เคบียู สปอร์ต โพล เผยผลสำรวจแฟนบอลไทยส่วนใหญ่ มีความเชื่อมั่นต่อ "มาดามแป้ง" นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลไทยฯ กับการบริหารจัดการสู่การเปลี่ยนแปลงวงการกีฬาฟุตบอลในยุคใหม่ ส่วนสิ่งที่อยากให้เร่งดำเนินการมากที่สุด การปรับระบบการบริหารจัดการ รองลงมา คือ การวางรากฐานและโครงสร้างการพัฒนาเยาวชน ส่วนสิ่งที่ไม่อยากเห็นมากที่สุด คือ ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการภายใต้ผลประโยชน์ทับซ้อน
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง "ปรากฎการณ์บอลไทยหลังการเลือกตั้งนายกสมาคม" ทั้งนี้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและสะท้อนมุมมองของแฟนกีฬาในมิติที่เกี่ยวกับปรากฎการณ์ของวงการฟุตบอลไทยภายหลังการเลือกตั้ง
สำหรับการสำรวจในครั้งนี้ เคบียู สปอร์ต โพล (KBU SPORT POLL)โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ร่วมกับหลักสูตรการบริหารนวัตกรรมการสื่อสาร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ดำเนินการผ่านระบบออนไลน์และสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ระหว่างวันที่ 9-11 ก.พ. 2567โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไปและผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารทางการกีฬาซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,097 คน โดยแบ่งเป็นเพศชาย 695 คน คิดเป็นร้อยละ 63.36 เพศหญิง 402 คน คิดเป็นร้อยละ 36.64 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆโดยภาพรวมพบว่า
ความเชื่อมั่นที่มีต่อนายกสมาคมกับการบริหารจัดการสู่การเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่ร้อยละ 29.65 เชื่อมั่นค่อนข้างมาก รองลงมา ร้อยละ 28.10 ไม่แน่ใจ, ร้อยละ 24.90 เชื่อมั่นมาก, ร้อยละ 9.62 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อย, ร้อยละ4.80 เชื่อมั่นน้อย และร้อยละ 2.93 ไม่แสดงความคิดเห็น
ด้านปรากฏการณ์และความคาดหวังที่ต้องการให้นายกสมาคมดำเนินการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนใหญ่ร้อยละ 26.10 ต้องการให้ปรับระบบการบริหารจัดการ รองลงมา ร้อยละ 22.98 วางรากฐานและโครงสร้างการพัฒนาเยาวชนแบบครบวงจร, ร้อยละ 18.07 วางแผนพัฒนาและเตรียมทีมชาติในทุกระดับอย่างเป็นระบบ, ร้อยละ 14.20 ปรับระบบ และมาตรฐานกรรมการผู้ตัดสิน ร้อยละ11.09 ยกระดับฟุตบอลลีกทั้งชายและหญิงสู่มาตรฐานสากล, ร้อยละ 5.42 จัดสิทธิประโยชน์และรายได้ให้สโมสรสมาชิกในการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และอื่นๆร้อยละ 2.14
ด้านปรากฎการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา ส่วนใหญ่ ร้อยละ 29.16 การบริหารจัดการภายใต้ผลประโยชน์ทับซ้อน รองลงมา ร้อยละ 28.04 ผลงานทีมชาติทุกระดับ/ทุกประเภทตกต่ำ, ร้อยละ 16.08 การไม่สามารถก้าวข้ามปัญหาแบบเดิมๆ ร้อยละ 14.86 การบริหารจัดการภายใต้การครอบงำของบุคคลภายนอก, ร้อยละ 9.40 การไม่ปฏิบัติตามสัญญาประชาคม และอื่นๆร้อยละ 2.46
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าภายหลังการเลือกตั้งและได้มาซึ่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลคนใหม่ ก็คือ "มาดามแป้ง" นวลพรรณ ล่ำซำ แฟนฟุตบอลตลอดจนผู้สนใจทั่วไปต่างมีความเชื่อมั่นที่มีต่อนายกคนใหม่ในระดับค่อนข้างมาก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะความมุ่งมั่นและประสบการณ์การมีส่วนร่วมกับวงการฟุตบอลไทยในระยะเวลาที่ผ่านมา ผนวกกับความพร้อมหรือต้นทุนในมิติต่างๆของผู้นำคนใหม่ จึงส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างต่างคาดหวังที่จะเห็นวงการฟุตบอลไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมาเป็นลำดับต้นๆโดยเฉพาะการปรับระบบการบริหารจัดการองค์กร รวมทั้งการวางรากฐานและโครงสร้างการพัฒนาเยาวชนแบบครบวงจร
"ที่น่าสนใจสำหรับเสียงสะท้อนที่แฟนกีฬาส่งสัญญาณเพื่อให้นายกคนใหม่และสภากรรมการพึงตระหนัก คือ ไม่ปรารถนาที่จะเห็นการบริหารจัดการภายใต้ผลประโยชน์ทับซ้อน และผลงานทีมชาติทุกระดับตกต่ำ พร้อมกันนั้นผู้ตอบแบบสอบถามได้เสนอแนะให้สมาคมส่งเสริมและสนับสนุนฟุตบอลลีกภูมมิภาค หรือลีก 3ให้กลับมาเป็นที่สนใจของแฟนบอลในท้องถิ่นดังในอดีตที่ผ่านมา และไม่ปล่อยให้ผู้ทำทีมประสบปัญหาต้องยกเลิกการส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันเพราะขาดผู้สนับสนุน" ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร กล่าวทิ้งท้าย