จากภารกิจของ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ต้องการสนับสนุนการเล่นกีฬาของประชาชน และสร้างพื้นฐานการเล่นกีฬาที่ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่สังคมที่รักการเล่นกีฬา และเพิ่มนักกีฬาระดับท้องถิ่น สู่ระดับจังหวัด และระดับชาติ จึงเป็นที่มาของการจัดโครงการ ปรับ เปลี่ยน ปลุก ปั้น เพื่อออกเดินทางไปฝึกทักษะการเล่นกีฬาให้กับเยาวชนที่โรงเรียน 4 แห่ง 4 ภาค ระหว่างเดือนธันวาคม 2565 - มกราคม 2566
โครงการ ปรับ เปลี่ยน ปลุก ปั้น จะประเดิมจัดครั้งแรกที่ ภาคกลาง ที่โรงเรียนเทศบาล 5 (พหลโยธินรามินทรภักดี) จังหวัดราชบุรี โดยมุ่งฝึกทักษะกีฬาตะกร้อ ครั้งที่ 2 จัดที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่โรงเรียนห้วยต้อน จังหวัดชัยภูมิ โดยมุ่งฝึกทักษะกีฬาคิกบ็อกซิ่ง ครั้งที่ 3 จัดที่ ภาคเหนือ ที่โรงเรียนเชียงม่วนวิทยาคม จังหวัดพะเยา โดยมุ่งฝึกทักษะประเภทกรีฑา ครั้งสุดท้ายจัดที่ ภาคใต้ ที่โรงเรียนบ้านเกาะบูโหลน จังหวัดสตูล โดยมุ่งฝึกทักษะกีฬาฟุตบอลชายหาด ซึ่งแต่ละแห่งจะมีนักกีฬาต้นแบบไปร่วมพูดคุยสร้างแรงบันดาลใจในการเล่นกีฬาให้กับเยาวชน พร้อมทั้งมอบอุปกรณ์กีฬาและมอบทุนการศึกษาให้โรงเรียนด้วย
นายวินัย ทองรัตน์ กรรมการบริหาร กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ ปรับ เปลี่ยน ปลุก ปั้น ว่า "นิยามของคำว่า "ปรับ" คือ การปรับสมรรถนะและความพร้อมของนักกีฬา ซึ่งต้องเริ่มต้นตั้งแต่สถานศึกษาในท้องถิ่น เมื่อมีบุคลากรทางการกีฬาในภูมิภาคแล้ว อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกซ้อมก็ต้องได้มาตรฐาน จึงต้องมีการ "เปลี่ยน" อุปกรณ์กีฬาให้มีมาตรฐาน ส่วนการ "ปลุก" คือ การมีไอดอลที่จะเป็นแรงบันดาลใจในการเล่นกีฬาของเยาวชน สำหรับ "ปั้น" คือ การจัดสรรงบประมาณในการฝึกซ้อม หากไม่มีงบประมาณ นักกีฬาก็ไม่สามารถเล่นกีฬาได้อย่างมีสมรรถนะ โครงการ ปรับ เปลี่ยน ปลุก ปั้น จึงเกิดขึ้น โดยจะเข้าไปพัฒนาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การสร้างคน สร้างอุปกรณ์ สร้างแรงบันดาลใจ ให้ทุน เพื่อสร้างนักกีฬาที่ได้มาตรฐานตั้งแต่รากหญ้า เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ และก้าวไปสู่นานาชาติต่อไป"
ในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ ปรับ เปลี่ยน ปลุก ปั้น ยังจัดให้มีการเสวนาเรื่อง "การพัฒนากีฬาสู่ความเป็นเลิศ" โดยมี นายวินัย ทองรัตน์ กรรมการบริหาร กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายประชุม บุญเทียม รองผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายกีฬาเป็นเลิศและวิทยาศาสตร์การกีฬา และ ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองตอบคำถามว่าอะไรคือตัวชี้วัดความเป็นเลิศของกีฬา แนวทางที่จะพัฒนากีฬาสู่ความเป็นเลิศ และมวยไทยจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศได้หรือไม่
นายวินัย ทองรัตน์ กล่าวว่า ตัวชี้วัดกีฬาที่เป็นเลิศ คือ ความสำเร็จของการแข่งขัน ถ้ากีฬาใดมีสถิติ แล้วนักกีฬามีสถิติที่ดีขึ้น นั่นคือสิ่งที่บ่งบอกว่าเริ่มเข้าสู่กระบวนการความเป็นเลิศแล้ว ถ้าการแข่งขันมีเหรียญรางวัลก็จะชี้วัดกันที่เหรียญ ถ้าจะให้ประเมินว่ากีฬาประเภทใดเข้าสู่ความเลิศแล้ว มองว่ากีฬาสากล เช่น แบดมินตัน วอลเลย์บอล เราอยู่ในจุดที่น่าพอใจและสามารถต่อยอดได้ แต่กีฬาอื่นที่ไม่ใช่กีฬาสากล เราอาจจะเป็นรองในเรื่องการแข่งขัน คงต้องใช้เวลาซักระยะหนึ่งในการพัฒนา เพื่อสร้างคนที่อยู่ในระดับรากหญ้าให้สามารถเล่นกีฬา และต่อยอดได้จนถึงระดับประเทศ ซึ่งแนวทางในการพัฒนานั้นจะต้องเน้นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์การกีฬา การพัฒนากล้ามเนื้อ เมื่อที่ได้รับการพัฒนาเรื่องนี้แล้ว เชื่อว่าความสามารถของนักกีฬาจะไปสู่ความเป็นเลิศได้
ทางด้าน นายประชุม บุญเทียม กล่าวว่า ความเป็นเลิศมีหลายระดับ ระดับจังหวัด ระดับชาติ ถ้าเป็นนักกีฬาช้างเผือกในมหาวิทยาลัย เราก็จะส่งเสริมให้เขาได้มาเก็บตัวฝึกซ้อม เพื่อเข้าสู่ความเป็นเลิศระดับจังหวัด เมื่อทำผลงานได้ดีก็จะมีการเก็บตัวฝึกซ้อมเพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนทีมชาติ ไปซีเกมส์ โอลิมปิก ชิงแชมป์โลก ก็จะเป็นเลิศในแต่ละระดับไป โครงการ ปรับ เปลี่ยน ปลุก ปั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะปรับเปลี่ยนวิธีคิด ทำให้เด็กหันมาเล่นกีฬา มีการนำอุปกรณ์กีฬาไปให้ฝึกซ้อม มีวิทยากรไปสอน มีนักกีฬาทีมชาติไปช่วยปลุกกระแส อีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็อาจจะมีนักกีฬาดาวรุ่งเพิ่มขึ้นมาให้เราพัฒนาต่อ
"แนวทางในการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ ประการแรก คือ เราต้องมีเป้าหมายว่าจะเป็นระดับนานาชาติ ระดับโลก กีฬาที่มีความหวัง คือ มวยสากล ยกน้ำหนัก เทควันโด เมื่อมีเป้าหมายแล้ว ก็ต้องสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และงบประมาณ นอกจากนี้ ก็ต้องสนับสนุนให้เยาวชนเล่นกีฬามากขึ้น เพื่อจะได้มีตัวเลือกเพิ่มขึ้น"
ปิดท้ายการเสวนาที่ ดร.สุปราณี คุปตาสา ที่กล่าวถึงแนวทางในการพัฒนากีฬาของไทย ว่า คนที่อยู่ในวงการกีฬาต้องปรับและปลุกตัวเอง ไม่ใช่ปรับแค่เรื่องสมรรถนะของนักกีฬา แต่ต้องปรับทุกอย่างในเรื่อง Sport Management ไม่ว่าจะเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ วิทยาศาสตร์การกีฬา และอื่น ๆ ต้องปลุกกระแสให้คนในวงการกีฬาตื่น ไทยไม่ได้ด้อยเรื่องการฝึก แต่ถ้าประเทศอื่นตื่น เขาก็จะไปข้างหน้าแบบก้าวกระโดด
"สำหรับกีฬามวยไทย วันนี้จุดสูงสุด คือ World Games อย่ามองว่ามวยไทยเป็นของไทยแล้วจะวางใจ ตอนนี้มวยไทยเป็นกีฬาสากลแล้ว เพราะฉะนั้นประเทศอื่นก็เตรียมพร้อมสู้กับไทยแน่นอน เมื่อทราบแบบนี้แล้วก็ต้องปลุกคนของเรา ส่วนตัวมองว่ามวยไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยได้ ก่อนชกต้องมีไหว้ครูที่แสดงถึงการเคารพผู้สอน หลังจากชกกันดุเดือดแล้วสุดท้ายก็ก้มลงกราบกัน กอดกัน ขอโทษกัน นี่คือวัฒนธรรมไทยที่จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์เผยแพร่ออกไป ซึ่งจะทำให้เราสามารถเปลี่ยนจากกีฬาพื้นบ้านที่ไม่สร้างเศรษฐกิจไปเป็นกีฬาระดับโลกที่สร้างเศรษฐกิจได้"