นิยามของฟุตบอลมีหลายหลาก ยกหนึ่งในตัวอย่างจาก แมนเชสเตอร์ ดาร์บี้ ระลอกล่าสุดก็เป็นประตูสุดสวยจาก มาร์คัส แรชฟอร์ด ในนาทีที่8ซึ่งเมื่อเทียบจากค่า xG 0.03 แล้ว ก็สะท้อนออกมาถึงความพิลึกพิลั่นของมัน
อะไรก็เกิดขึ้นได้ในเกมลูกหนัง
แต่ไหนแต่ไรทีมที่เป็นรองก่อนลงสนามสามารถพลิกโค่นทีมที่เป็นต่อได้ มันไม่เกี่ยวกับการครองบอล ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครมีโอกาสกว่ากัน ในอีกด้านมันจึงโหดร้ายเขียนอย่างย่อได้ว่าใครต่างหากที่ส่งบอลเข้าก้นตาข่ายได้มากกว่า
45 นาทีแรกเมื่อวันอาทิตย์เกมศักดิ์ศรีของสองสโมสรสีฟ้าและแดงก็ออกมาในรูปนั้น โอกาสเดียวของผู้มาเยือนที่มีค่า xG 0.03 ได้ประตู ทางตรงกันข้ามที่ทางเจ้าถิ่นพยายามเซตเกมรุกโจมตีเข้าหายังไงก็ทำไม่ได้
ยิ่งกว่านั้นจังหวะพลาดหน้าประตูของ เอร์ลิ่ง ฮาลันด์ ตอนท้ายครึ่งแรกก็คล้ายบอกว่าบางทีมันอาจไม่ใช่วันของทีมแชมเปี้ยน
เป็นไปได้ไงที่ทีมครองบอลกว่า 70% กับสร้างโอกาสถึง 18 ครั้ง จะไม่สามารถเจาะเข้าทำทีมที่ก่อนหน้านี้เสียไปแล้วถึง 39 ลูกได้
นี่คือบางนิยามของฟุตบอล
และครึ่งหลังก็เป็นอีกความหมายของเจ้าลูกกลมๆที่พร่ำบอกเราเสมอว่าการสร้างทีมระยะยาวมีความสำคัญอย่างไร ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนตัวหรือปรับแท็กติกใดๆจาก เป๊ป กวาร์ดิโอล่า รายละเอียดที่ต่างก็ออกบอลเร็วขึ้นกับลองส่องแถวสองดูบ้างในเมื่อข้างหน้ามองไปทางไหนก็เจอแต่กำแพงมนุษย์สีแดงเต็มไปหมด
ใช่ มันคือคุณภาพของแมนฯซิตี้
ใช่ มันคือเรื่องที่เราก็เห็นกันมาบ่อยอยู่แล้วกับทีมที่ครองความยิ่งใหญ่ลูกหนังอังกฤษศักราชนี้
สามแต้มที่มีค่าอยู่แล้ว ความจริงไม่ใช่ว่าการแซงกลับมาเอาชนะทีมร่วมเมืองแต่ในทุกๆเกม ทุกๆชัยชนะ
สถิติ27-3กับโอกาสของสองทีมก็ห่างกันชัดเจน มันย่อมไม่เป็นธรรมใช่ไหมที่ฝ่ายหนึ่งเอาเอาแต่ตั้งรับแน่นแล้วจะได้รับการชูมือ? แน่นอนว่ามันไม่เคยมีบัญญัติไว้ในโลกของฟุตบอล เข้าใจว่าทำไมเอริค เทน ฮากถึงต้องใช้วิธีการนี้ซึ่งก็เหมือนกับในเกมแดงเดือดตอนปลายปี
"ไม่ ผมไม่คิดอย่างนั้น"กุนซือชาวดัตช์ส่ายหัวถึงคำถามว่าทีมของเขาสู้ แมนฯ ซิตี้ ไม่ได้" ด้วยสภาพทีมตัวบาดเจ็บแต่เราก็มีโอกาจะยิงลูกสองได้ด้วย มันแค่ความต่างเล็กน้อยเท่านั้น พวกเรากำลังพวกเขาอยู่ใกล้กันมาก อย่าลืมว่าตอนนี้ซิตี้เป็นสโมสรดีสุดในโลก"
คาแรกเตอร์เด่นของ เทน ฮาก อยู่ตรงความมั่นใจ ในมุมหนึ่งก็ใช่ว่าจะไม่ดีซึ่งก็เหมือนตอนที่เข้ามาเปิดตัวแรกๆแล้วประกาศว่าจะโค่นทั้ง เป๊ป กับ เจอร์เก้น คล็อปป์ ลงให้ได้
หากความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ต่อให้มีทีมที่สมบูรณ์กว่านี้ลงสนามก็เป็นรอง เนื่องจากวิธีการสร้างทีมกับสไตล์ที่สอนนั้นยังไม่ได้
เราสามารถหลับตานึกภาพทุกๆเกมที่ แมนฯ ซิตี้ กับ ลิเวอร์พูล ลงสนามได้ว่าจะนำเสนอรูปเกมแบบไหน
อืมมม สำหรับทีมโลโก้ปีศาจแดง??
