แรงขับเคลื่อน, ท้องถิ่นนิยม, การกระจายตัวเศรษฐกิจ และความสำคัญของ 'ไทยลีก 3' ที่ไม่ควรมองข้าม

แรงขับเคลื่อน, ท้องถิ่นนิยม, การกระจายตัวเศรษฐกิจ และความสำคัญของ 'ไทยลีก 3' ที่ไม่ควรมองข้าม
ไทยลีก 3 ซีซั่น 2023-24 ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการและก็ได้ 3 ทีม เลื่อนชั้นเป็นที่เรียบร้อย ทว่าสิ่งสะท้อนจากการแข่งขันยังคงมีออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะรอบชิงชนะเลิศที่ 'SIAMSPORT' ได้เจาะลึกหลากแง่มุมของลีกภูมิภาคว่ามี 'ความสำคัญ' ต่อสยามประเทศมากเพียงใด!!

[ 1 ] กูปรีพลัดถิ่นเคลื่อนพล

   อาทิตย์ที่ 28 เมษายน ในวันที่อุณหภูมิสูงปรี๊ดกว่า 40 องศาเซลเซียส 'SIAMSPORT' เดินทางถึงสนามเฉลิมพระเกียรติ บางมด ราวๆ บ่าย 3 โมง พร้อมเสียงกลองของทีมเยือนที่โห่ร้องระงมเป็นสายเพื่อแสดงแสนยานุภาพของตนเอง

   กองเชียร์ศรีสะเกษ ไม่ต่ำกว่า 500 ชีวิต นั่งล้อมวงทำกิจกรรมต่างๆ กันด้วยรอยยิ้ม

   จากการเปิดเผยของแฟนๆ กลุ่มหนึ่ง พวกเขาบอกว่า "ส่วนใหญ่ที่มาในวันนี้เป็นกูปรีพลัดถิ่น (แฟนฟุตบอลชาวศรีสะเกษที่ทำงานนอกจังหวัดบ้านเกิด) แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เดินทางมาจากศรีสะเกษ เลย คือเราเป็นจังหวัดที่รักกีฬา รักฟุตบอล พอมีแข่ง ถ้าใครว่างก็จะมาให้กำลังใจนักกีฬาอยู่เสมอ"

   ถ้อยคำจากปากหญิงสาวผู้นำขนมจีนและแจ่วปลาร้ามาแจกจ่ายให้ผู้คนที่แวะผ่านมา-เวียนไปยังเอ่ยต่ออีกว่า "อย่างในฟุตบอล ถ้าเรา (ศรีสะเกษ ยูไนเต็ด) ต้องออกไปเยือน ก็จะมีการรวมเงินกัน ซึ่งนัดนี้กับ บางกอก เอฟซี เรารวมได้ราวๆ 13,000 บาท"

   "เงินจำนวนนี้ก็จะแบ่งจ่ายเป็นหลายส่วน ไล่ตั้งแต่เรื่องอาหาร, เรื่องป้าย, เรื่องเครื่องดื่ม และของเบ็ดเตล็ดอื่นๆ

   นอกจากเหล่ากูปรีพลัดถิ่นที่มาจากจังหวัดใกล้เคียงพระนคร ไม่ว่าจะเป็นนครนายก, ชลบุรี, ระยอง, ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี หรือสระแก้ว ยังมีอีกหลายร้อยชีวิตที่ดิ่งตรง 548 กิโลเมตร จากศรีสะเกษ เพื่อมาให้กำลังใจทีมรักของตนเอง

   รถโดยสารของสโมสรมากัน 1 คัน ถ้วน แต่หลายๆ คนก็มากันเอง

   บ้างก็มาโดยรถส่วนตัว (ใช้เวลาราวๆ 7 ชั่วโมง)

   บ้างก็มาโดยรถโดยสารสาธารณะ (ใช้เวลาราวๆ 8-9 ชั่วโมง)

   บ้างก็มาโดยรถไฟ (ใช้เวลาราวๆ 12 ชั่วโมง)

   ต่างคน, ต่างทิศ, ต่างหนทาง แต่ทุกชนชาวลำดวนเพลิงนั้นมีหมุดหมายเดียวกันคือ ศรีสะเกษ ยูไนเต็ด

[ 2 ] เสียงสะท้อนจากคอลูกหนัง

   เสียงดนตรียังบรรเลงอย่างต่อเนื่อง - รถบัสนักเตะเดินทางถึงสนามแข่งขัน ทัพผู้เล่นของทั้งสองสโมสรลงมาพร้อมบรรยากาศอันอบอุ่นจากการต้อนรับของแฟนๆ

   "วันนี้ (28 เมษายน 2024) ถือเป็นวันสำคัญของ บางกอก เอฟซี เพราะเราอยากจะกลับสู่ ไทยลีก 2 อีกครั้งในฐานะแชมป์ ไทยลีก 3 และที่สำคัญคือการเลื่อนชั้นเป็นหนแรกในรอบ 7 ฤดูกาล" เสียงของคุณแทน-ศุภณัฐ วันเพ็ญ สาวกกระทิงเพลิงผู้เปิดสี่ห้องหัวใจให้ทีมมาตั้งแต่ปี 2013 เอ่ยกับ 'SIAMSPORT'

