ทีมชาติไทย มีโปรแกรมที่หินที่สุดในรอบแรกของ อาเซียน คัพ 2022 ที่จะต้องบุกไปเยือนอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นรองแชมป์เก่า ในวันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม ว่าแล้ว 'SIAMSPORT' จึงอยากจะนำเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ มาเล่าสู่กันฟังให้คุณผู้อ่านได้ซึมซับว่าทัพการูด้าเจ๋งเพียงใด!?
ชาติแรกในเอเชีย ที่ได้เล่นฟุตบอลโลก
อินโดนีเซีย คือหนึ่งในประเทศที่คลั่งไคล้ฟุตบอลอย่างสุดลิ่ม แฟนๆ ของพวกเขาขึ้นชื่อในเรื่องของการเชียร์ที่เปี่ยมไปด้วยความดุดัน โดยเฉพาะทีมชาติที่เมื่อใดก็ตามลงสนาม จะมีผู้ชมแห่แหนกันไปให้กำลังใจอย่างล้นหลามอยู่เสมอ
ส่วนหนึ่งของความรักในกีฬาลูกกลมๆ ชนิดนี้นั่นมาจากการที่พวกเขาเคยเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ส มหาอำนาจแห่งตะวันตกที่ครองพื้นที่ยาวนานกว่า 300 ปี เลยทีเดียว
ด้วยเหตุผลนั้นเองทำให้อินโดนีเซีย คือชาติแรกในเอเชีย ที่ได้เข้าแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 1938 โดยตอนนั้นใช้ชื่อ ดัตช์ อีสต์ อินดี้ส์
กระทั่งพวกเขาปลดแอกออกจากการเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ส หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ซึ่งต้องขอบคุณญี่ปุ่น ที่มีส่วนช่วยขับไล่การรุกรานของชาติตะวันตกเช่นกัน
ผลงานดีต่อเนื่อง
พอเป็นอิสระ พวกเขาก็สามารถใช้ชื่ออินโดนีเซีย ได้อย่างเป็นทางการ และก็สร้างประวัติศาสตร์ในทันทีด้วยการเข้าร่วมมหกรรม โอลิมปิก 1956 ณ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย แถมยังไปได้ถึงรอบ 8 ทีม สุดท้ายอีกต่างหาก
แม้จะเป็นน้องใหม่ แต่ผลงานของพวกเขายังดูโดดเด่นในภูมิภาคนี้ เพราะใน เอเชียนเกมส์ 1954 กับ 1986 ก็สามารถจบด้วยอันดับ 4 ของการแข่งขัน โดยที่ในปี 1956 พวกเขาก้าวไปคว้าเหรียญทองแดงได้สำเร็จ
เท่านั้นไม่พอ เมื่อปี 1968 ที่ไทย จัดการแข่งขัน คิงส์ คัพ ขึ้นเป็นหนแรก อินโดนีเซีย ก็บุกมาคว้าแชมป์ได้ถึงสยามประเทศอีกต่างหาก
ผลงานของทัพอิเหนายังคงไปได้สวย การได้เหรียญทอง ซีเกมส์ 1987 คือก้าวแรกที่พวกเขาขึ้นมาท้าทายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะก่อนหน้านั้นมีเพียงไทย, มาเลเซีย และเมียนมาร์ ที่เคยได้แชมป์รายการนี้
ยุค 2000 เข้าชิงอาเซียนคัพ 4 หน
แม้ว่าการได้เหรียญทอง ซีเกมส์ ในปี 1991 จะเป็นความสำเร็จหนสุดท้ายของพวกเขา เพราะหลังจากนั้นอีกนับสิบที่ที่อินโดนีเซีย ไม่สามารถเฉียดใกล้โทรฟี่แชมป์ได้อีกเลย
กระทั่งเข้าสู่ยุคทศวรรษที่ 2000 การได้เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ เอเอเอฟ แชมเปี้ยนชิพ หรือ อาเซียน คัพ เป็นจำนวน 4 หน ก็ถือเป็นบทพิสูจน์ที่ทำให้เห็นว่าทีมการูด้ายังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
แต่น่าเสียดายที่สุดท้ายพวกเขาพลาดท่าให้ไทย ไป 2 ครั้ง และปราชัยต่อสิงคโปร์ และมาเลเซีย อีกชาติละ 1 หน จนเป็นได้แค่พระรองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4 สมัย
2012 เริ่มเสื่อมถอย
ด้วยปัญหาการเมืองภายในประเทศ ทำให้ในปี 2012 สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย (Persatuan Sepakbola Seluruh Indonesia หรือ PSSI) มีการแบ่งแยกการแข่งขันฟุตบอลลีก คือแยกเป็น 2 ลีก ซึ่งจัดขึ้นโดย 2 สมาคมฟุตบอล
ประเทศเดียวกันจะมี 2 ลีก 2 สมาคมฟุตบอลได้อย่างไร ว่าแล้วเรื่องนี้จึงร้อนไปถึงหูสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า (FIFA) ที่ต้องร่อนหนังสือเตือนว่าถ้ายังไม่แก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น จะทำการ 'แบน' พวกเขาออกจากการเป็นชาติสมาชิก พร้อมกับถอดถอนสิทธิ์ในการส่งทีมทุกรายการ
อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซีย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ส่งผลให้ถูกสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติสั่งระงับการเป็นชาติสมาชิกชั่วคราว
ผลของคำตัดสินคือทำให้พวกเขาไม่สามารถส่งทีมเข้าแข่งขันรายการที่จัดโดย ฟีฟ่า และ เอเอฟซี (สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย) ทั้งในระดับสโมสร รวมไปถึงทีมชาติทุกรุ่นอายุ
การโดนแบนของอินโดนีเซีย ยังไม่จบลงที่ตรงนี้ เพราะในปี 2015 พวกเขาก็ถูกระงับสิทธิ์อีกครั้ง และด้วยข้อหาใกล้เคียงกันคือสมาคมฟุตบอลถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลในการจัดการแข่งขันลีก
ผลของคำตัดสินในหนนี้ ทำให้ ฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก รวมไปถึง เอเชียนคัพ 2019 รอบคัดเลือก ไม่มีชื่ออินโดนีเซีย อยู่ในทีมที่เข้าแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม อาเซียน คัพ ยังแข่งขันได้ เนื่องจากไม่ใช่ทัวร์นาเมนต์ที่ได้รับการรับรองจาก ฟีฟ่า และพวกเขาก็ทะยานไปถึงรอบชิงชนะเลิศ ก่อนจะปราชัยให้กับไทย เป็นครั้งที่ 3
กระทั่งพวกเขาสามารถแก้ไขปัญหาภายในประเทศได้สำเร็จในช่วงกลางปี 2016 นั่นเอง ที่ทำให้ ฟีฟ่า ปลดแบนและทำให้อินโดนีเซีย เริ่มกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้นในเวลาต่อมา
ชิน แท-ยง ผู้เปลี่ยนแปลง
พอไม่ได้มีส่วนร่วมกับการแข่งขันระดับนานาชาติอยู่นานปี ส่งผลให้พัฒนาการของอินโดนีเซีย ต้องหยุดชะงัก และนั่นเองที่ทำให้ทุกรายการที่ส่งทีม ทัพการูด้าจึงตกรอบแรกแบบชาชิน
อย่างไรก็ตาม การที่ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ทำให้ความขัดแย้งเริ่มคลี่คลาย และมันเป็นที่มาของการกลับมาพัฒนาลูกหนังแบบจริงจังอีกครั้ง
ทว่าโครงสร้างฟุตบอลที่คลุมเครือมาหลายปี ทำให้พวกเขาต้องหาผู้เชี่ยวชาญในการสร้างรากฐานมาเป็นคนกำหนดทิศทางข้างหน้า
ธันวาคม 2019 สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย ได้ประกาศแต่งตั้ง ชิน แท-ยง กุนซือชาวเกาหลีใต้ ให้เป็นเฮดโค้ช ด้วยสัญญา 4 ปี พร้อมกับภารกิจพาทีมก้าวออกจากยุคแห่งความมืดมนให้ได้สักที
ทว่าด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาดหนักทั่วทุกหย่อมหญ้า ทำให้การทำงานของเทรนเนอร์จากแดนโสมพบกับความติดๆ ขัดๆ อยู่พอสมควร
ยุคใหม่ไฉไลกว่าเก่า
ด้วยปณิธานที่แน่วแน่และการได้รับอำนาจแบบเต็มมือจากสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย ทำให้ แท-ยง ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวด้วยการปรับเปลี่ยนผู้เล่นทีมชาติแบบแทบจะยกแผง
บรรดานักเตะมากประสบการณ์ที่รับใช้ชาติมายาวนานต่างหลุดโผกันระนาว สวนทางกับแข้งใหม่ที่เติบใหญ่จากรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ที่ได้โอกาสจากอดีตกุนซือทีมชาติเกาหลีใต้ มากขึ้น
อาเซียน คัพ 2020 แท-ยง ทำเอาทุกคนต้องตื่นตะลึงกับการประกาศ 30 รายชื่อที่เต็มไปด้วยหน้าใหม่ และมีค่าเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 23 ปี เท่านั้น ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุดอันดับ 4 ใน ครั้งนั้น
แต่ทีมพลังหนุ่มของอินโดนีเซีย กลับผงาดเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้อย่างสุดเซอร์ไพรส์ และก็น่าเสียดายที่พวกเขาปราชัยต่อไทย อีกคราว ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 4 ที่ทัพการูด้าแพ้ช้างศึกในนัดตัดสินแชมป์ทัวร์นาเมนต์นี้
ก้าวกระโดดและการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่
นับตั้งแต่คว้ารองแชมป์ อาเซียน คัพ 2020 ดูเหมือนว่าพัฒนาการของอินโดนีเซีย จะรุดหน้าแบบก้าวกระโดด
มิถุนายน 2022 กับศึก เอเชียน คัพ 2023 รอบคัดเลือก ชิน แท-ยง ยังนำทัพการูด้าบุกไปพลิกล็อกคว้าชัยเหนือคูเวต ได้ถึงถิ่น 2-1 ซึ่งเป็นหนแรกในรอบ 42 ปี ที่สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ทีมนี้ได้สำเร็จ
3 คะแนน ในเกมนี้ยังเป็นหนแรกนับตั้งแต่ปี 2004 (เยเมน 0-3 ไทย) ที่ประเทศจากอาเซียน บุกไปเอาชัยเหนือชาติของอาหรับได้ถึงถิ่นอีกด้วย
จากความมั่นใจ บวกกับฟุตบอลที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด อินโดนีเซีย ก็สามารถผ่านเข้าสู่ เอเชียน คัพ 2023 รอบสุดท้ายได้เป็นหนแรกในรอบ 16 ปี อีกต่างหาก
และผลงานที่เกิดขึ้นนั้นก็มาจาก 'ทีมพลังหนุ่ม' ที่เติบโตมาจากการปรุงแต่งของเฮดโค้ชที่ชื่อ แท-ยง นั่นเอง
อาเซียน คัพ 2022 กับประสบการณ์ที่เพิ่มพูน
ชิน แท-ยง ยังคงนำลูกทีมเดินหน้าด้วยความมั่นใจ 9 นัด ก่อนที่ อาเซียน คัพ 2022 จะเริ่มต้น ทัพการูด้าแพ้เพียงเกมเดียวต่อจอร์แดน เท่านั้น และที่เหลือหนักไปทางชัยชนะเป็นส่วนใหญ่
เทรนเนอร์วัย 52 ปี ยังคงยึดมั่นในผู้เล่นชุดเดิมจากศึกชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียนในครั้งก่อน ซึ่งแต่ละคนก็เพิ่มพูนด้วยประสบการณ์ที่สูงขึ้น จากการเรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีต
ปราตามา อาร์ฮาน แบ็กซ้ายวัย 21 ปี ยังคงเป็นแกนหลักในแนวรับ ร่วมกับ อัสนาวี่ มังกูอาลาม คู่หูดาวรุ่งที่เพิ่งจะอายุ 23 ซึ่งยืนประจำการทางฟากขวา
แดนกลางพวกเขาได้ มาร์เซลิโน่ เฟอร์ดินานด์ แข้งอนาคตไกลที่มาพร้อมอายุเพียง 18 ปี และอย่าลืมว่า วิตาน ซูเลมาน กับ เอกี้ เมาลาน่า สองนักเตะที่เล่นในลีกยุโรป ก็เพิ่งจะ 21 และ 22 ปี ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้เล่นอายุน้อยอีกหลายราย ไล่ตั้งแต่ มูฮัมหมัด ริยานดี้ (ผู้รักษาประตู, 22), ริซกี้ ริดโญ่ (เซนเตอร์ฮาล์ฟ, 21), รัชมัต อิริยันโต้ (กองกลาง, 23), ชะห์ริยัน อะบิมันยู (กองกลาง,23), ซัดดิล รัมดานี่ (ปีก, 23) และ รามะดาห์น ซานานต้า (กองหน้า, 20)
เท่ากับว่าอินโดนีเซีย ชุดนี้มีนักเตะอายุไม่ถึง 23 ปี อยู่ตั้ง 11 คน หรือเกือบครึ่งทีมทีเดียว
ไม่นับรวมคนที่ยังอยู่ในวัยฉกรรจ์ทั้ง นาเดโอ้ อาร์กาวินาต้า (ผู้รักษาประตู, 25), เอโด้ เฟบริยันซาห์ (แบ็กซ้าย, 25), ยาค็อบ ซายูรี่ (กองกลาง, 25) และ มูฮัมหมัด ราฟลี่ (กองหน้า, 24)
อายุเฉลี่ยของอินโดนีเซีย จึงอยู่ที่ 24.7 ปี เท่านั้น ซึ่งน้อยที่สุดเป็นอันดับ 4 ของทัวร์นาเมนต์อีกครั้ง
แต่ด้วยการเคี่ยวกรำจาก แท-ยง ซึ่งเป็นกุนซือที่เน้นระเบียบวินัยอยู่แล้ว บวกกับกระดูกที่แข็งแรงขึ้นของกลุ่มนักเตะยังบลัด มันจึงทำให้พวกเขากลายเป็นทีมที่น่าจับตามองมากที่สุดของ อาเซียน คัพ 2022 อย่างแท้จริง
หากว่าแท็กติกลงล็อก และสามารถจัดการกับจุดแข็งของคู่ต่อสู้ได้ตามกลยุทธ์ที่วางไว้ มั่นใจได้เลยว่าอินโดนีเซีย มีโอกาสที่จะประกาศศักดาครองความเป็นจ้าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เช่นกัน
เมื่อนั้นจาก 'พระรอง' ก็จะก้าวข้ามสู่บทบาท 'พระเอก' ได้เสียที