เมื่อ แมนยู ซื้อตัวผู้บริหารจาก แมนซิตี้

เมื่อ แมนยู ซื้อตัวผู้บริหารจาก แมนซิตี้
สองสามวันก่อนหน้านี้มีข่าวใหญ่ในแวดวงฟุตบอลเมื่อ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ประกาศข่าวแต่งตั้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของสโมสร หรือ CEO ชื่อ โอมาร์ เบร์ราด้า

ข่าวนี้สอดคล้องกับการที่ โอมาร์ เบร์ราด้า ประกาศลาออกจากงานที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ หลังจากทำงานกับทีมจากระดับผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสิทธิประโยชน์ จนก้าวขึ้นมาเป็นฝ่ายผู้อำนวยการบริหารทีมทั้งในและนอกสนามหรือ COO นานถึง 12 ปี 

อยู่ในช่วงความสำเร็จทั้งถ้วยรางวัลมากมายกับเรือใบสีฟ้า และ จัดการเรื่องการเงินให้ทีมอย่างมั่นคง ระหว่างปี 2011-2023 

เบร์ราด้า อยู่นานกว่า เป๊ป ซะอีก และเป็นคนหลังบ้านที่น่าสนใจอย่างยิ่ง...

ขอสรุปคร่าวๆ หลังจากผมเล่าเรื่องราวของเขาอย่างละเอียดในช่อง ยูทูป JK jackie ไปแล้วว่า...

โอมาร์ เบร์ราด้า คือใคร และมีความเก่งอย่างไร

ลองดูไทม์ไลน์ชีวิตและงานของเขาคร่าวๆนะครับ

เบร์ราด้า สายเลือดโมรอกโกเข้มข้น เกิดที่ฝรั่งเศส ไปโตเรียนหนังสือที่สหรัฐอเมริกา แต่ลาออกจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย แมสซาชูเสตต์ แค่ 6 เดือน เพราะรู้สึกว่าไม่ถนัดจึงโยกย้ายมายังบาร์เซโลน่าเพื่อเรียนบริหารธุรกิจกับ  EU Business School จากนั้นจึงเริ่มงานกับบริษัท โทรคมนาคม ทิสกาลี ที่เป็นผู้สนับสนุนบาร์เซโลนา ในตำแหน่งฝ่ายการค้าสัมพันธ์และสปอนเซอร์ชิพ จนไปเข้าตาทีมบริหารบาร์ซ่าที่มี โจน ลาปอร์ต้า เป็นประธาน และรองประธานชื่อ เฟร์รัน ซอเรียโน (ปัจจุบันคือ ซีอีโอของแมนฯ ซิตี้)

ก่อนซื้อตัวเขามาจาก ทิสคาลี เพื่อให้ทำงานกับบาร์เซโลน่าเท่านั้น...

บาร์เซโลน่า 2004 -2011

  • ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและผู้สนับสนุนทีม บาร์เซโลน่า

แมนฯ ซิตี้ 

  • 2011-2016 ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจต่างประเทศ และ ฝ่ายการตลาด
  • 2016-2020 ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ (COO)
  • 2020-2023 ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ ของCity Football Group (CFG)

แมนฯ ยูไนเต็ด

  • 2024 ...ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) เริ่มงาน 1 มิ.ย.

ความเก่งของ เบร์ราด้า

ทำงานในส่วนของการเงิน, การตลาด มุมผู้สนับสนุนทีม กับบาร์ซ่าก่อน จากนั้นขยับขยายย้ายมาทำงานกับ แมนฯซิตี้  ซึ่งเลื่อนขั้นจากผู้อำนวยการเป็นประธานฝ่ายบริหารองค์กรของ  City Football Group หรือ  CFG ที่ดูแลทีมพันธมิตรทั่วโลก ตั้งแต่ เมเจอร์ลีก, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, บราซิล , สเปน (จิโรนา) ....12 ทีมด้วยกัน

ก่อนหมดสัญญาปี 2011 จึงถูกแมนฯ ซิตี้ ดึงมาทำงานด้วยนั่นเอง

จากนั้นเริ่มเติบโตในส่วนฟุตบอลเมื่อปี 2016 จากการมาของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ให้ แมนฯ ซิตี้ เน้นรายละเอียดเรื่องของโครงสร้างการเงินส่วนฟุตบอล ซื้อขายย้ายทีม โครงสร้างค่าจ้างนักเตะทั้งทีม เป็นหลังบ้านให้ เป๊ป โดยประสานงานกับ ไอตอร์ เบกิริสไตน์ ผู้อำนวยการฟุตบอลของเรือใบสีฟ้า ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา

น่าแปลกใจอย่างยิ่งช่วงที่ทำงานให้บาร์ซ่า คาบเกี่ยวกับช่วงที่ เป๊ป และ เบกิริสไตน์ ทำงานที่นั่น แต่ปรากฏว่า โอมาร์ เบร์ราด้า ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัวหรือทำงานร่วมกันเลย 

จนกระทั่งมาเจอกันที่แมนฯ ซิตี้ 

แฟนผีคงมึนๆว่าทำไมเดือนมกราคม ไม่ซื้อนักเตะเสริมทีมหรือปล่อยออกไปเพื่อให้งบการเงินลงล็อค กลับมาดึงตัวผู้บริหารมือทองจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ คู่แข่งมาร่วมทีม..

มองแบบกว้างๆ เชิงลึก นี่คือการซื้อตัวผู้บริหารและเป็นการเตรียมงานสู่อนาคต ซึ่งเริ่มต้นใหม่กันอีกครั้งช่วงมิ.ย.นี้

ปรับโครงสร้างการเงินส่วนทีมฟุตบอล ซื้อขายย้ายทีมและค่าจ้างที่เละเทะสะเปะสะปะจากยุค เอ็ด วูดเวิร์ด, ริชาร์ด อาร์โนลด์ (แพทริค สจวร์ต รักษาการ) ที่ลาออกไปเมื่อพ.ย. 

การซื้อตัวผู้บริหารแมนฯ ซิตี้ เป็นการเริ่มต้นงานของ เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์ หุ้น 25% ที่เข้ามาพัฒนางานส่วนฟุตบอลให้กับผีแดง

เซอร์ จิม น่าจะวิเคราะห์ปัญหาในภาพรวม ก่อนเดินงานตั้งแต่ระดับบน ในแบบที่ว่า ต้องเริ่มที่หัวก่อน....หางจึงส่าย

ดังนั้นช่วงเวลาที่เหลือ...จาก ม.ค. ถึง พ.ค. ไม่ได้ไปจอย แต่ประคองตัวให้ออกมาดีที่สุดพร้อมกับเช็คผลงาน เอริก เทน ฮาก และนักเตะที่พร้อมจะไปต่อในเวอร์ชั่นใหม่ของแมนยู

โดยมีเป้าหมายสำคัญๆคือ ล้างไพ่ มาเล่นกันใหม่ดีกว่า

ไพ่ชุดนี้ไม่ไหวแล้ว

JACKIE


ที่มาของภาพ : gettyimages
BY : JACKIE
อดิสรณ์ พึ่งยา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport