เชลซี ตกเป็นข่าวสุ่มเสี่ยงต่อการถูกลงโทษตัดหลายคะแนนได้เลยทีเดียว หลังจากที่มีเอกสารข้อมูลหลุดออกมาฟ้องว่าแอบจ่ายเงินแบบผิดกฎอย่างต่อเนื่องมูลค่าหลายสิบล้านปอนด์ในช่วงหนึ่งทศวรรษระหว่างที่ โรมัน อบราโมวิช นั่งแท่นเป็นเจ้าของสโมสร (2003-2022)
"สิงโตน้ำเงินคราม" ถูกขายต่อให้กับกลุ่มทุนที่นำโดย ท็อดด์ โบห์ลี่ นักธุรกิจชาวอเมริกัน เมื่อปีที่แล้วในราคา 4.2 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 184,800 ล้านบาท) หลังจากรัฐบาลอังกฤษอายัดทรัพย์ "เสี่ยหมี" ในเดือนมีนาคม 2022 สืบเนื่องจากกรณีรัสเซียกรีธาทัพรุกรานยูเครน อย่างไรก็ดี การสืบสวนมุ่งเน้นไปยังการบริหารจัดการภายใต้ความเป็นเจ้าของโดยมหาเศรษฐีชาวเมืองหมีขาวเป็นสำคัญ
เดอะ การ์เดี้ยน (The Guardian) สื่อดังเมืองผู้ดี รายงานว่าการติดต่อทางธุรกิจที่เป็นปัญหา "มีเส้นทางผ่านเครื่องมือนอกประเทศที่เป็นของ อบราโมวิช" และดูเหมือนจะเป็นการกระทำเพื่อดลบันดาลผลประโยชน์ให้กับ เชลซี หรือบุคคลมากหน้าหลายตาที่อยู่รายล้อมสโมสร
ผู้ได้รับประโยชน์รวมไปถึงบุคคลที่เชื่อมโยงกับ อันโตนิโอ คอนเต้ ที่เคยคุมทีมระหว่างปี 2016-2018, เอเยนต์ของ เอเดน อาซาร์ อดีตเพลย์เมกเกอร์ทีมชาติเบลเยียมที่เคยมาค้าแข้งด้วยระหว่างปี 2012-2019 และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ อีกหลายคนของ เชลซี
พร้อมกันนั้น ยังมีการจ่ายเงินครั้งอื่นๆ ที่ส่อเค้าว่ามีความเชื่อมโยงกับการซื้อตัวนักฟุตบอล อาทิ วิลเลี่ยน ปีกชาวบราซิล (ปัจจุบันค้าแข้งกับ ฟูแล่ม) และ ซามูเอล เอโต้ อดีตกองหน้าทีมชาติแคเมอรูน (ปัจจุบันนั่งแท่นเป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลแคเมอรูน) ซึ่งมีการเปิดเผยในเบื้องต้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
พรีเมียร์ลีก และสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) กำลังสอบสวนสถานะทางการเงินของ เชลซี ในขณะที่สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) สั่งปรับสโมสรไปแล้ว 8.6 ล้านปอนด์ (ประมาณ 378.4 ล้านบาท) หลังจากเจ้าของทีมปัจจุบันรายงานว่ามีการส่งต่อ "ข้อมูลทางการเงินที่ไม่สมบูรณ์" ในช่วงที่ อบราโมวิช กุมบังเหียนอยู่
อย่างไรก็ตาม เอกสารที่หลุดออกมาครั้งใหม่กลายเป็นข้อสงสัยครั้งล่าสุดที่ว่า อบราโมวิช แอบละเมิดกฎการเงิน "ไฟแนนเชี่ยล แฟร์ เพลย์ (เอฟเอฟพี) อย่างต่อเนื่องหรือไม่
กรณีแรก ซึ่งถูกเปิดเผยในฐานะส่วนหนึ่งของการสอบสวนระหว่างประเทศที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ข้อมูลลับไซปรัส (Cyprus Confidential) แสดงไว้ ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2017 ว่า โคนิแบร์ โฮลดิ้งส์ (Conibair Holdings) บริษัทของ อบราโมวิช ลงนามข้อตกลงร่วมกับ เฟเดริโก้ ปาสโตเรลโล่ เอเยนต์ฟุตบอลชาวอิตาลี ที่มีรายงานว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ คอนเต้
.เดอะ การ์เดี้ยน เอ่ยอ้างว่า โคนิแบร์ ตกลงที่จะจ่ายเงินให้ ปาสโตเรลโล่ เป็นจำนวน 10 ล้านปอนด์ (ประมาณ 440 ล้านบาท) สำหรับหุ้น 75 เปอร์เซ็นต์ในกองทุน เอ็กเซลเลนซ์ อินเวสต์เมนต์ ฟันด์ (Excellence Investment Fund) หรือ อีไอเอฟ (EIF)
วันต่อมา (หลังจากวันดังกล่าว) เชลซี ยืนยันการแต่งตั้ง คอนเต้ เข้ามาเป็นหัวหน้าโค้ช พร้อมเปิดเผยว่ากุนซือชาวเมืองมะกะโรนีเซ็นสัญญาฉบับใหม่มูลค่าปีละ 9.6 ล้านปอนด์ (ประมาณ 422.4 ล้านบาท) ด้วยกัน
มีการเปิดเผยอีกกรณีหนึ่งในฐานะการสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายสังกัดของ อาซาร์ มูลค่า 35 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,540 ล้านบาท) จาก ลีลล์ มายัง เชลซี ย้อนหลังกลับไปในปี 2012 ซึ่งมีการเจรจาที่ตึงเครียดระหว่างทีมงาน "สิงห์บลูส์" กับ จอห์น บิโก้- เปนาก เอเยนต์ ที่ตกเป็นข่าวเรียกร้องค่านายหน้า 6 ล้านปอนด์ (ประมาณ 264 ล้านบาท) อยู่เบื้องหลัง
ถัดมาในเดือนมีนาคม 2013 มีเอกสารหลายฉบับระบุว่า ไลสตัน โฮลดิ้งส์ (Leiston Holdings) บริษัทที่ตั้งอยู่บนหมู่เกาะบริติชเวอร์จิ้น ดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร - กิจการของ อบราโมวิช เช่นกัน - ตกลงจ่ายเงิน 6 ล้านปอนด์ (ประมาณ 264 ล้านบาท) ให้กับ กัลฟ์ แวลู เอฟซีอี (Gulf Value FZE) บริษัทในนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สำหรับ "ค่าบริการให้คำปรึกษา […] ที่เกี่ยวข้องกับ […] การวิจัยและการให้คำแนะนำด้านกีฬา"
มีการอ้างว่าสัญญาดังกล่าวลงนามโดยบริษัทดังกล่าวในฐานะตัวแทนของ บิโก้-เปนาก และยังคงไม่ชัดเจนว่าการจ่ายเงินครั้งนั้นมีการแจ้งให้องค์กรฟุตบอลรับทราบแล้วหรือไม่อย่างไรกันแน่
เดอะ การ์เดี้ยน เผยต่อไปว่าทนายความชั้นนำในวงการกีฬาชี้ว่าการจ่ายเงินบางกรณี "อาจเข้าข่ายละเมิดกฎหลายข้อ รวมทั้งข้อบังคับของ พรีเมียร์ลีก และ ยูฟ่า ที่เกี่ยวข้องกับกฎการเงิน (ไฟแนนเชี่ยล แฟร์ เพลย์)"
คีแรน แม็กไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินฟุตบอล กล่าวว่า "ถ้ามีข้อพิสูจน์ว่าสโมสรใช้บุคคลที่สามในการทำธุรกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงกฏการทำกำไรและความยั่งยืน บทลงโทษอาจเป็นได้ทั้งทางการเงิน (ปรับ) หรือการตัดคะแนนได้เลยทีเดียว"
"กรณีหลังมีแนวโน้มมากกว่า เนื่องจากคณะกรรมการชุดใดๆ ก็ตามที่กำลังสอบสวนสถานการณ์ของสโมสร ย่อมจะต้องการการยับยั้งห้ามปรามไม่ให้สโมสรอื่นๆ กระทำพฤติกรรมในทำนองเดียวกันซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก"
เมื่อเดือนที่แล้วมีการเปิดเผยว่า พรีเมียร์ลีก กำลังสอบสวนการบริหารจัดการเรื่องการโยกย้ายนักเตะของ เชลซี ในยุคของ อบราโมวิช เพื่อสอดส่องกรณีการจ่ายเงินแบบลับๆ ของสโมสร เมื่อตอนที่เซ็นสัญญากับ วิลเลี่ยน และ เอโต้ โดยทั้งคู่ย้ายมาจาก อันจิ มาคัชคาล่า ทีมดังรัสเซีย ในเดือนสิงหาคม 2013 และกำลังถูกสอบสวนเพิ่มเติม ตามรายงานข่าวจาก เดอะ ไทม์ส (The Times) สื่อยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม เชลซี ออกแถลงการณ์ตอบโต้ข่าวดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยอธิบายว่าการจ่ายเงินเหล่านั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคลากรปัจจุบันภายในสโมสรแต่อย่างใดทั้งสิ้น