   ชายหนุ่มชาวบางมด กล่าวเสริมว่า "70-80 เปอร์เซ็นต์ของแฟนๆ บางกอก จะเป็นคนในพื้นที่รอบๆ ถามว่าทำไมผมถึงเชียร์ บางกอก ตอบได้ง่ายๆ เลยว่าเพราะนี่คือสโมสรของผู้คนในแถบนี้ ดังนั้นการที่ทีมฟุตบอล มันจึงเหมือนการที่เราได้มีกิจกรรมทำร่วมกันในช่วงสุดสัปดาห์"

   "นอกจากเรื่องการแข่งขันที่ทำให้ผู้คนตื่นตัว กระแสฟุตบอลมันยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ร้านค้า, การคมนาคม, ที่พัก และสิ่งอื่นๆ จะตามมาเอง เพราะผู้มาเยือนก็คงอยากมาเที่ยว อยากมาสัมผัสวัฒนธรรม รวมถึงการใช้ชีวิตในพื้นที่ที่พวกเขาไม่เคยไปเหมือนกัน"

  นี่คือสิ่งที่ 'คุณแทน' ในฐานะแฟนฟุตบอลชาวสยามประเทศมองถึงภาพรวมเมื่อ ไทยลีก 3 เริ่มกระจายความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

   บางกอก เป็นสโมสรฟุตบอลเดียวที่มีที่ตั้งอยู่แขวงบางมด ซึ่งอยู่ในเขตทุ่งครุ จังหวัดกรุงเทพมหานคร และนั่นทำให้พวกเขามีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นพอสมควร อย่างน้อยใน 1 เกม ก็จะมีผู้ชมเรือนหลักพันเข้ามาให้กำลังใจ

   โดยเฉพาะเกมพลิกล็อกชนะ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด นั้นมีแฟนๆ มากถึง 7,264 คน ซึ่งเกือบเต็มความจุของอัฒจันทร์ที่รับคอลูกหนัง 8,000 ที่นั่ง

   นอกเหนือจากสาวกของทัพกระทิงเพลิงที่มองเห็นถึงโอกาสการพัฒนาในระยะยาวที่จะส่งเสริมเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะนอกสนาม - มาร์ติน เพ็มเบอร์ตัน นักท่องเที่ยวจากเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ผู้อาศัยอยู่ในดินแดนขวานทองมานานกว่า 17 ปี ก็ยังตอกย้ำให้เห็นว่าลีกภูมิภาคนั้นคือรากฐานของวงการฟุตบอลโดยแท้จริง

   บรุษวัย 60 ปี กล่าวว่า "ผมมาอยู่เมืองไทย นานแล้ว ผมชอบที่นี่ แม้ว่าอากาศจะร้อนมากก็ตาม (หัวเราะ) เสน่ห์ของที่นี่คือรอยยิ้มของผู้คน ความมีมิตรไมตรี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มันจึงทำให้ผมประทับใจมากๆ"

   "ผมเชียร์ ศรีสะเกษ มานานแล้ว เชียร์มาตั้งแต่ใช้ชื่อ ศรีสะเกษ เอฟซี ส่วนหนึ่งเพราะผมผูกพันกับที่นี่ แต่ที่สำคัญคือแฟนๆ ของพวกเขา (ศรีสะเกษ) น่ารักมาก มันจึงทำให้ค่อยๆ ซึมซับวัฒนธรรมของท้องถิ่นไปโดยปริยาย" 

   "ผมมาจากแมนเชสเตอร์ แน่นอนว่าผมรู้เรื่องฟุตบอลพอสมควรทีเดียว (หัวเราะ) ผมจึงกล้าพูดได้เลยว่าเมืองไทย กับที่อังกฤษ มีวัฒนธรรมการดูที่แตกต่างกันมาก"

   "แต่ผมชอบของไทย นะ (ยิ้ม) เพราะมันเหมือนครอบครัว โดยเฉพาะ ศรีสะเกษ ที่ต่างคนต่างรู้จักกัน ทุกคนเอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ว่านักเตะ, สตาฟโค้ชหรือแม้แต่ประธานสโมสรก็ให้ความสำคัญต่อแฟนๆ อย่างเป็นกันเอง ผมว่านี่แหละคือเสน่ห์ของฟุตบอล"  

   จากคำบอกเล่าของคอลูกหนังทั้งฝั่ง บางกอก และ ศรีสะเกษ นั้นสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าฟุตบอลท้องถิ่นนั้นเป็นแรงขับเคลื่อนในหลากมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระแสกีฬา, การสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน, กระตุ้นเศรษฐกิจและรวมไปถึงการส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีงามให้กับสยามประเทศด้วยเช่นกัน

