เคบียู สปอร์ต โพลโดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต สำรวจคิดเห็น"ปรากฎการณ์กัมพูชาเกมส์ 2023 กับมุมมองของแฟนกีฬาไทย" ระบุปรากฎการณ์ที่สร้างความผิดหวังให้กับแฟนกีฬาส่วนใหญ่ คือทีมช้างศึกจูเนียร์ ไม่สามารถคว้าเหรียญทองศักดิ์ศรีมาครองได้ อีกทั้งยังก่อเหตุทะเลาะวิวาทในเกมนัดชิงชนะเลิศ ส่วนชนิดกีฬาที่สร้างผลงานเข้าตาแฟนกีฬาไทยมากที่สุด คือ กรีฑา รองลงมาคือ วอลเลย์บอลหญิง, มวยสากล และ เทควันโด
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เปิดเผยว่า จากการที่นักกีฬาทีมชาติไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ณประเทศกัมพูชาระหว่างวันที่ 5-17 พ.ค.66 จากการเข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าวพบว่ามีปรากฎการณ์ที่เกี่ยวกับวงการกีฬาไทยในหลากหลายมิติ เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองและสร้างการมีส่วนร่วมของแฟนกีฬาที่มีต่อปรากฎการณ์ดังกล่าว KBU SPORT POLL (เคบียู สปอร์ต โพล) โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จึงสำรวจคิดเห็นเรื่อง "ปรากฎการณ์กัมพูชาเกมส์ 2023 กับมุมมองของแฟนกีฬาไทย"
สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 18 - 20 พ.ค.66 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไปและผู้ที่ติดตามข่าวสารทางการกีฬาซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,182 คน แบ่งเป็นเพศชาย 704 คน คิดเป็นร้อยละ 59.56 เพศหญิง 478 คน คิดเป็นร้อยละ 40.44 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆโดยภาพรวมพบว่า
ปรากฎการณ์กัมพูชาเกมส์ 2023 กับพัฒนาการของวงการกีฬาไทย กลุ่มอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 31.40 เห็นว่าคงเดิม รองลงมาร้อยละ 28.60 ดีขึ้น, ร้อยละ 23.05 ควรปรับปรุงแก้ไข และร้อยละ 16.95 ไม่แน่ใจ
ส่วนปรากฎการณ์ที่สร้างความประทับใจให้กับแฟนกีฬา ส่วนใหญ่ร้อยละ 27.31 นักกีฬาคว้าเหรียญทองและร่วมสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ รองลงมาร้อยละ 24.90 การแจ้งเกิดของนักกีฬาดาวรุ่ง, ร้อยละ 16.08 การสนับสนุนในการเตรียมทีมนักกีฬาขององค์กรที่เกี่ยวข้อง, ร้อยละ14.77 นักกีฬาแสดงออกซึ่งศักยภาพและเผยแพร่วัฒนธรรมไทย, ร้อยละ 13.38 การตื่นตัวและการมีส่วนร่วมในการเชียร์ของแฟนกีฬา และอื่นๆร้อยละ 3.56
ปรากฎการณ์ที่สร้างความผิดหวังให้กับแฟนกีฬาไทย ส่วนใหญ่ร้อยละ 34.16 ทีมฟุตบอลชายพลาดเหรียญทอง รองลงมาร้อยละ 28.05 การร่วมก่อเหตุวิวาทของทีมฟุตบอลไทยในรอบชิงชนะเลิศ, ร้อยละ 14.71 นักกีฬาไม่สามารถคว้าเหรียญได้ตามเป้า, ร้อยละ12.03 การจัดกีฬาพื้นบ้านเพื่อหวังเหรียญรางวัลของเจ้าภาพ, ร้อยละ7.95 การโอนสัญชาติของนักกีฬาเจ้าภาพ และอื่นๆร้อยละ 3.10
ชนิดกีฬาที่สร้างผลงานเข้าตาแฟนกีฬาไทย ส่วนใหญ่ร้อยละ 30.22 กรีฑา รองลงมาร้อยละ 27.04 วอลเลย์บอลหญิง, ร้อยละ17.12 มวยสากล, ร้อยละ 15.39 เทควันโด, ร้อยละ 6.01 เซปักตะกร้อ และอื่นๆร้อยละ 4.22
ด้านความคาดหวังจากภาครัฐกับการต่อยอดสู่มหกรรมซีเกมส์ 2025 ส่วนใหญ่ร้อยละ 25.98 ส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอ รองลงมาร้อยละ 23.37 ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนานักกีฬาระดับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง, ร้อยละ 20.85 ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับกีฬาสากลอย่างต่อเนื่อง, ร้อยละ 17.81 ส่งเสริมและสนับสนุนนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง, ร้อยละ 8.43 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และอื่นๆร้อยละ 3.56
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า "จากผลการสำรวจดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจากปรากฎการณ์กัมพูชาเกมส์เกมส์ 2023 นั้นพบว่ากลุ่มตัวอย่างได้สะท้อนมุมมองให้เห็นในมิติที่เกี่ยวข้องกับวงการกีฬาอย่างน่าสนใจในหลากหลายมิติโดยเฉพาะพัฒนาการที่เห็นว่ายังคงเดิมรวมทั้งผลงานของชนิดกีฬาต่างๆที่นักกีฬาได้แสดงศักยภาพให้เห็นจนเข้าตาแฟนๆ แต่ในขณะเดียวกันปรากฎการณ์ที่สร้างความผิดหวังให้กับแฟนกีฬาส่วนใหญ่จะเทไปที่ทีมช้างศึกจูเนียร์ที่ไม่สามารถคว้าเหรียญแห่งศักดิ์ศรีให้กับประเทศได้และรวมถึงการร่วมก่อเหตุทะเลาะวิวาทของทีมในรอบชิงชนะเลิศและจากความพลาดหวังในการคว้าเหรียญทองติดต่อกันถึงสามสมัยคงจะเป็นการบ้านให้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯต้องรับไปดำเนินการต่อไป "
"พร้อมกันนั้นผลการสำรวจดังกล่าวยังส่งการบ้านผ่านการคาดหวังไปยังภาครัฐตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับส่งเสริมเพื่อต่อยอดไปสู่มหกรรมซีเกมส์ครั้งต่อไป และเชื่อว่าหากการกีฬาแห่งประเทศไทยในฐานะหัวเรือใหญ่ที่มีบทบาทหน้าที่ในการเตรียมการนักกีฬาได้นำข้อมูลบางส่วนไปประยุกต์ใช้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อวงการกีฬาไทยไม่มากก็น้อย" ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร กล่าวทิ้งท้าย