หนึ่งในฉากที่ผมประทับใจมากของภาพยนตร์เรื่อง Draft day คือตอนที่ ซอนนี่ วีเวอร์ จูเนียร์ ผู้จัดการทั่วไปของ คลีฟแลนด์ บราวน์ส (แสดงโดย เควิน คอสเนอร์) บอกกับ ทอม ไมเคิลส์ ผู้อำนวยการทั่วไปของ ซีแอตเทิล ซีฮอว์คส์ ว่า
"เราไม่ได้อยู่ในโลกเดียวกับเมื่อสามสิบวินาทีที่แล้วนะ"
We live in a different world then we did just 30 seconds ago.
เป็นการย้อนเกล็ดคำพูดลักษณะเดียวกัน (ผมเปลี่ยนใจแล้ว.. เราไม่ได้อยู่ในโลกเดียวกับเมื่อสองชั่วโมงที่แล้วนะ) ที่เขาถูก ไมเคิลส์ พูดใส่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า ตอนที่ต้องจ่ายแพงถึงสิทธิ์ดราฟต์รอบแรกสามปีซ้อนแทนที่จะเป็นสิทธิ์ดราฟต์รอบแรก 2 ปีแรกและสิทธิ์ดราฟต์รอบสามในปีที่สามเพื่อแลกกับสิทธิ์ดราฟต์อันดับหนึ่งในการดราฟต์ช่วงค่ำที่กำลังจะมาถึง
เพียงเพราะแค่ให้คำตอบช้าไปไม่กี่ชั่วโมง ราคาที่ต้องจ่ายจึงแพงขึ้น
เวลาเปลี่ยน.. สถานการณ์เปลี่ยน
แต่เมื่อช่วงเวลาเอาคืนมาถึงบ้าง วีเวอร์ก็เรียกเอาสิทธิ์ดราฟต์รอบแรก 3 ปีซ้อนที่เสียให้ซีฮอว์คส์ไปกลับคืนมาทั้งหมดแถมยังขูดเอาผู้เล่นทีมพิเศษของเหยี่ยวทะเลติดมาด้วยอีกหนึ่งคน
เพียงเพราะวีเวอร์ได้กลิ่นความได้เปรียบบนโต๊ะเจรจา แค่การประวิงเวลาไม่กี่วินาทีของไมเคิลส์ มันกลายเป็นโอกาสเรียกเงื่อนไขที่ดีขึ้น
เวลาเปลี่ยน.. สถานการณ์ก็เปลี่ยน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราเข้าใจระบบการดราฟต์ตัวผู้เล่นของศึกอเมริกันฟุตบอลเอ็นเอฟแอลและกีฬาอเมริกันเกมส์ทั้งหลายมากขึ้น แต่ที่สำคัญคือเราจะได้สนุกไปกับไหวพริบ การเจรจาต่อรองเพื่อประโยชน์สูงสุดของทีม การตัดสินใจภายใต้แรงบีบคั้นเรื่องเวลา ความเข้าใจถ่องแท้ในเวทีที่ตัวเองยืนอยู่ และการทำงานของมืออาชีพ
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของจังหวะเวลา มันส่งผลโดยตรงต่อสถานการณ์และอำนาจต่อรองในการเจรจาธุรกิจ
นาทีนี้คุณมีเสียงดังกว่า แต่นาทีหน้ามันอาจไม่ใช่อย่างนั้นอีกแล้ว
ตลาดซื้อขายนักฟุตบอลก็เช่นกัน จังหวะเวลาเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อวันเปิดฤดูกาลคืบคลานเข้ามา อำนาจต่อรองบนโต๊ะเจรจาก็อาจจะเป็นคนละอย่างกับก่อนหน้านี้