ยิ่งเอา ลิเวอร์พูล มาเปรียบเทียบก็ได้ว่าสิ่งที่ คล็อปป์ ต้องแก้ปัญหาในช่วงที่ผ่านมามากแค่ไหนกัน ทว่าก็ยังคงผลักให้ทีมก้าวไปข้างหน้าได้ยอดเยี่ยม คว้าถ้วยมาแล้วหนึ่งใบ ยังได้ลุ้นอีกสามใบเป็นต้น
สำหรับทีมที่มีสถิติจดบันทึกไว้ว่าเจอคู่แข่งหาโอกาสส่องมากกว่า 20 ครั้งสูงถึง 14 เกม แพ้สกอร์หลุดลุ่ยตั้งแต่สามลูกขึ้นไปถึง 7 เกมก็แปลได้ว่าโครงสร้างของทีมยังไม่แข็งแรงพอ
ใช่ ว่าไปการที่กลุ่ม เซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ บอร์ดบริหารชุดใหม่เข้ามาแล้วพยายามเปลี่ยนแปลงทีมหลายอย่าง หนึ่งในนั้นดึงเอา โอมาร์ เบอร์ราด้า อดีตหัวเรือใหญ่ของซิตี้มานั่งตำแหน่งซีอีโอก็ยืนยันถึงแนวทางที่อยากจะลอกเลียนตาม
ไม่ใช่เรื่องน่าอายเลยถ้ามันทำแล้วประสบความสำเร็จ
ถ้าพับพวกคดีความ 115 ข้อหาที่ถึงตรงนี้ก็ยังไม่มีการตัดสินก็ต้องยอมรับถึงความยอดเยี่ยมในทุกด้านของ แมนฯซิตี้ ตั้งแต่นอกจนถึงในสนาม ตั้งแต่แคมปัสศูนย์ฝึกอะคาเดมี่ย์ไปจนถึงพวกซูเปอร์สตาร์ค่าจ้างหลักแสนและตั้งแต่การเริ่มต่อบอลครั้งแรกจากนายทวารไปจนที่ก้นตาข่ายอีกฝั่ง
ฟิล โฟเด้น เป็นความภูมิใจของกองเชียร์เรือใบในฐานะเด็กท้องถิ่นที่เติบโตท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง กลิ่นฟ่อนธนบัตรฟุ้งกระจาย เกมเมื่อวันอาทิตย์ โฟเด้น ได้รับ แมน ออฟ เดอะ แมตช์ กับสองประตู
บนม้านั่งสำรองก็ยังมี ริโก้ ลูอิส และ ออสการ์ บ็อบส์ นอกจากนั้นก็ยังส่งผลผลิตออกไปให้ทีมอื่นยืมใช้งานหลายต่อหลายคน ยกตัวอย่าง เจมส์ แม็คอาที ของ เชฟฯยูไนเต็ด, คัลลั่ม ดอยล์ ของ เลสเตอร์ ไปจนถึง ยาน คูโต้ ของ กิโรน่า ในสเปน
พวกเขายังมีเครือข่ายทีมที่อยู่ในกลุ่ม City Football Group กระจายทั่วโลก ทุกอย่างเป็นวิสัยทัศน์มองการณ์ไกลของบอร์ดบริหารซิตี้
การชนะในเกมฟุตบอล การได้แชมป์ในเกมลูกหนังอาจมาได้ด้วยหลายวิธี ทว่าการสร้างทีมเพื่อหวังผลระยะยาวแล้วมันเป็นเรื่องที่ยากกว่า ยิ่งยากขึ้นไปกับยุคสมัยนี้
เพียงแต่พอทำได้แล้ว ก็เหมือนหว่านเมล็ดพันธุ์ลงแปลง..
"ไก่ป่า"