ฟุตซอลชิงแชมป์แห่งทวีปเอเชียเริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1999.. ประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ
อิหร่านคว้าแชมป์ด้วยการถล่มเกาหลีใต้ 9-1 ในนัดชิงชนะเลิศ
ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ครั้งที่สี่ ห้า หก เจ็ด.. จัดแข่งกันต่อเนื่องทุกปี
ปี 2000 ที่ประเทศไทย.. ปี 2001 ที่อิหร่าน.. ปี 2002 ที่อินโดนีเซีย.. ปี 2003 ที่อิหร่าน.. ปี 2004 ที่มาเก๊า.. ปี 2005 ที่เวียดนาม..
อิหร่านก็ยังคงเป็นแชมป์
7 สมัยแรกของฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย อิหร่านกวาดแชมป์เรียบวุธแบบไม่ยอมแบ่งให้ใคร
เตะที่ไหน เมื่อไหร่ ใครจะเข้ามาชิง พวกเขาไม่สน ไม่ยี่หระ และไม่ปราณี เราได้เห็นสกอร์ขาดลอยเกินกว่าจะเชื่อว่าเป็นนัดชิงอาทิ 9-0, 9-1, 6-0, 4-1 เกิดขึ้น
อิหร่านทั้งนั้น.. มาตรฐานของพวกเขาเหนือกว่าใครจริง ๆ ในเอเชีย ยิ่งสมัยที่ 3 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพเองเมื่อปี 2001 คือความโหดขั้นสุด ผลงานของอิหร่านในรายการปีนั้นคือรอบแรกอัดปาเลสไตน์ 16-4 ถล่มสิงคโปร์ 28-0 ยิงไชนีสไทเป 10-1 ชนะญี่ปุ่น 8-4
รอบ 8 ทีมสุดท้ายถลุงคูเวต 18-2.. รอบรองชนะเลิศย้ำแค้นญี่ปุ่น 8-2 และรอบชิงชนะเลิศบอมบ์อุซเบกิสถาน 9-0 ซึ่งเป็นสถิติชนะถล่มทลายที่สุดในนัดชิงมาจนถึงวันนี้
กระทั่งสมัยที่ 8 เมื่อปี 2006 ที่อุซเบกิสถาน อิหร่านก็ได้รู้จักความผิดหวังเป็นครั้งแรก เมื่อถูกญี่ปุ่นเขี่ยตกรอบรองชนะเลิศ
ญี่ปุ่น ก้าวต่อไปเป็นแชมป์สมัยแรกด้วยการต้อนอุซเบกิสถานเจ้าภาพ 5-1
แล้วหลังจากนั้นอิหร่านก็กลับมาแก้ตัวแบบเน้น ๆ ด้วยการคว้าแชมป์อีก 3 สมัยติดกับการถล่มเจ้าภาพไม่ซ้ำหน้าในนัดชิง
-ญี่ปุ่นแชมป์เก่าโดนไป 1-4 ที่โอซาก้าเมื่อปี 2007
-ทีมชาติไทยเจอไป 0-4 ในการเข้าชิงครั้งแรกของทัพโต๊ะเล็กช้างศึก ที่อาคารนิมิบุตรเมื่อปี 2008
-และอุซเบกิสถานถูกกระหน่ำโหด 3-8 ที่ทาชเคนต์เมื่อปี 2010 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทัวร์นาเม้นต์ขยับมาเตะเป็น 2 ปีต่อครั้ง
11 สมัยแรก อิหร่านเป็นแชมป์ไป 10 หน
แต่ใน 5 สมัยหลังสุดจนถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาแย่งดุลอำนาจกับอิหร่านอย่างท้าทาย เมื่อคว้าแชมป์ได้ถึง 3 สมัยคือปี 2012 ที่ยูเออี.. ปี 2014 ที่เวียดนาม และปี 2022 หรือสมัยที่แล้วที่คูเวตซึ่งทีมอาทิตย์อุทัยเฉือนขุนพลจากเตหะราน 3-2 ในนัดชิง
ส่วนอิหร่านได้เพิ่มอีก 2 สมัยที่ อุซเบกิสถาน ในปี 2016 และที่ไต้หวันเมื่อปี 2018
รวมแล้วจาก 16 ครั้งที่ผ่านมาของฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย อิหร่านได้แชมป์ไป 12 สมัย ญี่ปุ่นคว้าแชมป์ 4 ครั้ง
ยังไม่เคยมีชาติอื่นนอกเหนือจาก 2 ชาตินี้ที่ได้แชมป์แห่งทวีป เฉพาะที่เข้าไปชิงกันเองก็ครึ่งหนึ่งเข้าไปแล้ว (8 ครั้ง)
อุซเบกิสถานเข้าชิง 4 ครั้ง เกาหลีใต้เข้าชิง 1 ครั้ง คาซัคสถานเข้าชิง 1 ครั้ง
และทีมชาติไทยเข้าชิง 2 ครั้ง..
----------------
ทีมฟุตซอลไทยยังไม่เคยได้แชมป์เอเชีย..
แม้จะโลดแล่นอยู่ในระดับโลกของวงการลูกหนังโต๊ะเล็ก เข้าไปเล่นฟุตซอลโลกรอบสุดท้ายมา 6 สมัยติดต่อกัน รวมครั้งล่าสุดที่คว้าโควต้าเรียบร้อยเข้าไปด้วยก็จะเป็นสมัยที่ 7
ปี 2000 ที่กัวเตมาลา.. ปี 2004 ที่ไต้หวัน.. ปี 2008 ที่บราซิล.. ปี 2012 ที่ประเทศไทย.. ปี 2016 ที่โคลอมเบีย.. ปี 2021 ที่ลิทัวเนีย และในเดือนกันยายนนี้ที่ อุซเบกิสถาน 2024
7 สมัยติด 24 ปีเต็ม ที่ฟุตซอลไทยไม่เคยพลาดฟุตซอลชิงแชมป์โลกเลย
แต่กระนั้นก็ยังมีภารกิจบางอย่างที่เรายังไม่เคยไปถึง แชมป์เอเชียคือหนึ่งในนั้น
จากวันแรกที่ใช้นักฟุตบอลมาเล่นฟุตซอล มาถึงวันนี้ที่มีนักฟุตซอลอาชีพ มีลีกฟุตซอลอาชีพ มีทีมฟุตซอลชั้นนำ มีนักฟุตซอลไปเล่นต่างแดน มีสังคมฟุตซอล มีฐานกองเชียร์
ได้ไปฟุตซอลโลกทุกสมัยนับตั้งแต่จั่วหัวกัวเตมาลา 2000 แต่ขุนพลโต๊ะเล็กของเราก็ยังไม่เคยไปถึงตำแหน่งแชมป์เอเชีย
ใกล้ที่สุดแค่เข้าไปมองเห็นมันอยู่ตรงหน้าในนัดชิง
ด้วยกำแพงอิหร่านสูงใหญ่เหลือเกิน หรือในบางครั้งสามารถปีนข้ามกำแพงนั้นได้แล้วอย่างเลือดตากระเด็น ก็ไปชนกำแพงญี่ปุ่นในด่านสุดท้าย
ในฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย เราเจออิหร่านเมื่อไหร่ก็ผูกปีแพ้ ด้วยมาตรฐานที่ยังแตกต่าง
แต่ในปี 2012 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขุนพลโต๊ะเล็กของเราสร้างประวัติศาสตร์โค่น อิหร่าน ได้อย่างน่าจดจำในรอบรองชนะเลิศ
เสมอกัน 3-3 ในเวลาปกติ เสมอกันอยู่ 1-1 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ กำลังจะดวลจุดโทษอยู่แล้วตอนที่ ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง ตะบันประตู 5-4 พาเราเข้าชิง ฉลองบ้าคลั่งกันทั้งประเทศ
ผู้ทำประตูในวันนั้น จิรวัฒน์ สอนวิเชียร 1 ลูก (ยิงตีเสมอ 3-3) อภิวัฒน์ แจ่มเจริญ 1 ลูก (ยิงนำ 4-3) และแฮตทริกของ ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง (ยิงตีตื้น 1-2, 2-3 และประตูชัย 5-4)
เราชนะอิหร่านได้เป็นครั้งแรก น่าเสียดายที่มันไม่ใช่นัดชิงชนะเลิศ เพราะเมื่อถึงวันชิง เราแพ้ญี่ปุ่น 1-6
ใน 16 ครั้งที่ผ่านมา เราตกรอบแบ่งกลุ่มรอบแรก 2 ครั้ง ตกรอบแบ่งกลุ่มรอบสอง 1 ครั้ง (เสมออิหร่าน แพ้ญี่ปุ่น)
ตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย 5 ครั้ง.. แพ้ญี่ปุ่น 2 ครั้ง แพ้อิหร่าน 1 ครั้ง แพ้อุซเบกิสถาน 1 ครั้ง แพ้จีน 1 ครั้ง)
ตกรอบรองชนะเลิศ 6 ครั้ง.. แพ้อิหร่าน 3 ครั้ง แพ้ญี่ปุ่น 2 ครั้ง แพ้อุซเบกิสถาน 1 ครั้ง
เข้าชิงชนะเลิศ 2 ครั้ง.. แพ้อิหร่าน 1 ครั้ง แพ้ญี่ปุ่น 1 ครั้ง
หกโมงเย็นวันนี้ที่ บางกอก อารีน่า เราจะลงสนามในนัดชิงเจ้าเอเชียเป็นครั้งที่ 3
เกมน็อคเอ๊าต์ 2 รอบที่ผ่านมาทั้งรอบ 8 ทีมสุดท้ายกับ อิรัก และรอบรองชนะเลิศกับ ทาจิกิสถาน เราสวมหัวใจสิงห์ผ่านมันมาได้อย่างดุเดือด
พวกเขายังคงพยายาม ยังคงสู้ไม่ถอย ยังคงไม่ยอมแพ้ ยังคงเป็นความภาคภูมิใจของเราเหมือนเคย
เราผ่าน 2 รอบที่ผ่านมาได้ราวกับมีอะไรบางอย่างพยุงเราและผลักดันเรา พัดพาเราให้ก้าวมาถึงวันนี้ที่จะได้ลงเตะเป็นคู่สุดท้ายของทัวร์นาเม้นต์
อะไรบางอย่างที่ว่าคงไม่ใช่ของวิเศษอะไรอื่นนอกจากความพยายามและพลังใจที่เราสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเอง
คู่ต่อสู้ของเราในนัดชิง.. หมายเลขหนึ่งตลอดกาลของเอเชียเจ้าเก่า
อิหร่าน..
เจออิหร่าน.. เราไม่มีอะไรต้องเสียอยู่แล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีที่แล้วในวันประวัติศาสตร์โค่นอิหร่าน 5-4
ผู้ทำประตูในวันนั้น จิรวัฒน์ สอนวิเชียร 1 ลูก อภิวัฒน์ แจ่มเจริญ 1 ลูก และ ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง ทำแฮตทริก..
ทั้ง "กัปตันเนิร์ส" จิรวัฒน์ "หมวดก๊อก" อภิวัฒน์ และ "เทพอาร์ม" ศุภวุฒิ ยังคงรับใช้ชาติและจะลงสนามในเย็นวันนี้ด้วย ร่วมกับเหล่าแข้งรุ่นน้องที่พร้อมจะเขียนหน้าประวัติศาสตร์ให้ตัวเอง
ถ้าโลกจะมีความโรแมนติกอยู่บ้าง ก็อยากจะให้ทั้ง 3 คนได้ย้อนรอยประวัติศาสตร์วันนั้นอีกครั้ง
แต่ทั้งหมดทั้งมวล เราต่างหากเป็นคนกำหนดชะตากรรมของตัวเอง
มาถึงขั้นนี้แล้ว เราขอส่งกำลังใจให้นักเตะของเราทุกคน
ลงสนามไปทำหน้าที่ของคุณ เราก็จะทำหน้าที่ของพวกเรา จะเปล่งเสียงเชียร์ให้ดังลั่น ให้เป็นพลังพิเศษที่คู่แข่งไม่มี
แพ้ยังยิ้มและฉลองได้ ไม่มีนัดชิงไหนไร้ความกดดันไปกว่านี้อีกแล้ว
สู้ให้เต็มที่นะครับ เท่าไหร่เท่ากัน เป็นไงก็เป็นกัน เสร็จแล้วพวกเราก็จะมาฉลองด้วยกัน ขอบคุณทีมฟุตซอลของเราทุกคนจริง ๆ
ป.ล. นัดชิง ไทย-อิหร่าน ถ่ายทอดสด T-sport เวลา 18.00 น.
----------------
ผลงานของทีมชาติไทยในฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย
ปี 1999 รอบแบ่งกลุ่ม (แพ้อิหร่าน แพ้เกาหลีใต้)
ปี 2000 รอบรองชนะเลิศ (แพ้อิหร่าน 2-8)
ปี 2001 รอบ 8 ทีมสุดท้าย (แพ้อุซเบกิสถาน 3-4 หลังต่อเวลา)
ปี 2002 รอบรองชนะเลิศ (แพ้ญี่ปุ่น 0-3)
ปี 2003 รอบรองชนะเลิศ (แพ้ญี่ปุ่น 2-3 หลังต่อเวลา)
ปี 2004 รอบรองชนะเลิศ (แพ้อิหร่าน 1-6)
ปี 2005 รอบแบ่งกลุ่มรอบสอง (เสมออิหร่าน แพ้ญี่ปุ่น)
ปี 2006 รอบแบ่งกลุ่ม (แพ้อิหร่าน เอาแค่แชมป์กลุ่มเข้ารอบ)
ปี 2007 รอบ 8 ทีมสุดท้าย (แพ้ญี่ปุ่น 6-9)
ปี 2008 รองแชมป์ (แพ้อิหร่าน 0-4)
ปี 2010 รอบ 8 ทีมสุดท้าย (แพ้จีน 2-9)
ปี 2012 รองแชมป์ (แพ้ญี่ปุ่น 1-6) (ชนะอิหร่านรอบรองฯ 5-4 หลังต่อเวลาพิเศษ)
ปี 2014 รอบ 8 ทีมสุดท้าย (แพ้ญี่ปุ่น 2-3)
ปี 2016 รอบรองชนะเลิศ (แพ้อุซเบกิสถาน 2-2 (จุดโทษ 1-3)
ปี 2018 รอบ 8 ทีมสุดท้าย (แพ้อิหร่าน 1-9)
ปี 2022 รอบรองชนะเลิศ (แพ้อิหร่าน 0-5)
ตังกุย