หนึ่งสัปดาห์ที่แล้วเรายังมีอำนาจต่อรองเหนือเขา แต่มาวันนี้เราอาจตกเป็นรองเขา นี่คือเรื่องธรรมดา เพราะเมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์ย่อมเปลี่ยนแปลง
กรณีของ ลิเวอร์พูล - เซาธ์แฮมป์ตัน - โรเมโอ ลาเวีย และล่าสุด มอยเซส ไกเซโด นั้นก็เป็นอย่างที่ว่า
ย้อนกลับไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหรือเดือนที่แล้ว ลิเวอร์พูลไม่ได้อยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ กระทั่งย้อนกลับไปเมื่อวานนี้นี่เองกับวันนี้ มันก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เซาธ์แฮมป์ตันอาจจะพอใจหรือไม่พอใจก็ได้ที่ใจแข็งปฏิเสธข้อเสนอ 46 ล้านปอนด์จากลิเวอร์พูล ผมคาดว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาคงสบายใจขึ้นมากกว่าที่ไม่ต้องเสียลาเวียไปในฤดูกาลที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะเลื่อนชั้นกลับคืนสู่พรีเมียร์ลีก
แต่เงิน 40-45 ล้านปอนด์ในเงื่อนไขซื้อกลับของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็ขึ้นอยู่กับผลงานของกองกลางวัย 19 ปีในซีซั่นนี้ด้วย มันไม่ใช่เงินที่เป็นของตาย หากล่องลอยอยู่ในอนาคต ต้องลุ้นกันอีกที
บางทีเงินแค่ 4 ล้านปอนด์ที่แฟนบอลลิเวอร์พูลมองว่าฝ่ายบริหารของสโมสรงกจนน่ารำคาญ เขาเรียก 50 เสนอให้ 46 ดูแล้วจั๊กจี้สมควรแล้วที่ถูกปิดประตูใส่หน้า อาจจะเป็นเงินแค่ 4 ล้านปอนด์ที่ทีมนักบุญต้องมาขบคิดก็ได้ว่าทำไมไม่ยอมปล่อยไปในเมื่อราคาตลาดของลาเวียอยู่ที่ราวๆ 30 ล้านปอนด์เท่านั้น
เข้าใจในมุมของเซาธ์แฮมป์ตันว่าพวกเขาเองก็ต้องการบรรลุเป้าหมายของสโมสรเช่นกัน ย่อมไม่มีทีมไหนอยากเสียนักเตะสำคัญของตัวเองไปในช่วงที่ฤดูกาลเปิดฉากแล้วหรอก เสียไปก็ต้องมองหานักเตะคนใหม่อีก
การโก่งค่าตัวให้สูงกว่าราคาตลาดเป็นเรื่องธรรมดา เป็นนักเตะสำคัญ ฤดูกาลเริ่มแล้ว และฝ่ายซื้อกำลังต้องการนักเตะในตำแหน่งนี้
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ยืนยันกับเราอีกครั้งถึงแนวทางการซื้อนักเตะของลิเวอร์พูล
มันก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ยุค ไมเคิ่ล เอ๊ดเวิร์ดส์ เป็นผู้อำนวยการกีฬา คือไม่ยินดีที่จะเป็นรองใครบนโต๊ะเจรจา ประสบการณ์สูง ข้อมูลมาก และเขี้ยวลากดิน ยิ่งเวลานี้ ยอร์ก ชมัดท์เค่อ ผู้อำนวยการกีฬาคนปัจจุบันมีโจทย์สำคัญต้องทำผลงานส่วนตัวให้เข้าตาด้วยเพื่อโอกาสต่อสัญญาที่เซ็นกันไว้ 3 เดือนออกไปเราจึงได้เห็นความเขี้ยวทุกกระเบียด
กับค่าตัวของลาเวียที่แฟนบอลมองว่า เกี่ยงกันกะอีแค่ 4 ล้านปอนด์ เนี่ยนะ บางทีมันก็ขึ้นอยู่กับยอดเงินที่เป็นโจทย์ตั้งต้น
การขอซื้อ 8 ล้านแต่ถูกตั้งราคา 12 ล้าน กับการขอซื้อ 90 ล้านแต่ถูกตั้งราคา 94 ล้านมีผลต่าง 4 ล้านเท่ากันแต่มูลค่าของมันไม่เท่ากัน เพราะ 4 ล้านแรกมีมูลค่า 50 เปอร์เซนต์หรือครึ่งหนึ่งจากข้อเสนอ แต่ 4 ล้านหลังมีมูลค่าแค่ 4.44 เปอร์เซนต์เท่านั้นจากข้อเสนอ
ส่วนต่าง 4 ล้านระหว่างข้อเสนอ 46 ล้านกับค่าตัวที่ตั้งไว้ 50 ล้านคือ 8.7 เปอร์เซนต์ ในแง่ความรู้สึกแฟนบอลคือจ่ายๆ ไปเถอะ แต่ก็นั่นล่ะครับ เราไม่รู้จุดยืนที่ชัดเจนของลิเวอร์พูลในการยักแย่ยักยันอย่างนี้ ลิเวอร์พูลอาจจะคำนวนว่าค่าตัวมากที่สุดสำหรับนักเตะดาวรุ่งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองคนนี้ไม่ควรเกิน 40 ล้านปอนด์ การเสนอ 46 ล้านก็ถือว่าเกินเพดานไปมากแล้ว มันอาจจะเป็นอย่างนี้ก็ได้ ไม่ใช่ว่างกไม่เข้าเรื่องกับเงินแค่ 4 ล้านปอนด์
ผมเขียนเรื่องนี้เอาไว้ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน 2 วันติดหลังจากที่ลิเวอร์พูลยื่นข้อเสนอครั้งที่ 3 ที่ราคา 46 ล้านปอนด์อันทำให้โดนด่าจากทุกสารทิศว่ามันอาจมีเหตุผลเป็นไปได้อยู่ 2-3 ทาง
1. คิดว่ายังสามารถเจรจาต่อรองกับเซาธ์แฮมป์ตันได้ ด้วยราคาที่ยื่นไปก็ไม่ใช่น้อยๆ และเกินราคากลางไปมากแล้ว
2. ตั้งใจจะยอมกัดฟันจ่าย 50 ล้านปอนด์ตามที่ทีมนักบุญต้องการอยู่แล้วแต่ขอพยายามต่อรองให้ถึงที่สุดก่อน
3. จากการวิเคราะห์ความเสี่ยงแล้วจะไม่ยอมจ่ายมากกว่านี้อีกและพร้อมถอนสมอเพื่อมองหาคนใหม่ซึ่งอาจมีการเริ่มเจรจาเอาไว้แล้วโดยไม่เป็นข่าว
แฟนบอลอยู่ในจุดที่ไม่รู้ว่าเหตุผลที่แท้จริงของลิเวอร์พูลคืออะไร จะเป็นข้อ 1 หรือ 2 หรือ 3 ไม่อาจคาดเดาได้ เรามีความรู้สึกอย่างหนึ่ง แต่แนวทางที่สโมสรกำลังเดินอยู่ด้วยข้อมูลที่มีในมืออาจตั้งใจให้ไปสู่อีกจุดหนึ่ง มีหลายครั้งที่ลิเวอร์พูลซื้อตัวละครที่ไม่อยู่ในเฟรมมาก่อน และดูเหมือนว่าสถานการณ์ยืดเยื้อเรื่องลาเวียจะนำพาไปสู่เหตุผลข้อที่ 3 ด้วยดีลมหึมาของ มอยเซส ไกเซโด
