ไซยาไนด์ (Cyanide) เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง สามารถออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็วหลังได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ไซยาไนด์จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์ ทำให้เซลล์นำออกซิเจนไปใช้ไม่ได้จนเป็นอันตรายถึงชีวิต
บทความให้ความรู้โดย พญ.ยิ่งลักษณ์ แสงเวหาสน์ แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์บริการผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ (Emergency Room) โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการทางคลินิก การวินิจฉัย และการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับไซยาไนด์ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนทั่วไป สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดูแล และป้องกันคนรอบข้างได้อย่างทันท่วงที
ไซยาไนด์ มีกลิ่นเฉพาะตัวเรียกว่ากลิ่นอัลมอนด์ขม (Bitter almond) สามารถพบได้ในหลายรูปแบบ ได้แก่
• ภาวะก๊าซ Hydrogen cyanide เป็นแก๊สไม่มีสี อาจพบได้จากการเผาไหม้สารพลาสติก เมลามีน ขนสัตว์ และหนังเทียม มักพบได้ในเหตุเพลิงไหม้
• กลุ่มเกลือไซยาไนด์ เป็นก้อนผลึกหรือผงสีขาว เช่น Sodium cyanide และ Potassium cyanide มักนำไปใช้ในงานอุตสาหกรรม การชุบโลหะ การสังเคราะห์สารเคมี เช่น น้ำยาประสานทอง สี และสารเคมีกำจัดแมลงบางชนิด นอกจากนี้ยังพบได้จากเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านบางชนิดเช่น น้ำยาล้างเล็บมี acetonitrile ปนอยู่ และน้ำยาล้างเครื่องเงิน
• ไซยาไนด์ในพืชธรรมชาติ จะมีสาร Cyanogenic glycosides พบได้ในเมล็ดของเอพริคอต เชอร์รี่ดำหน่อไม้ดิบ หัวและใบของมันสำปะหลังดิบ เป็นต้น
อาการทางคลินิก
ผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับสารพิษภายในเวลาสั้น ๆ เป็นหลักนาที ทั้งนี้ความรุนแรงของอาการขึ้นกับ ปริมาณของสารพิษที่ได้รับ ระยะเวลาในการได้รับสารพิษ และวิธีการที่ได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะจากการกิน การสูดดม หรือการดูดซึมผ่านทางผิวหนัง
ภาวะเป็นพิษแบบเฉียบพลัน
เกิดจากการได้รับไซยาไนด์เข้าไปในปริมาณมาก อาการมักจะเกิดขึ้นในทันที เริ่มจากปวดศีรษะ ใจสั่น หน้าแดง หายใจติดขัด ชัก วูบหมดสติ หยุดหายใจ และอาจมีภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ภายในเวลา 10 นาที สังเกตสีบริเวณผิวหนังและเยื่อบุจะแดงคล้ายคนปกติ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะมีภาวะหยุดหายใจก็ตาม
ภาวะเป็นพิษแบบเรื้อรัง
เกิดจากการได้รับไซยาไนด์ปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ทำให้กดการทำงานของระบบประสาทและการหายใจ เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น และอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน อาจทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด
การวินิจฉัย
เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจหาระดับไซยาไนด์ในเลือดได้ทันที รวมถึงภาวะพิษจากไซยาไนด์นั้นเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องได้รับการรักษา ดังนั้นการวินิจฉัยเบื้องต้นจึงอาศัยข้อมูลจากประวัติ อาการ และอาการแสดงของผู้ป่วย รวมถึงผลตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เข้าได้กับพิษจากไซยาไนด์ เช่น การตรวจพบค่าออกซิเจนในเลือดดำสูง ตรวจพบเลือดเป็นกรดรุนแรง และค่าแลคเตสสูง เป็นต้น
การรักษาเบื้องต้น
หากสัมผัสกับสารชนิดนี้ ควรรีบลดปริมาณสารดังกล่าวให้ได้มากที่สุด มีวิธีการรับมือ ดังนี้
การสัมผัสทางผิวหนัง หากร่างกายสัมผัสกับ ไซยาไนด์ ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออกด้วยการใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกเป็นชิ้น ๆ และนำออกจากลำตัว โดยวิธีนี้จะช่วยให้เสื้อผ้าที่ปนเปื้อนไม่ไปสัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่น และไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสร่างกายหรือเสื้อผ้าโดยตรง เพราะอาจได้รับพิษไปด้วย หลังจากนั้นจึงทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล
การสูดดมและรับประทาน หากสูดดมอากาศที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อนควรออกจากพื้นที่บริเวณนั้น หากไม่สามารถออกจากสถานที่ได้ควรก้มต่ำลงบนพื้น ในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจลำบากหรือหยุดหายใจ ต้องทำ CPR เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ห้ามใช้วิธีเป่าปากหรือวิธีผายปอดเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับพิษไปด้วย
การสัมผัสทางดวงตา ควรถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออก จากนั้น ใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 นาที และไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจ
“โรงพยาบาลนวเวช” มุ่งมั่นให้บริการทางการแพทย์ที่ดี และเข้าถึงง่าย (Accessible Quality Healthcare) พร้อมดูแลสุขภาพของทุกคนอย่างเข้าอกเข้าใจ ด้วยบริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย และทีมแพทย์เฉพาะทาง หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์บริการผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ (Emergency Room) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 02 483 9999 I Line: @navavej I www.navavej.com