เงินสนับสนุนแบบให้เปล่า ไทยลีกลีกของใคร

เงินสนับสนุนแบบให้เปล่า ไทยลีกลีกของใคร
เห็นข่าวล่าสุด สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย แจ้งเรื่องการรับเงินสนับสนุนทีมที่ยังค้างชำระ งวดที่ 3 ให้กับสโมสรสมาชิก ไทยลีก 1-2-3 แล้วก็ตกใจไม่น้อยทีเดียวครับ

ไทยลีก 1 รับทีมละ 1,275,000 บาท (จำนวน16 ทีม)

ไทยลีก 2 รับทีมละ 191,250 บาท (จำนวน 18 ทีม)

ไทยลีก 3 รับทีมละ 63,750 บาท (จำนวน 76 ทีม)

คุณพระช่วย.....

ทำทีมใช้งบประมาณเป็นร้อยล้านบาทเพื่อแย่งแชมป์รับเงินสนับสนุนไม่กี่ล้านบาท 

โดยเฉพาะไทยลีก 3 นั้น คุณ ศรุต วิทูวินิจ ดีเจชื่อดังคลื่น FM99 พูดไว้เมื่อวันพุธที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า "ค่าน้ำมันรถ ยังไม่พอเลย"

แถมบอกว่า "ถ้าสมาคมฟุตบอลบริหารงานได้แค่นี้ สโมสรสมาชิกควรแยกไปตั้งลีก เตะกันเองหา ช่วยกันหาผลประโยชน์กันเองน่าจะดีกว่า เรียก สยามลีก เลย "

55555

ผมคิดว่าแฟนบอลคงคิดคล้ายๆกัน เรามีปัญหาเชิงบริหารจัดการฟุตบอลไทย

ผมมีข้อมูลและเรื่องที่อยากนำเสนอให้แฟนกีฬาร่วมวิพากษ์ วิจารณ์กัน 

ลองอ่านกันดูครับ

ย้อนไปเมื่อ 7 เม.ย.2565 การประชุมของสมาคมฟุตบอลหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือเรื่องการรับเงินสนับสนุนสโมสรฟุตบอล ฤดูกาล 2022/2023

ถูกกำหนดไว้ ดังนี้

งวดที่ 1 กำหนดจ่ายในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม 2565

งวดที่ 2 กำหนดจ่ายในช่วงเดือนสิ้นธันวาคม 2565

งวดที่ 3 กำหนดจ่ายในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2566

งวดที่ 4 กำหนดจ่ายช่วง 1 เดือนก่อนเริ่มฤดูกาล 2023/24 ประมาณสิ้นเดือนกรกฎาคม 2566

พร้อมทั้งแจ้งว่า "เงินสนับสนุนสโมสรฤดูกาล 2022/23 จะถูกปรับลดลง 30% จากจำนวนเดิม ตามที่สภากรรมการฯ อนุมัติ และได้ดำเนินการแจ้งให้สโมสรทราบก่อนหน้านี้แล้ว"

เงินสนับสนุนก่อนลดราคานั้น ทีมไทยลีกรับทีมละ 20 ล้านบาท (ลดเหลือ 14 ล้านบาท)

ทีมไทยลีกสอง รับทีมละ 3 ล้านบาท (ลดเหลือ 2.1 ล้านบาท)

ทีมไทยลีกสาม รับทีมละ  1 ล้านบาท (ลดเหลือ 7 แสนบาท)

นอกจากลดเงินสนับสนุนทีมแล้ว ยังจ่ายไม่เต็มจำนวนที่ลดไปแล้ว แถมยัง "เลื่อน" เวลาจ่ายเงินอีก งวดแรกบอก ส.ค. 2565 จ่ายจริงงวดแรกวันที่ 9 ม.ค. 2566

ช้าไป 4 เดือน แถมในงวดแรกนั้นจ่ายแค่ครึ่งเดียวจากยอดเต็มอีก

ฟ้าผ่าเปรี้ยงแรก....ตามด้วยเปรี้ยงที่สอง 

วันที่ 21 ก.พ.2566  มติสภากรรมการเห็นชอบให้ลดเงินเพิ่มจาก 30%เป็น 50%

ก่อนจ่ายเงินงวดที่สอง วันที่ 3 มี.ค. 2566 ตามด้วยเงินงวดสามพึ่งจ่ายไปเมื่อสองสามวันก่อน.....ตามยอดที่แจ้งไปข้างต้น ส่วนงวดที่ 4 งวดสุดท้าย ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ 

สรุปเงินสนับสนุนซีซั่นที่ผ่านมาราคา 50% ไทยลีกก็ได้ไปทีมละ 10 ล้านบาท

ไทยลีกสองทีมละ 1.5 ล้านบาท

ไทยลีกสามทีมละ 5 แสนบาท 

โดยงวดที่4 ยังไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่ ฟุตบอลไทยลีก 2566-67 จะเปิดซีซั่น ส.ค. 

เหตุผลที่สมาคมฟุตบอลชี้แจงคือ.... ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จากค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้คาดการณ์ และผลกระทบจากโควิด-19 

มี2 ประเด็นนะครับเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่อยากนำมืออาชีพมาเป็นต้นแบบ

1 สมาคมฟุตบอลคือหุ้นส่วนพิเศษ.....

สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ควรเป็นหุ้นส่วนพิเศษของ บริษัท ไทยลีก ไม่ใช่เข้าไปครอบครองทั้งหมด บริหารจัดการเองทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ เงินๆทองๆ 

หากเราเอาแม่แบบบอลอาชีพเป็นที่ตั้งเรื่องโครงสร้างการบริหารลีกอาชีพนะครับ….

พรีเมียร์ลีก คือภาพที่ชัดที่สุด

ปี 1992 ยุคแรกของการก่อตั้งพรีเมียร์ลีก พวกเขามองว่าชื่อเสียงเก่าแก่ของทีมบอลอังกฤษมี "มูลค่า" นำมาหาเงินได้ พวกเขาจึงปรับรูปแบบบอลอาชีพจาก 92 ทีมเป็น พรีเมียร์ลีก (ชื่อเดิมพรีเมียร์ชิพ) บวกกับฟุตบอลลีก 3 ดิวิชั่น แยกการบริหารงานเชิงสิทธิประโยชน์ขาดจากกัน (บอลไทยทำไม่ได้ ต้องช่วย ไทยลีกสองและสามไปก่อน)

พวกเขาก่อตั้งบริษัท จำกัดในชื่อ THE FOOTBALL ASSOCIATION PREMIER LEAGUE LIMITED หรือ  The FA Premier League LTD ปี 1992  บริหารลีกกันเอง ภายใต้การดูแลของสมาคมฟุตบอลอังกฤษที่เป็นเหมือนหุ้นส่วนพิเศษ แต่ไม่เข้ามาก้าวก่ายเรื่อง สิทธิประโยชน์ จะดูแลส่วนของ กฏ กติกา มารยาท ในฐานะองค์กรฟุตบอล และสามารถมีสิทธิ์มีเสียงในการแต่งตั้ง คณะกรรมการบริหาร บริษัท พรีเมียร์ลีกได้ด้วย หรือยับยั้งการกระทำที่ส่งผลเสียต่อฟุตบอลอาชีพ....ได้อีก (veto)

โดยทีมบริหารบริษัท พรีเมียร์ลีก จำกัดแต่งตั้งมืออาชีพเข้ามาทำงานร่วมกันกับ สโมสรสมาชิก ที่ถือว่าเป็นหุ้นส่วน 1 สโมสร 1 เสียงในการประชุมทุกเรื่องที่ของพรีเมียร์ลีก แรกๆมี 24 ต่อมาเหลือ 20 ทีมไหนตกชั้นก็อดเป็นหุ้นส่วน ทีมที่เลื่อนชั้นมาสามทีมก็คือหุ้นส่วนในซีซั่นนั้นๆ

บริษัท เอฟเอ พรีเมียร์ลีก จำกัด มีนักบริหารมืออาชีพเอายุคปัจจุบัน อย่าง ประธานบริหาร พรีเมียร์ลีก ริชาร์ด มาสเตอร์ นั้นมาจากตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด ก่อนถูกเลือกมานั่งบริหารเน้นเรื่อง “ลิขสิทธิ์”เป็นหลัก

หรือประธานกรรมการพรีเมียร์ลีก เป็นผู้หญิง

อลิสัน บริทเทน มีประสบการณ์ด้านการเงินมา25 ปี!!

สิ่งที่สมาคมฟุตบอลอังกฤษได้จากพรีเมียร์ลีกคือเงินสนับสนุนสมาคม เรียกแบบพวกเราคือ "ค่าต๋ง" นั่นแหละ ในฐานะ "เจ้าที่" องค์กรฟุตบอลที่ดูแลบอลในประเทศ

ผมเชื่อว่า....มีนักบริหารมืออาชีพในประเทศนี้มากมาย ทั้งความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ในการบริหารองค์กร เรื่องการเงิน การตลาด เพื่อสร้างมูลค่าทางการตลาด เพื่อหาเงินรายได้เข้าไทยลีก ได้ดีกว่า นายกสมาคมฟุตบอลคนปัจจุบันแน่นอนครับ

เพราะมันคืองานถนัดของนักบริหาร บริษัท จำกัด อยู่แล้ว 

ดังนั้น…บริษัท ไทยลีก จำกัด ต้องหามืออาชีพมาทำงานร่วมกับสโมสรสมาชิก 16 ทีม และอีก2 ลีกรองเพื่อดูแลผลประโยชน์ของพวกเขาเอง 

2 ลิขสิทธิ์ไทยลีก.....

เงินสนับสนุนทีมแบบให้เปล่า ต้องเป็นเงิน "ลิขสิทธิ์" อันเกิดจาก "มูลค่า" สโมสรสมาชิกในแต่ละลีก มูลค่าที่มาจาก "ความเป็นสโมสร"...."นักเตะ"..."แฟนบอล" เหล่านี้คือตัวสร้าง "มูลค่า" โดยที่สโมสรสมาชิกนั้นร่วมกันบริหาร "ลีก" ผ่านนักบริหารมืออาชีพ ในนามบริษัท ไทยลีก จำกัด เพื่อแปลง "มูลค่า" เป็นตัวเงินหารายได้เข้าลีก

ผมเขียนเรื่องนี้อย่างละเอียดในหนังสือพิมพ์สยามกีฬาฉบับวางแผงวันเสาร์ที่ 17 มิ.ย. ลองไปหาอ่านกันดูครับ (วางแผงใน 7-11 หรือสั่งได้ทาง ลาซาดา, ชอปปี)

เอาแบบสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ว่า "มูลค่า" เกิดจาก 3 กลุ่มที่ทรงพลัง ชื่อสโมสร, นักเตะ, แฟนบอล แล้วนำไปแปลงเป็นตัวเงิน 

แปลงอย่างไร.... 

หลังจาก  The FA Premier League LTD ก่อตั้งขึ้นมา แนวคิดที่หาเงินได้เกิดขึ้นจากสิ่งที่เป็นมูลค่าของสโมสรสมาชิก ถูกนำมาแปลงเป็นเงิน ด้วยการ "ถ่ายทอดสด" 

เมื่อก่อนถ่ายทอดสดเป็นแมตช์ๆ  ยุค 80 ดิวิชั่นหนึ่งเดิม เรายังได้ดูช่อง7 ซื้อบอลดิวิชั่นหนึ่งมาถ่ายทอดสด

พี่โย่ง เอกชัย นพจินดา พากย์ หลายเกม เช่นปี 1989 ลิเวอร์พูล แพ้ อาร์เซนอล คาแอนฟิลด์ 0-2 ชวดแชมป์อย่างเหลือเชื่อ ทั้งที่แพ้ได้ 0-1 ก็แชมป์แล้ว 

ตอนนั้นผมเรียนมหาวิทยาลัยปี2 ถึงขั้นยกเลิกทริปสำรวจสถานที่รับน้องไปเลย....555 

พอยุคพรีเมียร์ลีกถ่ายทอดสดทั้งฤดูกาล โดยบริษัท บีสกายบี  ที่เป็นเคเบิลทีวี มีช่องสัญญาณ สกายสปอร์ตส ซื้อลิขสิทธิ์ ไปถ่ายทอดสดแต่เพียงผู้เดียว (ก่อนโดนสหภาพยุโรปจี้ให้มีหลายเจ้าถ่ายทอดสด ป้องกันการผูกขาด) 

ค่าลิขสิทธิ์ปี 1992 ครั้งแรก 254 ล้านปอนด์ แยกเป็นสองก้อน ในสหราชอาณาจักร 214 ล้านปอนด์ (UK rights) นอกประเทศหรือ 40 ล้านปอนด์ (overseas rights)

พอสโมสรได้เงินเพิ่มก็ไปซื้อนักเตะต่างชาติ, โค้ชฝีมือดี มาเสริมทีมกันทุกซีซั่น..

เวลาผ่านไป 31 ปี "มูลค่า" ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกทั้งสองส่วนนี้สูงถึง 1 หมื่นล้านปอนด์   (5+5.05 พันล้านปอนด์) หรือประมาณ 4 แสนล้านบาท

เห็นมั้ยครับ...  "เงิน" รายได้ของลีก มาจากการที่ บริษัท ดำเนินการบริหารโดยมืออาชีพ ร่วมกันกับสโมสรสมาชิก 

ทั้งจากการถ่ายทอดสด, การหาโฆษณา มาสนับสนุนพรีเมียร์ลีก จากนั้นนำเงินมาจัดสรรปันส่วนอย่างโปร่งใสและเหมาะสม

เอาหลักเกณฑ์พรีเมียร์ลีกละกันครับ ว่าเขาแบ่งเงินลิขสิทธิ์อย่างไร

ก็แยกเป็นสองก้อน รายได้จากลิขสิทธิ์ในสหราชอาณาจักร และรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ที่ขายนอกประเทศ

ดังนี้ ...

รายได้ลิขสิทธิ์ใน UK  (ซีซั่นนี้สรุป 1 ก.ค.อย่างช้า) 

1 equal share หมายถึงส่วนแบ่งทั้ง 20 ทีมอย่างละเท่าๆกัน

ก้อนนี้ได้สโมสรละ 31,809,969 ปอนด์ (1,272,398,760 บาท)

2 facility fees หมายถึงรายได้จากจำนวนแมตช์ที่ถ่ายทอดสด ซึ่งส่วนนี้ได้ไม่เท่ากัน ทีมไหนได้ออกจอถ่ายทอดสดมากก็ได้เงินส่วนแบ่งมาก เพราะหมายถึงเป็นทีมยอดนิยม  เงินก้อนนี้จะได้ไม่เท่ากัน ซีซั่น 2021-22  อย่างเช่น แชมป์ แมนฯซิตี้ ถ่ายทอดสด 28 แมตช์ ได้เงิน24,436,525 ปอนด์ (977,461,000 บาท)รองแชมป์ลิเวอร์พูล ออกจอ 29  แมตช์ รับเงิน 25,274,331 ปอนด์ ( 1,010,973,240 บาท)

3 merit payments  หมายถึงเงินรางวัลจากอันดับในลีก แชมป์ก็ได้เยอะหน่อย แมนฯซิตี้ ได้ 33,779,160 ปอนด์ (1,351,166,400 บาท)  ส่วนอันดับ 20 ที่ตกชั้นซีซั่นก่อนหน้านี้ ก็ได้ไม่น้อยทีเดียว อย่างนอริช ได้ 1,688,958 ปอนด์ (67,558,320)

เงินลิขสิทธิ์จากส่วนอื่นๆของโลก overseas rights 

1 equal share ส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์ทีวีที่ขายไปทั่วโลก ทุกทีมได้เท่ากันหมดทีมละ 48,885,678 ปอนด์ (1,955,427,120 บาท) 

2 merit payments เงินรางวัลจากอันดับในลีก ไม่เท่ากันขึ้นกับผลงาน ยกตัวอย่างแชมป์ แมนฯซิตี้ ได้ 7,365,240 ปอนด์ (294,609,600 บาท)

ส่วนสำคัญอีกก้อนหนึ่งที่แบ่งเท่ากันทุกสโมสรคือ รายได้จากผู้สนับสนุนพรีเมียร์ลีก หรือ central commercial ทั้ง20 สโมสรได้รับเท่ากันที่ 6,814,232 ปอนด์ (ประมาณ272 ล้านบาท)

หลังจากอ่าน 2 ประเด็นที่อยากสื่อให้สังคมทราบทั้งเรื่องเชิงบริหารและการจัดการเชิงลิขสิทธิ์ แล้ว...ต้องยอมรับว่า "มูลค่า" ไทยลีก ลดลง และตกต่ำ อย่างน่าตกใจโดยไม่เกี่ยวข้องกับโควิด19 เลย

ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา สมาคมฟุตบอลในฐานะที่ครอบงำ เอ้ย บริหาร บริษัทไทยลีก ดันไปทะเลาะกับภาคเอกชน ที่มีส่วนสำคัญในการแปลงมูลค่าลีกให้เป็นเงินทองมากมาย 

นึกจะไม่แข่งบอล ก็ไม่แข่ง นึกจะหยุดก็หยุด ทั้งที่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่เขาซื้อไทยลีก ไปถ่ายทอดสดเขาเสียเงินเขาต้องมีส่วนร่วมมือในการจัดการลีก เช่นโปรแกรมถ่ายทอดสด...เลื่อนไม่เลื่อน เอาไง ไม่ใช่ให้สมาคมมาทำ มันเกินหน้าที่อีกต่างหาก

สุดท้าย หาบริษัท สัมปทานถ่ายทอดสดไม่ได้ ก็มาออกฟรีทีวี ก่อนไปลงที่ สตรีมมิ่ง (ซึ่งมูลค่าน้อยกว่าทีวี) 

หลักการบอลอาชีพ "มูลค่า" เกิดขึ้นเพราะ การถ่ายทอดสดทาง "เปย์ ทีวี" นี่จึงเป็นมูลค่าอันเกิดจากสโมสรสมาชิก ใครอยากดูบอลอาชีพทางทีวีต้องเสียเงินดู

พอออกฟรีทีวี "มูลค่า" หาย เพราะทีวีแต่ละช่องค่าโฆษณาก็ไม่เท่ากันตามช่องเวลาอีกต่างหาก รายได้จากการถ่ายทอดสดไม่มี เพราะต้องไปเช่าเวลาช่องทีวี เสียค่าโพรดักชั่นถ่ายทอดสดอีก ค่าโฆษณาทางทีวีช่วงถ่ายทอดสดได้ไม่เป็นกอบเป็นกำ

วันนี้จัดประมูล "ลิขสิทธิ์" ไปแล้ว ยังไม่รู้เลยว่าใครจะได้ เพราะภาคเอกชน คงไม่อยากมาทำธุรกิจร่วมกับความไม่แน่นอนเชิงบริหารจัดการของสมาคมชุดนี้

ที่หนักกว่านั้นคือสโมสรสมาชิก ก็ "ใบ้กิน" ทุกครั้ง ที่มีมาตรการ, มติ ของสภากรรมการ อะไรหลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่ตัวเองเสียประโยชน์ ทั้งที่ตัวสโมสรเองนั่นแหละคือ "หุ้นส่วน" ที่สำคัญที่สุดของ บริษัท ไทยลีก

ควรต้องมีปากมีเสียง ร่วมมือกันบริหารลีก เดินเรื่องรักษาผลประโยชน์สโมสรทุกทีม

แต่กลับปล่อยไปตามยถากรรม....

เฮ้อ…. ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนทั้งบุคลากรคนทำงานและโครงสร้างเชิงบริหาร จัดการลีกอาชีพ  “มูลค่า” จะลดลงไปเรื่อยๆ 

ระวัง!!! อาจไปถึงจุดที่เล่นกันเองดูกันเองนะครับ

JACKIE

ข้อมูล ; premier league ltd , BBC , Financial Times


ที่มาของภาพ : fa
BY : JACKIE
อดิสรณ์ พึ่งยา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport
X