวลูก 6. เป็นที่พึ่งเมื่อลูกเกิดปัญหา”
นอกจากนี้ ยังมีหัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจ เพื่อให้พ่อแม่ได้เลือกวิธีในการพูดคุยที่เหมาะกับลูกในโลกยุคใหม่ เช่น เรื่องเพศ คุยเมื่อไรดี, คาถาชนะใจลูก, 8 เทคนิค สอนลูกปลอดภัยเรื่องเพศ ท้ายบทยังมีแบบทดสอบวัดใจ พ่อแม่พร้อมไหมที่จะคุยเรื่องเพศกับลูกให้ทำด้วย
แต่ถ้าได้ลองคุยกับลูกเรื่องเพศแล้วเจอลูกถามในเรื่องที่ไม่สะดวกใจตอบ ก็ขอแนะนำเพิ่มเติมว่า ไม่ควรหลีกเลี่ยงหรือเปลี่ยนเรื่องคุย รวมทั้งไม่ล้อเลียนหรือมองว่าคำถามของลูกเป็นเรื่องตลก แต่พยายามฟังลูก และให้ความเห็นในเชิงสร้างสรรค์ ไม่ควรเริ่มจากการตำหนิลูก แต่ให้บอกถึงความรู้สึกห่วงใย เสนอทางเลือกที่เราอยากให้ทำว่ามีประโยชน์อย่างไร และเปิดโอกาสให้ลูกแสดงความคิดเห็นหรืออธิบาย
และขอทิ้งท้ายอีกนิดว่า “เรื่องเพศไม่ได้หมายถึงแค่เพศสัมพันธ์ ยิ่งลูกรู้เร็ว ลูกจะมีทักษะในการดูแลตัวเอง หัวใจสำคัญอยู่ที่การคุยให้เหมาะกับพัฒนาการของลูก เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการต่างกัน อาจดูช่วงวัยแล้วนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม”
ผู้ที่สนใจ หนังสือเทคนิคคุยกับลูกเรื่องเพศ สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.xn--42cg3eof6a6a9eg5fe7g.com/multimedia_items/1571/
กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดีๆ จาก สสส เพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.
Line : @thaihealththailand
Tiktok: @thaihealth
Youtube: SocialMarketingTH
Website : Social Marketing การตลาดเพื่อสังคม