[ 3 ] เศรษฐกิจขยายวงกว้าง

   เรื่องการค้าขายนอกสนามแข่งขันก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ฟุตบอลแมตช์หนึ่งนั้นช่วยสร้างรายได้ให้ผู้คนในท้องถิ่น ตัวอย่างชัดเจนที่ เฉลิมพระเกียรติ บางมด สเตเดี้ยม ในเกมระหว่าง บางกอก กับ ศรีสะเกษ ก็เพิ่ม

   จากการเปิดเผยของแม่ค้าในเกมนัดชิงชนะเลิศ ไทยลีก 3 รอบ แชมเปี้ยนส์ ลีก นั้นได้ข้อมูลว่า 'น้ำเปล่า' และ 'น้ำอัดลม' สามารถทำรายได้สูงถึง 3-4 พันบาท และถ้าเป็นสนามที่อนุญาตให้ขายเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ จะมีรายรับหลักหมื่นเลยทีเดียว

   ขณะที่อาหารประเภทปิ้ง-ทอดหรือกับข้าวต่างๆ ที่กระจายตามจุดต่างๆ รอบสนามแข่งขันก็สามารถทำเงินระหว่าง 4,000-10,000 บาท ต่อเกมเช่นกัน

   ด้วยรายได้เหล่านี้ อาจจะถือว่าไม่มากมายจนกลายเป็นอาชีพหลักได้ก็จริง แต่อย่างน้อยมันก็เป็นการกระจายรายรับให้กับผู้คนในท้องถิ่นได้มีงานทำ ได้มีกิจกรรมเสริมเพื่อก่อให้เกิดมูลค่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจนั่นเอง

   เท่านั้นไม่พอ จากการเปิดเผยจาก บางกอก ซึ่งเป็นทีมเจ้าบ้านนั้นระบุว่าเกมนัดชิงชนะเลิศที่เผชิญหน้า ศรีสะเกษ นั้นขายสินค้าที่ระลึกได้ถึง 35,146 บาท และเมื่อรวมกับค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขันที่มียอด 369,150 บาท ทำให้พวกเขามีรายรับ 404,296 บาท 

   เงินจำนวนนี้คือสิ่งที่จะนำไปพัฒนาในส่วนต่างๆ เพราะทีมฟุตบอลนั้นย่อมขับเคลื่อนด้วยพันธบัตร และการที่แฟนๆ เข้าไปสนับสนุนแบบต่อเนื่อง นอกจากจะเป็นการกระตุ้นความนิยมให้เพิ่มสูงขึ้น มันยังช่วยสร้างรายได้ให้กับสโมสรที่พวกเขารักอีกด้วย

[ 4 ] มาดามแป้งสนับสนุนเต็มกำลัง

   พลันที่เสียงนกหวีดยาวจากผู้ตัดสินเป่าจบการแข่งขัน บางกอก เฉือนชนะ ศรีสะเกษ ไป 2-1 ทำให้สกอร์รวมเป็น 3-2 คว้าแชมป์ ไทยลีก 3 รอบ แชมเปี้ยนส์ ลีก ไปครองได้อย่างยิ่งใหญ่ ท่ามกลางผู้ชมในสนามกว่า 5.276 คน

   คุณนวลพรรณ ล่ำซำ หรือ 'มาดามแป้ง' ดิ่งตรงข้ามฟากจาก บางกอก อารีน่า ซึ่งอยู่เขตหนองจอก จังหวัดกรุงเทพมหานคร เดินทางถึงสนามเฉลิมพระเกียรติ บางมด พร้อมกับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้สนับสนุน รวมไปถึงแฟนๆ

   นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย คือผู้มีส่วนสำคัญที่ผลักดัน ไทยลีก 3 ให้กลับมานิยมในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ร่วมกับรัฐบาลไทย นำโดยนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่เล็งเห็นการพัฒนาลีกภูมิภาค ซึ่งเปรียบเสมือนรากฐานของวงการฟุตบอล จึงสนับสนุนทุกช่องทางเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว

   การที่คุณนวลพรรณ เดินทางมามอบถ้วยแชมป์ด้วยตนเอง นั่นบ่งชี้ได้ชัดเจนถึงความรักในฟุตบอลไทย ของตัวเธอ และการตอบรับจากผู้คนโดยรอบก็อยู่ในทิศบวกบวก เพราะมีแฟนๆ มารายล้อมด้วยความตื่นเต้นที่ได้ชิดใกล้กับผู้หญิงที่เพียบพร้อมไปด้วยความสามารถของประเทศ

   บทสรุป ไทยลีก 3 ซีซั่น 2023-24 จบลงไปเป็นที่เรียบร้อย และมีแววว่าฤดูกาลหน้าความเข้มข้นจะทวีคูณจากแรงประชาสัมพันธ์ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มเหนี่ยวจากรัฐบาล ทั้งยังมีสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย คอยซัพพอร์ตในทุกๆ ด้าน

   ฟุตบอลไทย ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นของ 'เรา' ทุกคน

   แรงขับเคลื่อน, ท้องถิ่นนิยม, การกระจายตัวเศรษฐกิจ และความสำคัญของ 'ไทยลีก 3' ที่ไม่ควรมองข้าม


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport