การแต่งตั้ง มาซาทาดะ อิชิอิ เฮดโค้ชชาวญี่ปุ่น เข้ามาเป็นกุนซือคนใหม่ ทำให้เขากลายเป็นกุนซือ 'ชาวต่างชาติ' คนที่ 16 ในประวัติศาสตร์ของวงการลูกหนังไทย ดังนั้น 'SIAMSPORT' จึงขันอาสาพาคุณย้อนอดีตไปพบกับเฮดโค้ชของทัพช้างศึกก่อนหน้านี้ว่าเป็นใครและมีความสำเร็จอะไรบ้าง!?
[ 1 ] กึนเธอร์ กล็อมบ์ (เยอรมัน)
คุมทีมชาติไทย: 1968-1975
ในอดีต สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย มีความสนิทกับสมาพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน แบบแน่นแฟ้น ซึ่งยอดทีมแห่งดินแดนยุโรป ได้ส่ง เด็ตต์มาร์ คราเมอร์ อดีตกุนซือ บาเยิร์น มิวนิค มามอบความรู้ให้กับวงการลูกหนังสยามประเทศ
เหตุนี้เอง ในปี 1986 คราเมอร์ จึงแนะนำให้ไทย ลองใช้เฮดโค้ชเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งก็ลงเอยที่ กึนเธอร์ กล็อมบ์ เทรนเนอร์ผู้พา ราชประชา คว้าแชมป์ ถ้วยพระราชทาน ก. ต่อด้วย ควีนส์ คัพ มาเป็นแม่ทัพใหญ่ให้ช้างศึก
เขาเป็นกุนซือของทีมชุด โอลิมปิก 1968 ซึ่งเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่ไทย ได้เข้าร่วมทัวร์นาเมนต์ ก่อนจะพาทีมคว้าอันดับ 3 เอเชียน คัพ 1972 อีกหนึ่งรายการ
ผลงาน: อันดับ 3 เอเชียน คัพ 1972
[ 2 ] ปีเตอร์ ชนิตต์เกอร์ (เยอรมัน)
คุมทีมชาติไทย: 1976-1978
หลังจากแยกทางกับ กึนเธอร์ กล็อมบ์ ไทย เว้นวรรคกุนซือต่างชาติไปหนึ่งปี ก่อนจะกลับมาใช้บริการโค้ชนอกประเทศอีกครั้ง และก็ยังเป็นชาวเยอรมัน ที่ชื่อ ปีเตอร์ ชนิตต์เกอร์
เทรนเนอร์จาก ฮันน์ มุนเด้น มีประสบการณ์มากมายจากทวีปแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นไอวอรี่โคสต์, แคเมอรูน และเอธิโอเปีย กระทั่งมาคุมทัพช้างศึกในปี 1976
อย่างไรก็ตาม ชนิตต์เกอร์ เป็นเฮดโค้ชของไทย ได้ไม่นานนัก ก็ต้องแยกทางกันไปในปี 1978 หรือเพียง 2 ปี เท่านั้น
ผลงาน: -
[ 3 ] แวร์เนอร์ บิคเคลเฮาป์ (เยอรมัน)
คุมทีมชาติไทย: 1979
ไทย ยังคงใช้บริการโค้ชชาวเยอรมัน อย่างต่อเนื่อง เพราะในปี 1979 ได้ทำการแต่งตั้ง แวร์เนอร์ บิคเคลเฮาป์ อดีตกุนซือทีมชาติบังกลาเทศ มาเป็นเทรนเนอร์คนใหม่
อย่างไรก็ตาม แม่ทัพช้างศึกคนนี้ก็ยังไม่มีผลงานที่เด่นชัดนัก ทว่าสิ่งที่ทัพช้างศึกดูดีขึ้นคือเรื่องของรูปแบบการเล่นที่เป็นสากลมากกว่าเดิม
ผลงาน: -
[ 4 ] โบร์การ์ด ซีเซอ (เยอรมัน)
คุมทีมชาติไทย: 1985-1986
สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย หันกลับมาใช้โค้ชในประเทศอยู่หลายปี ทว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ว่าแล้วในปี 1985 จึงไปดึง โบร์การ์ด ซีเซอ มาคุมทีม นับเป็นกุนซือชาวเยอรมัน คนที่ 4 ในประวัติศาสตร์
เขาคือเทรนเนอร์ต่างชาติคนแรกที่พาไทย คว้าเหรียญทอง ซีเกมส์ ในปี 1985 และถือเป็นโค้ชที่ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างในวงการลูกหนังสยามประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของวินัยและทัศนคติในการเล่นฟุตบอล
ผลงาน: เหรียญทอง ซีเกมส์ 1985
[ 5 ] คาร์ลอส โรแบร์โต้ (บราซิล)
คุมทีมชาติไทย:1989-1991
หลังจากใช้กุนซือชาวเยอรมัน มาตลอด ในที่สุดก็ถึงคราวที่เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะไทย เลือกกุนซือชาติอื่นเป็นหนแรกในช่วงปลายทศวรรษที่ 80' โดยเป็นบราซิล ประเทศที่เลื่องชื่อเรื่องกีฬาลูกกลมๆ
คาร์ลอส โรแบร์โต้ เข้ามาปรับวิธีการเล่นให้ทัพช้างศึกเล่นบอลกับพื้นเป็นหลักตามแบบฉบับแซมบ้า แม้ช่วงแรกนักเตะจะต้องปรับตัวพอสมควร แต่ผลงานที่ออกมาก็ถือว่าดูดีทีเดียว โดยเฉพาะการคว้าอันดับ 4 เอเชียนเกมส์ 1990 ได้เป็นหนแรกในประวัติศาสตร์
ผลงาน: แชมป์ คิงส์ คัพ (1989 และ 1990), อันดับ 4 เอเชียนเกมส์ 1990
[ 6 ] ปีเตอร์ สตั๊บบ์ (เยอรมัน)
คุมทีมชาติไทย:1991-1994
สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย กลับมาใช้เทรนเนอร์เยอรมัน อีกครั้ง และคราวนี้เป็น ปีเตอร์ สตั๊บบ์ ซึ่งกุนซือคนนี้ก็มีผลงานที่น่าประทับใจกับการนำทัพช้างศึกผ่านเข้าสู่ เอเชียน คัพ 1992 ได้เป็นหนแรกในรอบ 20 ปี พร้อมกับคว้าเหรียญทอง 1993 อีกต่างหาก
สตั๊บบ์ นับเป็นเฮดโค้ชยุคแรกๆ ของทีมชาติไทย ชุด 'ดรีมทีม' ซึ่งมี เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง เป็นดาวรุ่งในขณะนั้น
ผลงาน: ผ่านเข้ารอบสุดท้าย เอเชียน คัพ 1992, เหรียญทอง ซีเกมส์ 1993
[ 7 ] เด็ตต์มาร์ คราเมอร์ (เยอรมัน)
คุมทีมชาติไทย: 1997
ในช่วงที่ตำแหน่งกุนซือว่างอยู่ - เด็ตต์มาร์ คราเมอร์ ที่คลุกคลีวงในฟุตบอลไทย มายาวนานจึงถูกดึงมารับหน้าที่ในระยะสั้น และก็พาทีมคว้าเหรียญทอง ซีเกมส์ 1997 ได้หนึ่งสมัย
ผลงาน: ซีเกมส์ 1997
[ 8 ] ปีเตอร์ วิธ (อังกฤษ)
คุมทีมชาติไทย: 1998-2003
กุนซือชาวอังกฤษ คนแรกในประวัติศาสตร์ของไทย และในอดีตเขาคนนี้ก็เป็นนักเตะระดับตำนานของ แอสตัน วิลล่า กระทั่งมาเข้ารับตำแหน่งบิ๊กบอสให้ทัพช้างศึกในปี 1998 พร้อมกับพาทีมประสบความสำเร็จมากมาย
วิธ คือกุนซือที่พาไทย ชนะเกาหลีใต้ใน เอเชียนเกมส์ 1998 ก่อนจะไปคว้าอันดับ 4 ในปีนั้น ตามด้วยเหรียญทอง ซีเกมส์ 1999 และพาช้างศึกผ่านเข้ารอบ เอเชียน คัพ 2000 อีกทั้งยังคว้าโควตารอบ 10 ทีม สุดท้ายของฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก โซนเอเชีย
จากผลงานที่ยอดเยี่ยม ทำให้ไทย ไต่ไปอยู่อันดับ 45 ของโลก ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์
ผลงาน: อันดับ 4 เอเชียนเกมส์ (1998), เหรียญทอง ซีเกมส์ (1999), อาเซียน คัพ (2000 และ 2002)
[ 9 ] คาร์ลอส โรแบร์โต้ (บราซิล) รอบที่ 2
คุมทีมชาติไทย: 2003-2004
ภายหลังการอำลาของ ปีเตอร์ วิธ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ไปดึง คาร์ลอส โรแบร์โต้ กลับมาทำหน้าที่เฮดโค้ชอีกครั้ง แต่หนนี้กุนซือชาวบราซิล ไม่มีผลงานอะไรเด่นชัดมากนัก ก่อนจะอำลาทัพช้างศึกหลังแพ้เกาหลีเหนือ คาบ้าน 1-4
ผลงาน: -
[ 10 ] ซิกฟรีด 'ซิกกี้' เฮลด์ (เยอรมัน)
คุมทีมชาติไทย: 2004
อดีตแนวรุกชื่อดังของ ดอร์ทมุนด์ และทีมชาติเยอรมัน กลายเป็นกุนซือทีมชาติไทย ในปี 2004 พร้อมกับเรียกผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ทีมมากมาย
อย่างไรก็ตาม ผลงานของเขากับทัพช้างศึกไม่ค่อยจะดีนัก เพราะพาทีมตกรอบแรก อาเซียน คัพ 2004 และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ เฮลด์ คุมไทย เพียง 5 เดือนเท่านั้น
ผลงาน: -
[ 11 ] ปีเตอร์ รีด (อังกฤษ)
คุมทีมชาติไทย: 2008-2009
ด้วยความสัมพันธ์อันดีกับสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ทำให้ในปี 2008 ทีมชาติไทย ได้กุนซือมากฝีมืออย่าง ปีเตอร์ รีด มาคุมทัพ พร้อมเป้าหมายการสร้างทีมระยะยาว เพื่อเป้าหมายฟุตบอลโลก 2014
เหมือนหลายๆ อย่างจะไปได้สวย เพราะเขาประเดิมพาทีมคว้าแชมป์ ที แอนด์ ที คัพ 2008 ที่เวียดนาม แต่แล้วในช่วงปลายปี 2009 เจ้าตัวตัดสินใจแยกทางกับไทย เพื่อไปเป็นมือขวาของ โทนี่ พูลิส ที่ สโต๊ก ซิตี้
ผลงาน: แชมป์ ที แอนด์ ที คัพ 2008
[ 12 ] ไบรอัน ร็อบสัน (อังกฤษ)
คุมทีมชาติไทย: 2009-2011
ชื่อของประเทศไทย ขจรไกลไปทั่วโลกกับการแต่งตั้ง ไบรอัน ร็อบสัน เป็นกุนซือคนใหม่ เขาคือโค้ชที่มีชื่อเสียงมากๆ เพราะในสมัยเป็นนักเตะ เขาคือกัปตันทีม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และยังเล่นชาติอังกฤษ มากถึง 90 เกม เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ผลงานกับทัพช้างศึกไม่เป็นไปดังหวัง กับการตกรอบแรก อาเซียน คัพ 2010 และจากนั้นก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น จนเจ้าตัวตัดสินใจลาออกเพื่อกลับไปทำหน้าที่ทูตสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อีกครั้ง
ผลงาน: -
[ 13 ] วินฟรีด เชเฟอร์ (เยอรมัน)
คุมทีมชาติไทย: 2011-2013
หลังจากเหินห่างจากกุนซือเยอรมัน มาแสนนาน ในที่สุดไทย ก็กลับมาใช้บริการเฮดโค้ชจากชาตินี้อีกครั้ง โดยเป็น วินฟรีด เชเฟอร์ เทรนเนอร์ประสบการณ์สูง ผู้พาแคเมอรูน คว้าแชมป์ แอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ 2002 มาเป็นบิ๊กบอสคนใหม่
เชเฟอร์ มาพร้อมผู้ช่วยที่ชื่อ อเล็กซานเดร โพลกิ้ง และทั้งคู่ก็ทำให้ไทย เล่นฟุตบอลได้ดีในระดับหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่ได้เพียงรองแชมป์ อาเซียน คัพ 2012 ก่อนจะแยกทางกันไป
ผลงาน: -
[ 14 ] มิโลวาน ราเยวัช (เซอร์เบีย)
คุมทีมชาติไทย: 2017-2019
สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ก็ยังได้โค้ชชื่อดังอย่าง มิโลวาน ราเยวัช กุนซือผู้พากานา ไปถึงรอบ 8 ทีม สุดท้าย ของศึก เวิร์ล คัพ 2010 ซึ่งเป็นชาติแรกจากแอฟริกา ที่ไปถึงรอบนี้
อย่างไรก็ตาม กับทัพช้างศึก ผลงานของเทรนเนอร์ชาวเซอร์เบีย ไม่ค่อยจะดีนัก แถมยังแยกทางกลางคันในทัวร์นาเมนต์ เอเชียน คัพ 2019 อีกต่างหาก
ผลงาน: แชมป์ คิงส์ คัพ 2017
[ 15 ] อากิระ นิชิโนะ (ญี่ปุ่น)
คุมทีมชาติไทย: 2019-2021
หลังจากพาญี่ปุ่น เฉิดฉายในฟุตบอลโลก 2018 อากิระ นิชิโนะ ก็ตัดสินใจมาหาความท้าทายใหม่กับไทย ในปี 2019 และการได้กุนซือระดับนี้มา ย่อมทำให้ชาวสยามประเทศมีความหวังเรืองรองมากกว่าเดิม
แต่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่ทุกคนคิด เพราะนอกจากจะเจอสภาวะโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ผลงานของทัพช้างศึกก็ค่อนข้างย่ำแย่ เพราะชนะเพียง 2 จาก 11 เกม ที่มี นิชิโนะ เป็นเฮดโค้ช
ผลงาน: -
[ 16 ] อเล็กซานเดร โพลกิ้ง (บราซิล)
คุมทีมชาติไทย: 2021-2023
จากสารพันปัญหาของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ทำให้ต้องแต่งตั้งนวลพรรณ ล่ำซำ เป็นผู้จัดการทีม และ 'มาดามแป้ง' ก็ไปดึง อเล็กซานเดร โพลกิ้ง อดีตมือขวาของ วินฟรีด เชเฟอร์ มาคุมทัพช้างศึกด้วยสัญญาระยะสั้นในช่วงแรก
แต่การพาทีมคว้าแชมป์ อาเซียน คัพ 2020 ทำให้เทรนเนอร์เชื้อสายบราซิล-เยอรมัน ได้รับการต่อสัญญา ก่อนจะพาไทย ป้องกันแชมป์รายการนี้ได้สำเร็จในปี 2022 ทว่าสุดท้ายไม่ได้ไปต่อ เนื่องจากความพ่ายแพ้ต่อจีน ในฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย คาบ้านตัวเอง
ผลงาน: แชมป์ อาเซียน คัพ 2020 และ 2022