Panic Buy คือการซื้อหรือการเสริมทัพด้วยความตื่นตระหนก หรือการเสริมทัพด้วยความรีบร้อน รีบตัดสินใจ แบบว่าขอให้ได้ไว้ก่อน กลัวทีมอื่นจะแย่ง ซึ่งการเสริมทีมแบบนี้มีให้เห็นเรื่อยๆ แทบทุกตลาด และนี่คือ 9 ตัวอย่าง Panic Buy ที่ล้มเหลวสุดๆ ในประวัติศาสตร์ พรีเมียร์ลีก (อ้างอิงจาก dailystar.co.uk)
- คิม คัลล์สตรอม (อาร์เซน่อล)
"ไอ้ปืนใหญ่" มีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะเอา คัลล์สตรอม มาร่วมทีม และก็ทำได้สำเร็จในวันปิดตลาดช่วงหน้าหนาวปี 2007 โดยเป็นดีลยืมตัวมาจาก สปาร์ตัก มอสโก อย่างไรก็ตาม กลับกลายเป็นดีลฝันร้ายต่อทั้งสองฝ่าย เนื่องจาก คัลล์สตรอม เจอปัญหาบาดเจ็บเล่นงาน และต้องรอจนถึงช่วงปลายเดือนมีนาคม กว่าจะลงสนามนัดแรกในสีเสื้อ อาร์เซน่อล ซึ่งสรุปแล้วเจ้าตัวลงเล่นให้ "เดอะ กันเนอร์ส" แค่ 4 นัดเท่านั้น ก่อนถูกส่งตัวกลับยักษ์ใหญ่แดนหมีขาว
- บอสโก้ บาลาบัน (แอสตัน วิลล่า)
ถือเป็นดีลหายนะสำหรับ "สิงห์ผงาด" อย่างแท้จริง โดยช่วงซัมเมอร์ปี 2001 วิลล่า ลงทุนซื้อ บาลาบัน ซึ่งเป็นหัวหอกระดับทีมชาติโครเอเชีย มาจาก ดินาโม ซาเกร็บ ด้วยค่าตัว 5.8 ล้านปอนด์ (เกือบเป็นสถิติใหม่ของสโมสร ณ เวลานั้น) แต่สุดท้าย บาลาบัน กลับทำประตูไม่ได้เลยแม้แต่ลูกเดียว ตลอดระยะเวลา 2 ฤดูกาลที่อยู่กับสโมสร ก่อนถูกปล่อยตัวให้ คลับ บรูช ในปี 2003
- จอร์ดอน ไอบ์ (บอร์นมัธ)
ช่วงซัมเมอร์ปี 2016 "เดอะ เชอร์รี่ส์" ทุ่มเงินซื้อ ไอบ์ ซึ่งถือเป็นปีกดาวรุ่งพุ่งแรง ณ เวลานั้นจาก ลิเวอร์พูล ด้วยค่าตัวเป็นสถิติสโมสรถึง 15 ล้านปอนด์ ซึ่งความจริงคือพวกเขาไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้น และสุดท้าย ไอบ์ ผลงานไม่เปรี้ยงอย่างที่หวัง ก่อนย้ายออกไปแบบฟรีๆ เมื่อหมดสัญญาในช่วงหน้าร้อนปี 2020
- เยอร์เก้น โลคาเดีย (ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบี้ยน)
ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไบรท์ตัน มักจะประสบความสำเร็จในการลุยตลาด แต่ไม่ใช่กับตลาดช่วงเดือนมกราคมปี 2018 ที่พวกเขาตัดสินใจซื้อ โลคาเดีย มาจาก พีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น ด้วยค่าตัวเป็นสถิติสโมสร 14 ล้านปอนด์ และสิ่งที่ได้มาคือ 3 ประตู จากการลงเล่นเกม พรีเมียร์ลีก 35 นัด พร้อมกับการปล่อยตัวให้สโมสรอื่นยืมสองหน (ฮอฟเฟ่นไฮม์ กับ เอฟซี ซินซินเนติ) ก่อนปล่อยตัวออกไปแบบฟรีๆ ในช่วงซัมเมอร์ปี 2021
- แดนนี่ ดริงค์วอเตอร์ (เชลซี)
ช่วงซัมเมอร์ปี 2017 เชลซี บ้าเลือดซื้อ ดริงค์วอเตอร์ มาจาก เลสเตอร์ ซิตี้ ด้วยค่าตัวสูงถึง 35 ล้านปอนด์ ทว่าสุดท้าย ดริงค์วอเตอร์ ไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นตัวหลักในถิ่น สแตมฟอร์ด บริดจ์ ได้ แถมเจอปัญหาบาดเจ็บรุมเร้า ซึ่งสรุปแล้ว 5 ปีที่อยู่กับ เชลซี เจ้าตัวได้ลงเล่นให้ทีมแค่ 23 นัดเท่านั้น (ระหว่างนั้นมีถูกปล่อยตัวให้ เบิร์นลีย์ และ แอสตัน วิลล่า ยืมใช้งาน) ก่อนโบกมืออำลาสโมสรไปแบบฟรีๆ ในช่วงซัมเมอร์ปี 2022 ซึ่งว่ากันว่า นี่คืออีกหนึ่งดีล Panic Buy ที่ล้มเหลวสุดในประวัติศาสตร์ พรีเมียร์ลีก
- คอนสแตนตินอส มิโตรกลู (ฟูแล่ม)
"เจ้าสัวน้อย" สร้างสถิติใหม่สโมสร ด้วยการลงทุนซื้อ มิโตรกลู มาจาก โอลิมเปียกอส ด้วยค่าตัว 14 ล้านปอนด์ ในวันปิดตลาดช่วงเดือนมกราคมปี 2014 ด้วยความหวังที่จะได้พลังสังหารของหัวหอกทีมชาติกรีซ มาช่วยทีมหนีตกชั้น ทว่าบทสรุปคือ มิโตรกลู ได้ลงเล่นแค่ 3 นัดเท่านั้น ทำประตูไม่ได้เลย และสุดท้าย ฟูแล่ม ตกชั้นจากเวที พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาลดังกล่าว (2013-14) ส่วน มิโตรกลู ถูกขายขาดให้ เบนฟิก้า ช่วงซัมเมอร์ปี 2016
- แอนดี้ แคร์โรลล์ (ลิเวอร์พูล)
Panic Buy อย่างแท้จริง เพราะตอนนั้นในช่วงตลาดเดือนมกราคมปี 2011 ลิเวอร์พูล จำเป็นต้องหาตัวตายตัวแทนของ เฟร์นานโด ตอร์เรส ที่ถูกขายไปให้ เชลซี โดยด่วน และในวันปิดตลาด พวกเขาตัดสินใจทุ่มเงิน 35 ล้านปอนด์ ซื้อ แคร์โรลล์ ที่ตอนนั้นฮอตมากๆ มาจาก นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด พร้อมยกเสื้อเบอร์ 9 ให้สานต่อทันที แต่ผลงานกลับสวนทางกับความคาดหวัง เนื่องจาก แคร์โรลล์ ทำได้แค่ 6 ประตูเท่านั้น จากการลงเล่นเกมลีกให้ ลิเวอร์พูล 44 นัด แถมเจ็บบ่อย ก่อนถูกปล่อยตัวให้ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ยืมในช่วงซัมเมอร์ปี 2012 จากนั้น "ขุนค้อน" ก็ซื้อขาดในช่วงหน้าร้อนปีต่อมา โชคดีที่อีกหนึ่งดีล ซึ่งย้ายมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับ แคร์โรลล์ อย่าง หลุยส์ ซัวเรซ (จาก อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม) ผลงานปังกับ ลิเวอร์พูล
- คริสเตียโน่ โรนัลโด้ (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด)
ด้วยสถานการณ์หลายๆ อย่างที่บีบ โดยเฉพาะการที่มีสโมสรคู่ปรับร่วมเมืองอย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เข้ามาแจม ทำให้ช่วงซัมเมอร์ปี 2021 "ปีศาจแดง" จำใจต้องดึง โรนัลโด้ กลับสู่ถิ่น โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด (จาก ยูเวนตุส) ซึ่งถือเป็น Panic Buy ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็เป็นดีลที่ชนะใจเหล่าสาวก "ปีศาจแดง" อย่างมาก ซึ่ง โรนัลโด้ ก็ทำผลงานได้ดีในซีซั่นแรก (2021-22) ด้วยการกระทุ้ง 24 ประตู จากการลงเล่นรวมทุกรายการ 38 นัด ทว่าฤดูกาลต่อมา ที่กุนซือ เอริค เทน ฮาก เข้ามาคุมทัพ แมนฯ ยูไนเต็ด ดูเหมือนไปกับ โรนัลโด้ ไม่ค่อยได้ และสุดท้ายซูเปอร์สตาร์ชาวโปรตุกีสกลายเป็นตัวถ่วงของสโมสรในสายตาของใครหลายๆ คน จนต้องแยกทางกันไป (ยกเลิกสัญญา) ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
- ฟาบิโอ ซิลวา (วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส)
ช่วงซัมเมอร์ปี 2020 วูล์ฟแฮมป์ตัน ฟาดเงินก้อนโตเป็นสถิติสโมสร 35 ล้านปอนด์ กระชากตัว หัวหอกดาวรุ่งชาวโปรตุเกส ที่ยังไม่ค่อยมีผลงานอะไร มาจาก ปอร์โต้ และก็เป็นไปตามคาด เพราะจนถึงตอนนี้ ซิลวา ยังแจ้งเกิดกับทัพ "หมาป่า" ไม่ได้ เพิ่งทำได้แค่ 5 ประตูเท่านั้น จากการลงเล่นรวมทุกรายการ 72 นัด โดยฤดูกาลก่อนถูกปล่อยตัวให้ อันเดอร์เลชท์ และ พีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น ยืมใช้งาน
Subinho