นักวิชาการสื่อยก"ซาลาห์"นักกีฬาตัวอย่าง จุดยืนสร้างสรรค์กรณีสงครามทั้งที่กดดันสุดๆ

นักวิชาการสื่อยก"ซาลาห์"นักกีฬาตัวอย่าง จุดยืนสร้างสรรค์กรณีสงครามทั้งที่กดดันสุดๆ
การแสดงออกต่อกรณีสงครามฉนวนกาซาของ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ ควรจะเป็นการกำหนดทิศทาง สำหรับความเคลื่อนไหวในวงการกีฬาให้ก้าวไปข้างหน้า ตามความคิดเห็นของอดีตประชาสัมพันธ์, สื่อมวลชน และนักวิชาการด้านกีฬา

ดาวเตะ ลิเวอร์พูล และทีมชาติอียิปต์ออกโรงเรียกร้องให้ "เหล่าบรรดาผู้นำโลกร่วมแรงร่วมใจกันป้องกันการสังหารวิญญาณบริสุทธิ์" ภายหลังเกิดเหตุระเบิดโรงพยาบาลในกาซา ซิตี้ ครั้งร้ายแรงเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผ่านทาง อินสตาแกรม (ไอจี) ส่วนตัวที่มีผู้ติดตามมากกว่า 63 ล้านคน และเอ็กซ์หรือ ทวิตเตอร์เดิมของตนเองที่มี 18.7 ล้านฟอลโลเวอร์

ปีกตัวฉกาจวัย 31 ปี เป็นหนึ่งในนักกีฬาที่มีชื่อเสียงหลายคนที่อาศัยเครือข่ายสังคมออนไลน์ในการแสดงความคิดเห็นต่อกรณีความขัดแย้งที่ลุกลามบานปลายระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ซึ่งถูกจัดว่าเป็นองค์กรก่อการร้ายโดยทั้งรัฐบาลสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10,000 คน นับตั้งแต่ฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลแบบสายฟ้าแลบเมื่อวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา

เอียน เบย์ลี่ย์ อาจารย์อาวุโสด้านสื่อกีฬา ณ มหาวิทยาลัยสแตฟฟอร์ดเชอร์ ประเทศอังกฤษ กล่าวผ่านสำนักข่าว บีบีซี สปอร์ต แอฟริกา (BBC Sport Africa) ว่า "ซาลาห์ เป็นตัวอย่างของบุคคล ซึ่งตกอยู่ภายใต้ความกดดันอย่างรุนแรงในการเลือกข้าง เพราะสัญชาติของเขา แต่เขาเลือกที่จะถอยออกมาแล้วพูดว่า - จุดยืนของผมก็คือสันติภาพ และการยุติความทุกข์ทรมาน -"

เบย์ลี่ย์ ชี้ว่าแถลงการณ์ของ ซาลาห์ "ไม่เพียงพอสำหรับบางคน" ซึ่งรู้สึกว่านักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งทวีปแอฟริกาสองสมัยควรเลือกใช้อิทธิพลอันล้นเหลือของตัวเองเพื่อแสดง "จุดยืนทางการเมืองให้มากกว่านี้" 

"เมื่อเขาส่งข้อความหนึ่งออกมาในที่สุด เขาย่อมได้รับการยกย่องจากหลายๆ คนสำหรับน้ำเสียง

เชิงมนุษยธรรม แต่ยังไม่วายต้องมาถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนอื่นๆ ที่คิดว่าจุดยืนของเขาควรสนับสนุนอาหรับ และปาเลสไตน์มากกว่า แต่เขาไม่สามารถทำอย่างนั้นได้เพราะเขาย่อมต้องมีนโยบายโซเชียลมีเดียที่สอดคล้องกับสโมสรของเขา"

ด้วยเหตุที่ว่าบ้านเกิดของ ซาลาห์ ซึ่งอยู่ที่เมืองนากริก ประเทศอียิปต์ ห่างจากกาซาไม่ถึง 350 กิโลเมตร เขาจึงเรียกร้องความยับยั้งชั่งใจเพื่อปกป้องชีวิตของชาวปาเลสไตน์

"โซเชียลมีเดียเป็นตัวเปลี่ยนแปรพลวัตที่ยิ่งใหญ่ ถ้าหากความขัดแย้งครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มันก็ยุติธรรมดีที่จะพูดว่านักฟุตบอลทั้งหลายจะไม่ตกอยู่ภายใต้ความกดดันที่เป็นผลกระทบโดยตรงจากสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาบนโซเชียลมีเดีย"

"มันเป็นสถานการณ์ที่เป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งมีทางเลือกสองทางที่ยากลำบากแบบสุดคลาสสิก สำหรับนักฟุตบอลคนไหนก็ตามในสถานการณ์เช่นที่เรามีอยู่ในตอนนี้ ซึ่งเกือบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยด้วยซ้ำไป"

"เราต้องคำนึงถึงพลังของกีฬาและนักกีฬาที่มีชื่อเสียง ซึ่งทรงอิทธิพลอยู่เสมอ ถ้าพวกเขาต้องการจะพูดอะไรบางอย่าง มันก็ขึ้นอยู่กับว่านักฟุตบอลคนนั้นๆ จะปรึกษาหารือกับสโมสรของพวกเขา และทำให้แน่ใจได้ว่าพวกเขามีความชัดเจนในสิ่งที่พวกเขาพูดได้และพูดไม่ได้" อดีตผู้สื่อข่าวซึ่งสนใจความสัมพันธ์ระหว่างกีฬาและสื่ออย่างลึกซึ้งกล่าวในที่สุด


ที่มาของภาพ : Getty
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport