เอเชียน คัพ ยู-23 ใกล้จะเปิดฉากฟาดแข้งมาทุกขณะ แน่นอนว่าทีมชาติไทย เองก็มีส่วนร่วมด้วยในคืนวันอังคารที่ 16 เม.ย. นี้ ที่มีคิวดวล อิรัก ว่าแล้ว 'SIAMSPORT' จึงคัดข้อมูลและตัวเลขมาให้คุณผู้อ่านได้ทราบกันก่อนที่ทัวร์นาเมนต์จะเริ่มต้น!!
[ 1 ] 5 อดีตแชมป์เข้ามาเล่นรอบสุดท้ายครบ
อิรัก (2013), ญี่ปุ่น (2016), อุซเบกิสถาน (2018), เกาหลีใต้ (2020) และซาอุดิอาระเบีย (2022) คือ 5 'อดีตแชมป์' ของ เอเชียน คัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี และพวกเขาผ่านเข้ามาเล่นทัวร์นาเมนต์ที่กาตาร์ ได้พร้อมเพรียง
อย่างไรก็ตาม 'ตัวเต็ง' ในหนนี้ยังคงเป็นญี่ปุ่น กับเกาหลีใต้ เหมือนเช่นทีมชาติชุดใหญ่ โดยมีซาอุดิอาระเบีย ที่มีโอกาสป้องกันแชมป์ไม่น้อย
[ 2 ] ซาอุดิอาระเบีย เข้ารอบชิงชนะเลิศมากที่สุด 3 ครั้ง
นับตั้งแต่ทัวร์นาเมนต์ เอเชียน คัพ ยู-23 ในปี 2013 ปรากฏว่าซาอุดีอาระเบีย ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศมากที่สุด ด้วยจำนวน 3 ครั้ง
พวกเขาชิงดำหนแรกในปี 2013 แต่ปราชัยต่ออิรัก ไปแบบสุดเจ็บปวด ก่อนที่จะทำได้อีกคราเมื่อปี 2020 ซึ่งจัดการแข่งขันที่เมืองไทย แต่ก็เช่นเคยที่พ่ายเกาหลีใต้ ในช่วงต่อเวลาพิเศษ
กระทั่งล่าสุดในปี 2022 ที่พวกเขาประสบความสำเร็จกับการเอาชนะอุซเบกิสถาน 2-0
[ 3 ] โควตา โอลิมปิกเกมส์ 3 ทีมครึ่ง
นอกจากตำแหน่งแชมป์ที่ทุกชาติปรารถนา เอเชียน คัพ ยู-23 ยังมี 'โควตา' โอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ฝรั่งเศส อีก 3 ทีมครึ่ง
แชมป์, รองแชมป์, อันดับ 3 จะได้สิทธิ์ไปตะลุยมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติทันที โดยที่อันดับ 4 จะไปเพลย์-ออฟกับกีนี ในวันที่ 9 มิถุนายน ซึ่งมีโอกาสสูงทีเดียวที่ชาติทีมจากเอเชีย จะได้ไปทั้งหมด
[ 4 ] เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น คือ 2 ทีม เท่านั้นที่เคยได้เหรียญ โอลิมปิกเกมส์
ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คือสองประเทศที่เคยสัมผัสเหรียญใน โอลิมปิกเกมส์ หลังจากได้โควตาไปแข่งขันในฐานะตัวแทนจากทวีป
ญี่ปุ่น เคยได้เหรียญทองแดงในปี 1968 ซึ่งกลายเป็นเหรียญประวัติศาสตร์ชาติเอเชีย ที่ทำสำเร็จ ก่อนที่เกาหลีใต้ จะไปไกลด้วยอันดับเดียวกันเมื่อปี 2012
[ 5 ] อินโดนีเซีย ตะลุย เอเชียน คัพ หนที่ 1
อินโดนีเซีย คือ 'น้องใหม่' ของ เอเชียน คัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี กับการผ่านรอบคัดเลือกและได้เข้ามาแข่งขันเป็นหนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ
จากการที่ทัพ การูด้า ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย ทำให้พวกเขากลายเป็นชาติที่ 25 ที่ได้มีส่วนร่วมกับทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย ในรุ่นอายุนี้
[ 6 ] นอร์ชาเยฟ ยิงมากที่สุดในรอบคัดเลือก 6 ประตู
คูห์เซน นอร์ชาเยฟ หัวหอกทีมชาติอุซเบกิสถาน คือดาวซัลโวสูงสุดจากรอบคัดเลือกกับการยิงไป 6 ประตู
ส่วนนักเตะที่ทำได้รองลงมาคือ ริห์ดา ฟาดฮิลมายาลี่ (อิรัก), อับดุลเลาะห์ ราดิฟ (ซาอุดีอาระเบีย) และ ซัลมาน โมฮัมเหม็ด ที่ซัดได้เท่ากันทั้งหมดด้วยตัวเลข 4 ประตู
[ 7 ] อิรัก โหดจัด ยิงในรอบคัดเลือก 21 ประตู
อิรัก คือทีมที่มีเกมรุกทรงประสิทธิภาพมากที่สุดในรอบคัดเลือก เพราะพวกเขาถล่มตาข่ายคู่ต่อสู้ไปได้ถึง 21 ประตู จากการลงเล่นเพียง 3 นัด
โดยทีมที่ถูกทัพสิงโตแห่งบาบีโลนถลุงได้แก่มาเก๊า (ชนะ 13-0), ตีมอร์ เลสเต (ชนะ 6-0) และเสมอคูเวต 2-0
ส่วนทีมที่ทำประตูในรอบคัดเลือกรองลงมาคือ อุซเบกิสถาน (19 ประตู) และ ซาอุดีอาระเบีย (12 ประตู)
[ 8 ] 6 ทีมทำคลีนชีตรอบคัดเลือก มีไทย อยู่ด้วย
อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, จอร์แดน, เกาหลีใต้, ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คือ 6 ทีม ที่ทำสถิติ 'คลีนชีต' ในรอบคัดเลือก
สำหรับทัพช้างศึกนั้นอยู่ในกลุ่ม เอช ร่วมกับมาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และบังกลาเทศ ซึ่งยอดทีมแห่งอาเซียน สามารถเก็บชัยชนะได้ 3 นัดรวด ยิงไป 9 ประตู อีกทั้งยังไม่ถูกคู่แข่งเจาะตาข่ายได้แม้แต่ลูกเดียว
[ 9 ] โค้ชเกาหลีใต้ และโปรตุเกส ส่งประกวดชาติละ 2 คน
เฮดโค้ชของ 24 ทีม ใน เอเชียน คัพ ยู-23 หนนี้มีหลากหลายเชื้อชาติ แต่ประเทศที่ส่งประกวดใากที่สุดคือเกาหลีใต้ ที่มีจำนวน 2 คน
ชิน แท-ยง (อินโดนีเซีย) และ ฮวาง ซุน-ฮง (เกาหลีใต้) คือเทรนเนอร์จากแดนโสมขาวที่มีส่วนร่วมกับทัวร์นาเมนต์ ณ กาตาร์
ส่วนฝั่งโปรตุเกส ส่ง เอมิลิโอ เปยเซ่ (คูเวต) กับ อีลิโด้ วาเล่ (กาตาร์) เข้ามาประกวด
[ 10 ] นักเตะค้าแข้งนอกเอเชีย มากที่สุดที่ 3 ประเทศ
เอเชียน คัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี มีนักเตะที่ค้าแข้งอยู่นอกเอเชีย มากมาย แต่ทั้งหมดจากหลากประเทศนั้นมีอยู่ 3 ชาติ ที่แข้งจากทวีปนี้ไปหาความท้าทายคือเยอรมัน, เนเธอร์แลนด์ส และสเปน
โดยผู้เล่นชาวเอเชีย เล่นในลีกของ 3 ประเทศนี้อย่างละ 5 คน
ส่วนไทย มีนักเตะที่ค้าแข้งอยู่นอกประเทศที่ติดทีมในชุดนี้คนเดียวคือ เอราวัน กานิแยร์ กองกลางจาก ลีญง (ฝรั่งเศส)