ในส่วนของสังเวียนอุ่นเครื่องสนามกีฬาแห่งชาติ กรุงโตเกียว ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ทีมชาติไทยจะได้รับโอกาสลงเล่นในสนามแห่งนี้เป็นครั้งแรกหลังจากญี่ปุ่นสร้างเสร็จปี 2019 เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพ โอลิมปิก 2020 วันนี้จะพาไปสัมผัสข้อมูลของสนามแห่งนี้พอสังเขปก่อนที่จะเกิดเกมการแข่งขันนัดนี้ของทีมชาติไทย
ข้อมูลสนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น (กรุงโตเกียว)
- สนามกีฬาแห่งนี้ถูกสร้างทับในพื้นที่เดิมของสนามกีฬาแห่งชาติเก่าที่สร้างรองรับโอลิมปิก 1964 โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจทุบสนามเก่าทิ้งพร้อมปรับพื้นที่ใหม่เริ่มสร้างในปี 2016
- ปี 2019 สนามกีฬาแห่งชาติใหม่ได้แล้วเสร็จ ด้วยมูลค่า 48,600 ล้านบาท เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 แต่การแข่งขันดังกล่าวเลื่อนออกไปแข่งขันในปี 2021 เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
- นอกจากความทันสมัยของสนามแข่งขันแล้ว ยังเน้นเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นรวมไปถึงการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมของคนทั้งประเทศสนามแห่งนี้มีไม้ต้นสนริวคิวและซีดาร์ จาก 47 จังหวัดมาเป็นส่วนประกอบโครงสร้างของสนาม
- การออกแบบสร้างสนามแห่งนี้มีบางช่วงต้องทำการปรับเปลี่ยนใหม่เนื่องจากงบประมาณที่มหาศาลทำให้ต้องปรับให้เหมาะสมตามคำเรียกร้องของประชาชน จนทำให้ไม่สามารถจัดการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก 2019 ได้ตามกำหนด
- สนามแห่งนี้มีความจุสำหรับเกมการแข่งขันฟุตบอล 68,698 ที่นั่ง และ สามารถยืดหยุ่นสูงสุดได้ถึง 80,016 ที่นั่งด้วยการเพิ่มอัฒจันทร์ในลู่วิ่ง
- ฟุตบอลเอ็มพาเรอร์คัพ 2019 รอบชิงชนะเลิศกลายเป็นอีเวนต์แรกอย่างเป็นทางการที่จัดการแข่งขันขึ้นที่สนามแห่งนี้ นัดชิงชนะเลิศ 21 ธ.ค.2019 วิสเซล โกเบ ชนะ คาชิม่า แอนท์เลอร์ 2-0
- กลุ่มนักเตะสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กลายเป็นสโมสรแรกของไทยที่ได้ลงเล่นสนามแห่งนี้ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรเอเชีย รายการ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก 2023-24 วันที่ 4 ต.ค.66 เวนท์โฟเรท โคฟุ 1-0 บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
- เอกนิษฐ์ ปัญญา เป็นนักเตะไทยคนแรกในเจลีก ที่ได้ลงเล่นสนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น แห่งใหม่ ลงเล่นในนัดชิงชนะเลิศลูวาน คัพ 2023 วันที่ 4 พ.ย.66 อวิสปา ฟุกุโอกะ 2-1 อุราวะ เรดส์