เสี่ยงทุกคน... สภาพอากาศที่เย็นชื้น ทำให้เชื้อโรคมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน แพร่กระจายได้ง่ายและเร็ว ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางระบบหายใจ เช่น โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไวรัสโควิด-19 โรคปอดบวม เป็นต้น
บทความให้ความรู้ไขข้อสงสัยโรคที่มาพร้อมกับลมหนาวโดย พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายสาเหตุ อาการ แนวทางการรักษาของแต่ละโรค สำหรับนำไปสังเกตตนเองและคนรอบข้าง หากมีอาการดังกล่าวจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงที
• โรคไข้หวัด
ไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ อาการมักดีขึ้นเอง และหายได้เอง ภายใน 1 สัปดาห์
สาเหตุ : เชื้อไวรัส
การรักษา : รับประทานยา รักษาตามอาการ
• โรคไข้หวัดใหญ่
ไข้สูง ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ปวดเมื่อยตัว อาการมักรุนแรงและยาวนานกว่าไข้หวัด ในประชากรกลุ่มความเสี่ยงสูง อาจมีอาการรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม
สาเหตุ : เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
การรักษา : กรณีกลุ่มเสี่ยงต่ำ รับประทานยา รักษาตามอาการ อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสตามความเหมาะสม
กรณีกลุ่มเสี่ยงสูง (โรคอ้วน BMI > 30 mg/kg2, หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดไม่เกิน 14 วัน มีอายุ < 2ขวบ หรือ > 60 ปี, ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต เบาหวาน) ควรได้รับการตรวจวินิจฉัย และพิจารณาให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด ไม่ควรเกิน 48 ชม. หลังจากที่แสดงอาการ
• โรคไวรัสโควิด-19
ไข้สูง ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ปวดเมื่อยตัว
สาเหตุ : เชื้อไวรัสโควิด-19
การรักษา : กรณีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง รับประทานยา รักษาตามอาการ อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสตามดุลยพินิจของแพทย์
กรณีมีอาการ ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือ มีโรคร่วมสําคัญ หรือ ปอดอักเสบ (Pneumonia) ควรได้รับการตรวจวินิจฉัย และพิจารณาให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด
• โรคปอดบวม
ไข้ ไอ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย
สาเหตุ : เกิดการติดเชื้อที่ปอด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังเกิดจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อไมโคพลาสมา (Mycoplasma) และเชื้อรา เมื่อปอดติดเชื้อ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะส่งเม็ดเลือดขาวมาที่เซลล์ปอด และเกิดปฏิกิริยาจากการทำลายเชื้อโรค ทำให้เกิดหนองหรือของเหลวท่วมขังอยู่ภายในถุงลม ปอด ทำให้เกิดอาการไอ หายใจลำบาก และหอบเหนื่อย
การรักษา : ขึ้นกับเชื้อที่ก่อโรค ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรักษาตามความเหมาะสม
โรคที่เสี่ยงโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว...
โรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมโป่งพอง ช่วงหน้าหนาวจะกระตุ้นให้มีอาการกำเริบ ควรสังเกตอาการ ใช้ยารักษาอย่างต่อเนื่อง และรู้วิธีปฎิบัติตัวเพื่อรักษาอาการเบื้องต้น กรณีอาการไม่ตอบสนองต่อยาบรรเทาอาการ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรักษาตามความเหมาะสม
โรคภูมิแพ้ เกิดอาการคัดจมูก คันตา จาม น้ำมูก ผื่น อาการมักรุนแรงขึ้น หรือมีปัจจัยส่งเสริมจาก ฝุ่น PM 2.5 แนะนำรับประทานยา หรือพ่นยารักษาตามอาการ ร่วมกับหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
ปอดแข็งแรงต้อนรับหน้าหนาว : รัก – หลบ - หลีก
รัก - ษาสุขภาพ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ฉีดวัคซีนป้องกัน
หลบ - เลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย หรือป้องกันอย่างเหมาะสมเวลาสัมผัสผู้ป่วย ไม่ควรใช้ของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน
หลีก - เลี่ยงสถานที่ที่คนหนาแน่น อากาศไม่ถ่ายเท เช่น โรงภาพยนต์ ศูนย์การค้า
การป้องกัน และดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาท จะทำให้หนาวนี้ ผ่านไปอย่างแสนสุข หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์อายุรกรรม โทร. 02 483 9999 I Line: @navavej