แบน "เปาโค้ช" 1 เดือน ตัดสินผิดพลาด ด้าน ต่อพงษ์ ผู้ตัดสิน VAR โดนแบน 1 สัปดาห์ จากเกม ขอนแก่น พบ การท่าเรือ
คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จัดประชุม ครั้งที่ 4 ประจำฤดูกาล 2567/68 โดยมี นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ เป็นประธาน ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน และ เหตุการณ์ผิดปกติ ดังนี้
พิจารณาเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน เริ่มจากการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยลีก 1 คู่ระหว่างสโมสรขอนแก่น ยูไนเต็ด พบ สโมสรการท่าเรือ เอฟซี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา
เหตุการณ์ ในนาทีที่ 24 ขอนแก่น ยูไนเต็ด ได้เตะมุมเข้ามาในกรอบเขตโทษของ การท่าเรือ เอฟซี ผู้เล่นหมายเลข 3 Mr. ASNAWI MANGKUALAM BAHAR ของ การท่าเรือ เอฟซี ได้พยายามกระโดดโหม่งบอลแต่ไม่ถึงบอล ทำให้จังหวะต่อมาผู้เล่นหมายเลข 5 MR. DIEGO LUIZ LANDIS โหม่งบอลไปสัมผัสโดนแขนซ้ายของผู้เล่นหมายเลข 3 Mr. ASNAWI MANGKUALAM BAHAR ของ การท่าเรือ เอฟซี ซึ่งเป็นจังหวะที่ผู้เล่นคนดังกล่าวได้หันหลังให้กับคู่ต่อสู้อยู่ ในจังหวะนี้ผู้ตัดสินไม่ได้มีการเป่าฟาล์วแต่อย่างใด หลังจากนั้น VAR ได้เรียกผู้ตัดสินมา (On-field review) เมื่อผู้ตัดสินตรวจสอบแล้วเห็นว่าเข้าข่ายเป็นกรณีแฮนด์บอล จึงพิจารณาเป็นการฟาล์ว และให้เป็นจุดโทษกับทาง ขอนแก่น ยูไนเต็ด
ผลพิจารณาโทษ ลงโทษ "เปาโค้ช"นายศิวกร ภูอุดม ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันฯ ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษข้อ 57 (3) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 เดือน เนื่องจากจังหวะที่ลูกบอลไปสัมผัสโดนแขนซ้ายของผู้เล่นหมายเลข 3 Mr. ASNAWI MANGKUALAM BAHAR ของ การท่าเรือ เอฟซี แขนซ้ายของผู้เล่นคนดังกล่าวอยู่ในลักษณะของแขนที่เป็นปกติของการเล่น ไม่ถือว่าเป็นการแฮนด์บอลแต่อย่างใด
ลงโทษ นายต่อพงษ์ สมสิงห์ ผู้ตัดสินวีดิทัศน์ (VAR) ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันฯ ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 สัปดาห์ เนื่องจากให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีแฮนด์บอลไม่ถูกต้อง และทำให้การแทรกแซงของ VAR ไม่เป็นไปตามหลัก VAR Protocol
ส่วนเกมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 1 คู่ระหว่าง สโมสรราชบุรี เอฟซี พบ สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา
เหตุการณ์ ตามที่ปรากฏข่าวการให้สัมภาษณ์หลังจบการแข่งขัน โดยมี Mr. Makoto Teguramori หัวหน้าผู้ฝึกสอน และ นายวงศ์ธวัช กันทรากรกิติ เจ้าหน้าที่ล่าม ขึ้นกล่าวให้สัมภาษณ์สื่อ ซึ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน ที่ให้ใบแดงผู้เล่นสโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด ในการแข่งขัน ซึ่งในระหว่างการให้สัมภาษณ์หลังจบการแข่งขัน Mr. Makoto Teguramori หัวหน้าผู้ฝึกสอน เป็นผู้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเป็นภาษาญี่ปุ่น และมีนายวงศ์ธวัช กันทรากรกิติ เจ้าหน้าที่ล่าม ทำหน้าที่แปลภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย
หลังจากจบประโยคที่ Mr. Makoto Teguramori ได้พูดไป โดยฝ่ายจัดการแข่งขันเห็นว่า การให้สัมภาษณ์สื่อของ Mr. Makoto Teguramori หัวหน้าผู้ฝึกสอน ที่ถูกแปลภาษาไทยเป็นคำพูดของนายวงศ์ธวัช กันทรากรกิติ เจ้าหน้าที่ล่าม อาจเป็นการเข้าข่ายการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อ
ผลพิจารณาโทษ คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยเชิญบุคลากรของสมาคมที่มีความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่นฟังบทสัมภาษณ์ของ Mr. Makoto Teguramori ปรากฏว่าบทสัมภาษณ์ดังกล่าว ไม่มีถ้อยคำที่เข้าข่ายการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อ กล่าวคือไม่มีคำว่าโกง แต่เป็นความเข้าใจของนายวงศ์ธวัช กันทรากรกิติ เจ้าหน้าที่ล่าม ที่ทำหน้าที่แปลภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย คณะกรรมการฯ จึงมีมติเอกฉันท์ให้เตือน นายวงศ์ธวัช กันทรากรกิติ เจ้าหน้าที่ล่าม ว่าให้แปลภาษาตามความเป็นจริง ไม่บิดเบือนคำแปลจนอาจทำให้บทสัมภาษณ์เข้าข่ายการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อได้ต่อไป
ส่วนการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการ “เมืองไทย ลีก” ไทยลีก 2 คู่ระหว่าง สโมสรจันทบุรี เอฟซี พบ สโมสรนครศรี ยูไนเต็ด เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา
เหตุการณ์ เริ่มการแข่งขันไปได้นาทีที่ 1.30 น. ผู้ตัดสินได้ทำการสั่งหยุดการเล่น เพราะแสงสว่างในสนามไม่เพียงพอ บริเวณทั้งสองเสาด้านตรงข้ามผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 1 โดยเสาแรก (ฝั่งซ้าย) มีไฟ 15 ดวง และเสาที่สอง (ขวามือ) มีไฟ 9 ดวง ผู้ตัดสินได้แจ้งผู้ควบคุมการแข่งขันทราบ และแจ้งเจ้าหน้าที่สนามดำเนินการแก้ไขครั้งที่ 1 ใช้เวลาทั้งหมดในการแก้ไข 32.18 นาที จึงกลับมาแข่งขันได้ เพราะไฟส่องสว่างบางดวงด้านซ้ายมือฝั่งตรงข้ามผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 1 ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมบางดวง จึงเริ่มเล่นจากการเตะมุมในนาทีที่ 1.31
หลังจากนั้นในนาทีที่ 12.15 น. ผู้ตัดสินได้สั่งหยุดการเล่นอีกครั้ง เนื่องจากแสงสว่างไม่เพียงพอ ผู้ตัดสินได้แจ้งผู้ควบคุมการแข่งขันทราบ และให้เจ้าหน้าที่สนามแก้ไขเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งไม่สามารถแก้ไขให้มีแสงสว่างเพียงพอได้ ภายในเวลาที่กำหนด 30 นาที รวมเวลาที่แก้ไขไฟส่องสว่างทั้งสองครั้งเป็นเวลามากกว่า 60 นาที ผู้ตัดสินจึงเรียกหัวหน้าทีมทั้งสองทีม และผู้ควบคุมการแข่งขัน ทราบว่าไม่สามารถทำการแข่งขันต่อไปได้ เนื่องจากแสงสว่างไม่เพียงพอ ผู้ตัดสินจึงเป่านกหวีดยุติการแข่งขัน
ผลพิจารณาโทษ คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ได้พิจารณาจากรายงานผู้ตัดสิน รายงานผู้ควบคุมการแข่งขัน รายงานฝ่ายจัดการแข่งขัน หนังสือชี้แจงของสโมสรจันทบุรี เอฟซี และเทปบันทึกการแข่งขันเปรียบเทียบกับ นัด เกษตรศาสตร์ เอฟซี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2567 แล้วเห็นว่า ไฟส่องสว่างในคู่ระหว่าง สโมสรจันทบุรี เอฟซี พบ สโมสรนครศรี ยูไนเต็ด ในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 สโมสรมีการปรับปรุงไฟส่องสว่างก่อนการแข่งขันนัดดังกล่าวตามที่แจ้งในหนังสือชี้แจง และในระหว่างการแข่งขันไฟส่องสว่างเกิดขัดข้อง ทำให้ไฟติดไม่ครบดวง ไฟไม่ครอบคลุมทั้งสนาม โดยเฉพาะหน้าประตูทั้งสองฝั่งที่เห็นความแตกต่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบภาพถ่ายทอดสดกับนัดเกษตรศาสตร์ เอฟซี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2567 แม้สโมสรได้พยายามแก้ไขแล้ว แต่ไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้ความสว่างลดน้อยลงจนผู้ตัดสินไม่สามารถทำการแข่งขันต่อได้ภายในระยะเวลาที่กาหนด รวมระยะเวลาที่หยุดการแข่งขันเกินกว่า 60 นาที
จึงมีมติเอกฉันท์ ลงโทษสโมสรจันทบุรี เอฟซี ไฟฟ้าส่องสว่างสำหรับใช้ส่องสนามแข่งขันขัดข้อง จนไม่สามารถดำเนินการแข่งขันต่อไปได้ มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 5.1.10 (2) ประกอบกับบทที่ 3 ให้ปรับสโมสรจันทบุรี เอฟซี แพ้ สโมสรนครศรี ยูไนเต็ด 0 ประตูต่อ 3