เพิ่มมาตรการชุมชนเฝ้าระวัง ท้องถิ่นเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดเจ็บ ลดตายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567
เครือข่ายสื่อสุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยง โดยสถานีโทรทัศน์ CTV ชลบุรี และ Cable Channel 37HD-สถานีเพื่อนสนิทเพื่อสุขภาวะ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ จังหวัดชลบุรี และเครือข่ายการขับเคลื่อนงานความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่เมืองชลบุรี ได้จัดเวทีรรณงค์ “คนชล...สวมหมวกนิรภัย ปีใหม่ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ” ขึ้น เพื่อร่วมกันปลุกกระแสความรับผิดชอบต่อสังคม ร่วมใจชุมชนขับขี่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2567 ณ โรงแรมรัตนชล อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี เมื่อเร็วๆนี้
นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวถึงแผนปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ว่า “ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปี ประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ จึงมีความเสี่ยงต่อการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น จ.ชลบุรี จึงได้กำหนดมาตรการในการดูแลความปลอดภัยทางถนนให้แก่ประชาชนเป็นพิเศษในช่วงการณณรงค์ 7 วันอันตราย โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงก่อนควบคุมเข้มข้น วันที่ 22-28 ธันวาคม 2566 ช่วงรณรงค์เข้มข้น วันที่ 29 ธันวาคม 2566 - 4 มกราคม 2567 และช่วงหลังการรณรงค์ วันที่ 5 - 11 มกราคม 2567 ภายใต้มาตรการหลัก 5 ด้าน คือ ด้านบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน, การลดปัจจัยเสี่ยงของถนนและสภาพแวดล้อม, การลดปัจจัยเสี่ยงของยานพาหนะ, ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัย และด้านการตอบสนองหลังการเกิดอุบัติเหตุ”
นายณัฐพงศ์ บุญตอบ นักวิชาการอาวุโส มูลนิธิไทยโรดส์ เผยถึงสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในภาพรวมของไทยจากข้อมูล 3 ฐาน ของกระทรวงสาธารณสุข แม้จะมีแนวโน้มลดลงจาก 20,000 รายต่อปีในปี 2561-2562 เหลือเพียงประมาณ 17,000 รายต่อปี ในปี 2563-2565 องค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยเสริมให้เกิดการลดลง คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วงปี 2563 ที่มีการห้ามเดินทางข้ามจังหวัด มาตรการเคอร์ฟิว การห้ามเดินทางในช่วงเวลากลางคืน รวมไปถึงการไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงสงกรานต์ 2563 ทว่ากลุ่มเสี่ยงหลักของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนยังคงเป็นกลุ่มวัยคนทำงาน อายุ 25 – 49 ปี และวัยเรียน อายุ 15 - 24 ปี โดยรถจักรยานยนต์ ยังเป็นพาหนะหลักที่คร่าชีวิตคนบนถนน
“ข้อมูลจากการศึกษาอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เชิงลึก 1,200 เคส โดยสถาบัน AIT ชี้ชัดว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ และมากกว่าร้อยละ 60 ของผู้เสียชีวิตไม่ได้สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่ ส่วนสภาพถนนและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้อยละ 40 ซึ่งพบว่าความรุนแรงของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์จะเกิดที่ถนนสายรองและถนนในชุมชนมากว่าถนนสายหลัก โดยเฉพาะอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ (>400 ซีซี) ที่พบว่า มีความรุนแรงสูงกว่าอุบัติเหตุรถจักรยายนต์ขนาดทั่วไป (<400 ซีซี) ถึง 3 เท่า” นายณัฐพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ข้อมูลในปี 2562 จากมูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่าย Road Safety Watch พบผู้ใช้รถจักรยานยนต์ของคนไทยมีการสวมหมวกนิรภัยอยู่เพียงร้อยละ 45 โดยในพื้นที่ จ.ชลบุรี มีผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัยอยู่ร้อยละ 56 และผู้โดยสารสวมหมวกนิรภัยอยู่ร้อยละ 23 เท่านั้น ดังนั้นในทศวรรษที่สองแห่งความปลอดภัยทางถนน 2564-2573 เครือข่ายความปลอดภัยทางถนนในระดับท้องถิ่น จังหวัด และประเทศ ต้องเร่งบูรณาการขับเคลื่อนให้มีมาตรการที่เข้มงวดและจริงจังในการรณรงค์สวมหมวกนิรภัยให้เป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นของการขับขี่รถจักรยานยนต์ เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน
นางสุมนรัตน์ นีรพัฒนกุล นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เผยถึงแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ ว่า “คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี ได้บูรณาการมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อดูแลประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนให้เดินทางกลับบ้านปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยมีการสร้างเครือข่าย ‘นายอำเภอนักรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน’ ขึ้น เพื่อทำงานรณรงค์การขับขี่ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ โดยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตาม พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และ พรบ. จราจรทางบก พ.ศ. 2565 ที่เพิ่มกฎหมายใหม่ ‘เมาขับ ผิดซ้ำ จำคุก’ ควบคู่กับการตั้ง ‘ด่านครอบครัว’ และ ‘ด่านชุมชน’ เพื่อเฝ้าระวังและป้องปราบพฤติกรรมเสี่ยงในบ้านและถนนสายรองถนนในชุมชน ไม่ให้คนดื่มแล้วมาขับขี่ยานพาหนะ โดยล่าสุดกฎหมายดื่มแล้วขับ มีการเพิ่มโทษทำให้ผู้อื่น ‘บาดเจ็บสาหัส’ จำคุก 2-6 ปี ปรับตั้งแต่ 40,000 – 120,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 2 ปี และถ้าทำให้ผู้อื่น ‘ถึงแก่ความตาย’ จำคุก 3 -10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตทันที ซึ่งตนอยากให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายมีความจริงจังในเรื่องนี้”
นางชามานันท์ สุจริตกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสาร สสส. กล่าวถึงเป้าหมายหลักของการขับเคลื่อนประเด็นความปลอดภัยทางถนน ว่า “ปัญหาอุบัติเหตุเป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศที่สร้างความสูญเสียในทุกมิติ ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้ต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่ส่งผลต่อผลิตภาพและการพัฒนาประเทศ โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ตั้งแต่ปี 2560 – 2564 ระบุว่ามูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยสูงถึง 5.1 แสนล้านบาท ดังนั้น สสส. และภาคีเครือข่ายจึงร่วมช่วยกันหาแนวทางส่งเสริมสนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมาย และหามาตรการเสริมพลังเพื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตให้เป็น 12 คนต่อแสนประชากร หรือไม่เกิน 8,474 คนต่อแสนประชากร ในปี 2570 ตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 (2565 – 2570) ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยกันผลักดัน ทั้งนี้เป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนของ จ. ชลบุรี มีนโยบายที่เข้มแข็งและมาตรการที่เข้มข้น ในการสร้างความปลอดทางถนนทั้ง 5 ด้าน”
ด้าน น.ส.รัชนี หลิวสุวรรณ ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เคเบิลทีวี (ชลบุรี) จำกัด (สถานีโทรทัศน์ CTV ชลบุรี) – เครือข่ายสื่อสุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยง และสื่อมวลชน กล่าวถึงความร่วมมือในการสื่อสารรณรงค์ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ว่า “ CTV ชลบุรี และเครือข่ายสื่อท้องถิ่นเพื่อสุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยง มีความพร้อมต่อการผลักดันนโยบายและมาตรการของทุกภาคส่วนของจังหวัดชลบุรี ด้วยความร่วมมือในการสื่อสารรณรงค์การสวมหมวกนิรภัย สร้างความตระหนักในการห้ามดื่ม ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ควบคุมตามกฎหมาย เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ และเป็นหูเป็นตาให้กับทางการในการประชาสัมพันธ์เพิ่มมาตรการความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ตามแนวคิด คนชล...สวมหมวกนิรภัย ปีใหม่ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ ”