22 ปีที่รอ เบื้องหลัง อิปสวิช ขึ้นพรีเมียร์

22 ปีที่รอ เบื้องหลัง อิปสวิช ขึ้นพรีเมียร์
มีหลายอย่างที่บ่งชี้ว่านี่คือสโมสรที่มีประวัติศาสตร์ ต่อให้จะหายจากลีกสูงสุดไปเกินสองทศวรรษแล้ว

ระหว่างทางที่รถไฟจอดตามสถานีเล็กๆก็มีผู้คนที่สวมเสื้อโลโก้ 'ม้าสีขาว' รอกระโดดร่วมขบวน ครั้นพอไถลหัวออกจากชานชาลาเท่านั้นก็มองเห็นหลังคาของสนามมีเสาไฟชูคอในระยะที่มองชัดเจน นั่นก็ยืนยันเพิ่มว่านี่เป็นสโมสรที่ตั้งอยู่ในเมืองเพื่อผูกมัดชุมชน    

"คุณโอเคไหม?" เสียงที่ลอยมาจากการ์ดที่เฝ้าหน้าผับซึ่งพอหันขึ้นไปมองก็เจอชายร่างกำยำที่ยิ้มให้มุมปาก     

ผมพงกศีรษะตอบรับแต่ในใจก็แอบรู้สึกอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก มันไม่ใช่เรื่องที่เจอได้ทั่วไปหรือบางทีมันอาจเป็นกับบางเมืองเท่านั้น      

เพียง 5 นาทีจากสถานีรถไฟก็ถึงตัวสนาม ซึ่งทุกวันนี้คงแข็งขืนกับสายลมโหมแรงคงไม่เดินต้อยๆ ตามกลิ่นฟ่อนธนบัตรเหมือนอีกหลายแห่ง     

เข้าใจดี แต่บางครั้งก็รู้สึกทะแม่งอย่างยากอธิบายพอรู้ว่าชื่อของบางสนามได้โดนอำนาจเงินกลืนกินจนต้องเปลี่ยนชื่อตามสปอนเซอร์     

พอร์ทแมน โร้ด ชื่อนี้เท่และติดหูตั้งแต่เด็ก 

จะว่าไปก็ตลกอยู่ที่บ่อยหนต้องใช้เส้นทางสายนี้เพื่อเป็นทางผ่านมุ่งหน้าไป นอริช ที่อยู่ไกลออกไป มันก็อาจเหมือนการได้กลับมาเยี่ยมเพื่อนเก่าที่กาลครั้งหนึ่งเคยโลดแล่นในพรีเมียร์ลีก เคยมีผู้เล่นดีๆอาทินายทวารสัญชาติแคนาดาเคร็ก ฟอร์เรสต์, กองกลางตัวเก๋า จอห์น วอร์ค จนถึงกองหน้าผิวสีที่ซัดประตูกระจายอย่าง คริส คิวอมย่า (ใครยังจำได้บ้างว่าเคยไปอยู่อาร์เซนอลด้วย)

รุ่นต่อมาที่หลายคนน่านึกออกภายใต้กุนซือ จอร์จ เบอร์ลี่ย์ ก็นำโดยดาวยิง มาร์คัส สจ๊วร์ต, แมตต์ ฮอลแลนด์, จิม มาจิลตัน ตลอดจน เฮอร์มัน ไฮดาร์สสัน เป็นน้องใหม่ที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาซีซั่น2000/01

ทว่าสร้างเซอร์ไพร์สจบอันดับ 5 จนได้สิทธิไปเตะยูฟ่า คัพ

อีกนั่นแหละปีต่อมากลับต้องตกชั้นลงไปและนั่นก็เป็นปีสุดท้ายที่ชื่อของ อิปสวิช ทาวน์ โผล่ขึ้นมาอยู่พรีเมียร์ลีก

22 ปีไม่ใช่เวลาน้อยๆเลย

หลายอย่างได้เปลี่ยนไปหมดแล้วทั้งโลกของชีวิตและเกมลูกหนัง ผมหยิบเอาเรื่องนี้คุยกับเจ้าหน้าที่สนามซึ่งเฝ้าอยู่ตรงบริเวณห้องวีไอพีก็ได้รับใจความที่ทำให้อกข้างซ้ายเขย่าแรง "ครั้งสุดท้ายที่เราอยู่พรีเมียร์ลีก ตอนนั้นผมก็ยังเรียนหนังสืออยู่เลย ยังเป็นเด็กที่ซื้อตั๋วเข้าสนามเพื่อตามเชียร์ ผมเกิดและโตที่นี่ดังนั้นต่อให้เราจะตกต่ำแค่ไหนก็ไม่สามารถไปเชียร์ทีมอื่นได้ ทุกวันนี้ผมโชคดีที่ไม่ต้องซื้อตั๋วแล้วหลังได้เข้ามาทำงานที่นี่"

การมาดูทีมในลีกด้านล่างเป็นความชอบโดยส่วนตัวแต่ก็กล้าพูดได้ว่ามีไม่กี่สโมสรหรอกที่ทำให้ต้องรัวชัตเตอร์ไม่หยุด ความที่พอร์ทแมน โร้ดมีมุมที่ดึงดูดให้ต้องยกกล้องขึ้นมาเต็มไปหมด เอาว่ากระถางต้นไม้ก็ยังฉาบด้วยสีน้ำเงินเลยพร้อมทั้งมีรูปถ้วยเอฟเอ คัพกับตัวเลข 1978 อันเป็นปีที่เคยคว้ามาครองได้

นี่ก็ยังเป็นสังเวียนที่มีรูปปั้นของตำนานผู้จัดการทีมถึง 2 คนตั้งให้คนมาสักการะ จะเรียกว่าเป็นทีมที่ผลักส่งต่อโค้ชสู่ทีมชาติอังกฤษก็ได้เนื่องจากเขาทั้งสองได้แก่เซอร์ อัล์ฟ แรมซี่ย์กับเซอร์ บ็อบบี้ ร็อบสัน         

คนแรก...แชมป์โลก66

อีกคน...รอบตัดเชือก90

จึงมีการเปลี่ยนชื่ออัฒจันทร์สองด้านเพื่ออุทิศเป็นเกียรติให้ทั้งคู่โดยเฉพาะฝั่งของเซอร์ บ็อบบี้นั้นจะมีการถ่ายทอดบันทึกทางประวัติศาสตร์ตลอด 13 ปีที่คุมทีม(1969-1982)

บางผนังเขียนไว้ว่า"ปี1978เป็นปีเดียวในระหว่าง1972-1982ที่หลุดท็อปซิกซ์ของดิวิชั่น1ภายใต้บ็อบบี้แต่พวกเราทุกคนสะท้านดีว่าเกิดอะไรขึ้นปีนั้น"

อีกผนังที่ติดๆกัน"บ็อบบี้เซ็นสัญญานักเตะมาแค่ 14 รายตลอดเวลาที่คุมทีมในพอร์ทแมน โร้ด นอกจากนั้นก็ยังมีประตูรวมถึง 1,031 ลูกที่พวกเรายิงได้กับทีมของบ็อบบี้"

หรืออีกอันก็เอาเพลงที่กองเชียร์ม้าขาวมักตะโกนเรียกยอดกุนซือผู้ล่วงลับไปแล้วของตัวเอง"One Bobby Robson, There's only one Bobby Robson...One Bobby Robson"

สโมสรที่มีฐานแฟนบอลหนาแน่นและเหนียวแน่นย่อมทะยานไปข้างหน้าได้ไม่ยากถ้าหากมีการบริหารจัดการที่ถูกต้อง 

จะฉายา 'ม้าขาว' ที่บ้านเราเรียกสนิทปาก หรือว่าตามที่คนอังกฤษนิยมเรียกกันว่า 'Tractor Boys' ก็สะท้อนความเป็นดินแดนที่ชื่อว่า Suffolk อันเป็นที่ตั้งของอิปสวิช

ก็พื้นที่มีแต่ทุ่งหญ้า 

ก็ตอนนั่งรถไฟมาจากลอนดอน พอใกล้ถึงมองออกนอกหน้าต่างต้องเจอฝูงม้ากำลังเล็มหญ้าประจำ แน่นอนว่าอาชีพหลักตั้งแต่อดีตของคนแถบนี้ก็เป็นการขับรถแทร็คเตอร์ ทุกอย่างมีที่มาที่ไปเสมอในเกมลูกหนัง

ผมพูดเสมอการเป็นแฟนบอลไม่เคยง่าย

ยกตัวอย่าง อิปสวิช นี่แหละ นอกจากห่างหายจากพรีเมียร์ลีกมายาวนาน ในเวลาเดียวกันนั้นคู่อริหมายเลขหนึ่งอย่าง นอริช ซิตี้ ก็ยังมีช่วงที่โผล่ไปอยู่ลีกสูงสุดบ้าง อาจไม่ได้อยู่ยืดแต่อย่างน้อยก็ยังเคยได้ขึ้นไป

"Stand up if you’re going up" เสียงนี้กระหึ่มขึ้นในช่วงต้นของครึ่งหลังทันทีที่ โอมารี่ ฮัทชินสัน จบสกอร์2-0ให้เจ้าบ้าน

วินาทีนั้นหันไปทางไหนก็เจอแต่คนที่พร้อมใจกันลุกยืน บ้างลุกมากอดกัน บ้างลุกมากระโดดโลดเต้น บ้างลุกมาเอามือกุมศีรษะราวกับไม่เชื่อสายตาตัวเองต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและบ้างที่จูบกันดูดดื่ม

ฟุตบอลทำให้คนอยากทำอะไรก็ได้เสมอ

จากสโมสรที่จมอยู่ลีกวันนานถึง 4 ปี ดูหมดสิ้นความหวังแต่ทุกอย่างมาเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผลสองข้อ

1.การได้กลุ่มทุนอเมริกันGamechanger 20เข้ามาถือเทกโอเวอร์ในเดือนเมษายนปี 2021 โดยรีบวางโครงสร้างทำทีมใหม่ทันที

2.ในอีกไม่กี่เดือนถัดมาการที่ไปเอาตัว คีแรน แม็คเคนน่า เข้ามาคุมทีม

นับจากมีพรีเมียร์ลีกมามีแค่สี่ทีมเท่านั้นที่เคยทำได้อย่าง อิปสวิช หมายถึงเลื่อนชั้นจากลีกวันขึ้นลีกสูงสุดได้ติดต่อกันในทันที ได้แก่ เซาธ์แฮมป์ตัน 2012, นอริช 2011, แมน ฯ ซิตี้ 2000 และ วัตฟอร์ด1999   

ทว่ายุคสมัยต่างออกไป แทบไม่มีใครคาดคิดหรอกว่าแม็คเคนน่าจะทำให้ทีมม้าขาวกลับมาได้หลังหายไปถึง22ปี

พวกเขาไม่ได้มีเงินจากกฎร่มชูชีพ(parachute)เหมือนพวกทีมที่เพิ่งตกลง อีกทั้งประสบการณ์กับชื่อชั้นนักเตะด้วยก็ทำให้ทีมอย่าง เลสเตอร์ ซิตี้(ทำสำเร็จไปแล้ว), ลีดส์ ยูไนเต็ด, เซาธ์แฮมป์ตัน, นอริช รวมถึง เวสต์บรอมวิชฯ ต่างหากที่ถูกยกว่ามีโอกาส

บอลสไตล์ แม็คเคนน่า ก็เป็นตัวแทนโค้ชรุ่นใหม่ที่กำลังอายุ 38 เต็มอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

เพรสซิ่งเร็ว, ต่อบอลบนพื้นกับเน้นเกมรุกเป็นหลัก

ถ้าติดตามดูอิปสวิชก็จะพบหลายเกมเลยที่เอนเตอร์เทนผู้ชม ยิงกันอุตลุด บางทีโดนนำไปก่อนด้วยค่อยแซงคืนมา เหตุผลเพราะปรัชญาของแม็คเคนน่า "ทำไงก็ได้ให้ยิงประตูได้เยอะกว่าคู่แข่ง"

ตลอดสองซีซั่นนี้จากลีกวันขึ้นพรีเมียร์ลีกก็ใช้เงินไปแค่ 4.7 ล้านปอนด์ วิธีการจึงต้องอาศัยยืมตัวใช้งานหรือเซ็นแบบฟรีเข้ามา

อ้างอิงจากเวป Transfermarkt ก็ยังตีแผ่ได้อีกว่ามูลค่ารวมของอิปสวิช ทาวน์ชุดนี้อยู่อันดับไม่ถึงครึ่งของตารางแชมเปี้ยนชิพเลย ตกแค่50ล้านปอนด์พอๆกับคาร์ดิฟฟ์และเบอร์มิงแฮม ซิตี้(ที่เพิ่งตกชั้นไป) 

ขณะเดียวกันเลสเตอร์ประเมินได้ 211 ล้าน, ลีดส์ 206 ล้านหรือว่าเซาธ์ 189 ล้าน

นกหวีดยาวยังดังไม่ทันจบดี มีแฟนบอลหลายคนวิ่งกรูลงไปฉลองในสนาม ต่อให้ภาพทำนองนี้ก็เดาได้ก่อนอยู่แล้วก็คงรู้สึกอิ่มเอมยังอธิบายไม่ถูก

นานมาแล้ว22ปี

มันคือรางวัลแห่งการรอคอย   

"ไก่ป่า"....


ที่มาของภาพ : getty images
BY : ไก่ป่า
เอกราช นิติสุทธิ์สกุล
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport