โรคหืด (Asthma) with Good Quality of life: คุณภาพชีวิตที่ดีเราสร้างได้

โรคหืด (Asthma) with Good Quality of life: คุณภาพชีวิตที่ดีเราสร้างได้
โรคหืด เป็นผลจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม โดยแสดงอาการได้หลายรูปแบบ เช่น ไอ แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย หายใจเสียงหวีด

บทความให้ความรู้ไขข้อสงสัยโรคหืดโดย พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช ได้ตอบคำถามพร้อมอธิบายอาการของโรคหืดเอาไว้อย่างละเอียด สำหรับนำไปสังเกตตนเองและคนรอบข้าง หากมีอาการดังกล่าวจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งอาการโรคหืด มักมีความแตกต่างในแต่ละบุคคล ทั้งในด้านอาการแสดง และความรุนแรง อาการอาจกลับเป็นซ้ำ หรือกำเริบ เมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เช่น การติดเชื้อ การสัมผัสสิ่งกระตุ้นที่แพ้ หรือสารที่ทำให้เกิดการระคายเคือง

    “ผู้ป่วยหอบหืด มีลักษณะหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น ดังนั้นเมื่อสัมผัสสารกระตุ้น หรือ ภาวะที่กระตุ้น จะทำให้เกิดภาวะหลอดลมตีบเฉียบพลันรุนแรง และอาจเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที”

Q: อาการอะไรที่ต้องเฝ้าระวังว่าจะเป็นโรคหืด?

A: ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ ควรเฝ้าระวังว่าจะมีโอกาสเป็นโรคหืด 

    1. อาการของระบบทางเดินหายใจมากกว่าหนึ่งอย่าง เช่น  ไอ แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย หายใจเสียงหวีด

    2. อาการแย่ลงช่วงกลางคืน หรือ ช่วงเช้า

    3. อาการและความรุนแรงมีความแปรปรวนตามเวลา

    4. อาการหอบหืด ถูกกระตุ้นโดยบางปัจจัย เช่น การติดเชื้อไข้หวัด การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ สารก่อระคายเคือง สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง การออกกำลังกาย

Q: เมื่อไหร่ควรสงสัยว่าเป็นโรคหืด?

A: การวินิจฉัยต้องประกอบด้วย 2 ส่วน

    1.อาการที่เข้าได้กับโรคหืด โดยอาการอาจเป็น ๆ หาย ๆ ไม่จำเป็นต้องแสดงอาการตลอดเวลา อาจมีความหลากหลายของอาการในช่วงวัน หรือ ฤดูกาล

    2.ตรวจพบการแปรปรวนของการอุดกั้นหลอดลมในช่วงขาออก ซึ่งต้องวินิจฉัยโดยแพทย์

Q: ใครคือกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะเป็นโรคหืด?

A: เนื่องจากโรคหืด สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม และพบว่าสัมพันธ์กับภาวะภูมิแพ้บางอย่าง 

ดังนั้นหากมีประวัติอาการระบบทางเดินหายใจช่วงวัยเด็ก ประวัติเยื่อบุจมูกอักเสบจากภาวะภูมิแพ้ หรือภูมิแพ้ผิวหนัง ของทั้งตัวเองและคนในครอบครัว อาจต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการระบบหายใจที่เข้าได้กับอาการแสดงของโรคหืด

Q: เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคหืดควรทำอย่างไร?

A: พิจารณาเข้าพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาอย่างเหมาะสม อีกทั้งควรได้รับคำแนะนำในการปฎิบัติตัว เรียนรู้การรักษาภาวะเบื้องต้นหืดกำเริบเฉียบพลัน

Q: คนไข้โรคหืดอาการแบบไหน? ที่ควรรีบพ่นยา และมาพบแพทย์

A:  หากผู้ป่วยโรคหืด รู้สึกว่าอาการหืดกำเริบเฉียบพลันรุนแรง อันได้แก่ 

    เหนื่อยจนไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้ 

    กระสับกระส่าย 

    หมดสติ เขียว ออกซิเจนตก

 

แนะนำให้พ่นยาขยายหลอดลมพ่นสูดชนิดออกฤทธิ์เร็ว และรับนำส่งโรงพยาบาลทันที โดยพิจารณาพ่นยาซ้ำทุก 15 นาที จนกว่าจะถึงโรงพยาบาล 

กรณีที่อาการกำเริบน้อยถึงปานกลาง เช่น ไอ เหนื่อย แน่นหน้าอก แต่ยังพูดคุยได้เป็นประโยค ไม่มีอาการแสดงของหืดกำเริบเฉียบพลันรุนแรง อาจพิจารณาปรับยาตามที่แพทย์ประจำตัวเคยแนะนำไว้ หรือพ่นยาขยายหลอดลมพ่นสูดชนิดออกฤทธิ์เร็ว ทุก 15- 20 นาที หากพ่นยาติดต่อกัน 3 ครั้ง อาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์

เป้าหมายการรักษาคนไข้โรคหืด

#Good Quality of life: คุณภาพชีวิตที่ดี 

#ป้องกันความเสี่ยงในอนาคต:  การเสียชีวิตจากโรคหืด ลดโรคหืดกำเริบเฉียบพลัน ลดการเสื่อมของสมรรถภาพปอด และอาการข้างเคียงจากการรักษา 

เพราะทุกวินาทีคือชีวิต “โรงพยาบาลนวเวช” ให้บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ด้วยรถพยาบาลฉุกเฉิน (Advance ambulance) พร้อมทีมแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉินและทีมสหสาขาวิชาชีพ(Multidisciplinary Team) ประจำการตลอด 24 ชั่วโมง ควบคู่กับเครื่องมือเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยในการช่วยชีวิตคนไข้วิกฤตและผู้ประสบเหตุฉุกเฉิน กรณีต้องการเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินทันทีโทร. 02-483-9944  ซึ่งหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหืดสามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์อายุรกรรม โทร. 1507 I Line: @navavej


ที่มาของภาพ : โรงพยาบาลนวเวช
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport