กรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการประธานบริหาร บริษัท ไทยลีก จำกัด รวมถึง พาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว หลังจบการประชุมสโมสรสมาชิกไทยลีก 2023-24 เมื่อวันอังคารที่ 27 มิ.ย.66 เกี่ยวกับประเด็นเงินรายได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฤดูกาลใหม่ พร้อมเผยเตรียมนำข้อเสนอสมาชิกที่จะให้ทั้ง 16 ทีมเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการไทยลีก 1 หารือกับนายกสมาคมฯ ต่อไป
กรวีร์ ปริศนานันทกุล เผยว่า เราได้เชิญผู้แทนไทยลีก 16 ทีม หารือพูดคุยถึงความพร้อมในการจัดการแข่งขัน เราได้เปิดประมูลถ่ายทอดสด มันไม่ได้ตรงตามเป้าหมาย กระทบอย่างชัดเจน รับฟังความเห็นของสโมสรทั้ง 16 ทีมในการประชุมครั้งนี้ โดยข้อเสนอแนะที่น่าสนใจคือ ให้ 16 ทีม บริหารสิทธิประโยชน์ในการจัดการแข่งขันกันเอง ซึ่ง บ.ไทยลีก จะนำเสนอให้นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลเพื่อหาข้อสรุปต่อไป และจะต้องผ่านสภากรรมการอีกครั้งในวันที่ 3 ก.ค. 66 แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไทยลีกเปิด ส.ค.นี้ ก็ต้องเดินหน้าต่อ ไม่ว่าจะตั้งใหม่ หรือจะแยกไป ก็ต้องเดินต่อ
"เราได้เชิญผู้แทนสโมสรไทยลีก 16 ทีม หารือพูดคุยถึงความพร้อมในการจัดการแข่งขันฤดูกาลหน้ารวมถึงความพร้อมต่างๆ และเรื่องเปิดประมูลการถ่ายทอดสดซึ่งมันไม่ได้ตรงตามเป้าหมาย กระทบอย่างมีนัยสำคัญกับสโมสรที่เข้าร่วมการแข่งขันอย่างชัดเจน เราจึงเชิญทั้ง 16 ทีมมาเพื่อแจ้งถึงสถานการณ์ ปัญหาต่างๆ และรับฟังความเห็นของสโมสรต่างๆ ว่า มีความคิดเห็นอย่างไรที่จะช่วยกันประคับประคองให้ลีกเดินหน้าต่อไปได้"
"ข้อเสนอแนะจากเสียงส่วนใหญ่ของสโมสรสมาชิก โดยหนึ่งในข้อเสนอที่น่าสนใจคือให้ 16 ทีมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขันและบริหารสิทธิประโยชน์ในไทยลีก 1 ซึ่ง บ.ไทยลีก จะนำเสนอต่อนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลเพื่อเสนอต่าสภากรรมการที่จะมีการประชุมกัน 3 ก.ค.นี้"
"จากข้อเสนอแนะดังกล่าวนั้นทั้ง 16 ทีมจะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรวมกับสมาคมทำให้เป็น 17 ผู้ถือหุ้นมาบริหารสิทธิประโยชน์ เรื่องจัดการแข่งขัน อาจมีทีมบริหารขึ้นมาเพื่อจัดการแข่งขันของลีก ส่วนเรื่องรูปแบบยังไม่ได้คุยกัน วันนี้เป็นเรื่องของหลักการ จะเป็นบริษัทใหม่ หรือบริหารกันเอง ยังไม่ได้สรุป จะต้องผ่านสภากรรมการอีกครั้ง"
"เรามีการพูดคุยในที่ประชุมว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไทยลีกเปิด ส.ค.นี้ ก็ต้องเดินหน้าต่อ ไม่ว่าจะตั้งใหม่ หรือจะแยกไป หรือเปลี่ยนรูปแบบบริหารสิทธิประโยชน์ ยังไงต้องเดินต่อไปเดือนสิงหาคมนี้ลีกก็ต้องเปิด"
สำหรับเรื่องการประมูลลิขสิทธิ์นั้น กรวีร์ เผยว่า ผู้ที่ประมูลลิขสิทธิ์เข้ามา มีให้มาที่ 50 ล้านบาทตามข่าว รวมถึงที่ให้มากกว่านิดหน่อย และน้อยกว่าก็มี ซึ่งก็ไม่เป็นไปตามเป้า อย่างไรก็ตาม เรื่องจัดการแข่งขัน เรื่องสัญญาถ่ายทอดสด มีแน่นอน
"เรื่องจัดการแข่งขันเป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องสิทธิประโยชน์ถ่ายทอดสดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในเรื่องการแข่งขันนั้นได้มีการจัดเตรียมเพื่อให้มีการถ่ายทอดสดนั้นเรามีการจัดเตรียมไว้หมดแล้ว เพียงแต่ว่าตอนนี้จะเป็นใครเป็นผู้มารับสัญญาณนั้นไปถ่ายทอดสดเพื่อเกิดสิทธิประโยชน์กลับไปสู่สโมสรต่างๆที่มันยังไม่ได้ข้อสรุป ดังนั้นเรื่องจัดการแข่งขัน เรื่องถ่ายทอดสดมีเกิดขึ้นแน่นอนเพียงแต่ว่าใครจะได้สิทธิตรงนี้ไป ตรงนี้เท่านั้นที่ยังไม่ได้บทสรุป"
ด้าน พาทิศ ศุภะพงษ์ เสริมถึงเรื่องการประมูลลิขสิทธิ์ว่า "มีผู้เสนอเข้ามามีมูลค่าแตกต่างกันต้องยอมรับว่ามีตัวเลขที่ไม่ตรงตามเป้ามีตั้งแต่จำนวน 50 ล้านบาทตามข่าว รวมถึงที่ให้มากกว่านิดหน่อย และน้อยกว่าก็มี แต่ไม่ได้เป็นแบบแพ็กเกจเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งทั้งทีมชาติและบอลลีกเมื่อก่อนเราสามารถสรุปได้เลย แต่ตอนนี้มีบริษัทที่เป็นบรอดคาซท์ที่มีความต้องการแตกต่างกัน บางแห่งไม่ต้องการทีมชาติ บางแห่งไม่ต้องการลีก หรือไม่ต้องการครบทุกลีก ดังนั้นจำนวนมูลค่าจึงลดลงไปตามความต้องการหรือนโยบายของบริษัทต่างๆมากกว่า"
ผู้สื่อข่าวถามว่ากระบวนการประมูลเรื่องลิขสิทธิ์ต้องเริ่มใหม่หรือไม่ พาทิศ เผยว่า "ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา คือเราไม่สามารถรับเงื่อนไขที่มีเสนอมาในปัจจุบันได้จึงมีการเรียกบรรดาเสโมสรมาประชุมว่าจะให้เราทำอย่างไร หากมีไอเดียอื่น หรือหากยังต้องการให้เดินต่อ เช่น การเปิดโต๊ะเจรจากับเจ้าอื่นๆที่อาจจะมีเข้ามาโดยที่ไม่ได้เข้ามาประมูลแต่เข้ามาเจรจาโดยตรง อันนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง"
"จาก 2 เจ้าที่ยื่นเข้ามา 2 บริษัทเป็นตัวเลขที่ไม่สามารถรับได้เพราะฉะนั้นจึงต้องมองหาตัวเลขอื่นๆ เข้ามาเสริมต่อไป พร้อมกับไอเดียและหลักการวันนี้ที่สโมสรนำเสนอเข้ามา"
ผู้สื่อข่าวถามว่าจากที่ประชุมวันนี้นอกจากไอเดียร่วมหุ้นแล้วจะหาเงินเข้ามาบริหารจัดการอย่างไร "บิ๊กโจ" เผยว่า "ต้องแจ้งก่อนว่า ณ ปัจจุบันในตลาดเนี่ยะ ถ้าเกิดเราขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มหรือช่องสถานีใดๆ ก็เหมือนว่าเราขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทนั้นๆ ตอนนี้หากบริษัทไทยลีกและสโมสรต่างๆ หากเราเป็นผู้ถ่ายทอดสดและมีแพลตฟอร์มของตัวเองแล้วหาสปอนเซอร์เข้ามาก็อาจจะเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ก็เป็นโมเดลอีกโมเดลหนึ่ง จากการที่ปกติเรารอผู้มาซื้อลิขสิทธิ์ไป ตอนนี้เราอาจทำแพลตฟอร์มขึ้นมา นี่อาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้น"
"เรื่องลิขสิทธิ์ที่หากเราเอามาทำเองเป็นเรื่องความท้าทายที่เราต้องศึกษาต่อไป ซึ่งมีโมเดลจากหลายๆประเทศที่เป็นตัวอย่างได้ แต่ว่า ณ ปัจจุบันเหมือนกับสโมสรไทยลีกมองว่าเราขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัท หรือเม็ดเงินในแต่ละปีมากเกินไป เราอาจจะต้องทำอะไรที่อาจจะเป็นของตัวเอง"
"ตอนนี้เป็นเพียงแค่หลักการที่นำมาแชร์กัน อยากให้สมาคมและเหล่าสโมสรหลับไปหารายละเอียดเพิ่มเติมโมเดลต่างๆ ซึ่งผมเชื่อว่าหลายๆสโมสรเป็นนักธุรกิจคงจะรู้การตลาดและส่วนต่างๆที่เกี่ยวของกับธุรกิจอย่างเต็มที่น่าจะมีไอเดียหรือโมเดลที่ดีขึ้นกลับมานำเสนอกันได้"
"บิ๊กโจ" ยังเผยถึงว่ามีการพูดคุยกันถึงแนวทางช่วยเหลือลีกล่างหรือไม่หากไทยลีกแยกออกมาทำเองว่า "ก็คล้ายๆกับลีกอังกฤษหรือลีกอื่นๆ ทั่วโลกที่มีการนำรายได้มาสนับสนุนลักภูมิภาคหรือลีกล่างลงไป เพื่อให้องคาพยพมันยังแข็งแกร่งอยู่"