"เราไม่ได้อยู่ในโลกเดียวกับเมื่อวานนี้แล้วนะ" เมื่อคุณยืนกรานไม่ยอมลดราวาศอก เราเข้าใจเงื่อนไขและความจำเป็นของคุณ แต่เราจะไม่ยอมคุณ และเดินหน้าต่อในความจำเป็นของเรา เปลี่ยนไปสู่เป้าหมายแรกที่อยากได้ซึ่งคล้ายจะเกินกำลัง หากมันก็ถึงเวลาแล้ว
ถึงเวลาแล้ว.. ก็อาจจะด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเช่นกัน
ลิเวอร์พูลทำให้เห็นมาตลอดว่าพวกเขาพร้อมทุ่มเงินอย่างน่าตกตะลึงเพื่อให้ได้นักเตะที่เข้ามาอุดจุดอ่อนของทีม มันเกิดขึ้น 2 ครั้งคือการซื้อ เฟอร์กิล ฟาน ไดค์ กับ อลิสซง เบ็คเกอร์
ถ้า เจอร์เก้น คล็อปป์ ยืนยันว่าต้องเอามาให้ได้ สโมสรก็พร้อมสนับสนุนเขา บางทีกรณีของมิดฟิลด์ตัวรับอาจอยู่ในสถานการณ์อย่างนั้นเรียบร้อยแล้วหลังจากที่คล็อปป์ได้เห็นผลงานของกลางรับแก้ขัดแต่ละคนที่เล่นแทนฟาบินโญ่ในเกมอุ่นเครื่องที่ผ่านมา
จากตำแหน่งที่ขาด กำลังจะกลายเป็นจุดอ่อน และคล็อปป์ตัดสินใจว่าต้องอุดจุดอ่อนนั้นด้วยคนที่ใช่เหมือนที่ซื้อฟาน ไดค์ มาอุดรูรั่วเกมรับ และอลิสซงมาเป็นจิ๊กซอว์สำคัญหน้าปากประตู
ผมเชื่อว่าบนโต๊ะเจรจาต่างฝ่ายต่างรู้ท่าทีและเงื่อนไขของอีกฝ่ายดีที่สุด ยิ่งโดยเฉพาะคนที่ได้รับแต่งตั้งให้มาทำหน้าที่นี้โดยตรงย่อมมีความเชี่ยวชาญ ละเอียดรอบคอบ มีข้อมูลเชิงลึก และเข้าใจองค์ประกอบรอบด้านเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของสโมสรทั้งในแง่เกมในสนามและนอกสนาม
เซาธ์แฮมป์ตันรู้ว่ายิ่งเวลาผ่านไปลิเวอร์พูลยิ่งถูกบีบให้ต้องยอมจ่ายเพื่อลาเวีย
ลิเวอร์พูลก็รู้ว่าค่าตัวของลาเวียไม่ควรไปถึงจุดนั้น และเมื่อสถานการณ์ความต้องการมิดฟิลด์ตัวรับของตัวเองเปลี่ยนไปจาก "แค่ขาด" เป็น "จุดอ่อน" พวกเขาตัดสินใจไม่เพิ่ม "แค่ 4 ล้าน" เพื่อลาเวียซึ่งจะทำให้จ่ายมากกว่าราคาตลาด 20 ล้านหรือคิดเป็น 66 เปอร์เซนต์ (ราคา 30 จ่าย 50) แต่ด้วยสัดส่วนจ่ายแพงกว่าราคาตลาดพอๆ กัน (64 เปอร์เซนต์) ลิเวอร์พูลยอมเพิ่มพรวดเดียว 45 ล้านสำหรับเบอร์ต้นๆ ในตลาดและลำดับแรกๆ ในลิสต์อย่าง ไกเซโด ที่ราคาตลาดอยู่ที่ 70 ล้านปอนด์ไปเลย
ชมัดท์เค่อและลิเวอร์พูลเข้าใจดีถึงคำว่า เวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน ถ้าซื้อไกเซโดต้นปีแค่ 70 ล้านปอนด์แต่ซื้อวันนี้ที่พรีเมียร์ลีกกำลังจะเปิดฉากทั้งยังมีทีมอื่นเป็นคู่แข่ง ไม่มีทางที่ราคาจะต่ำกว่า 100 ล้านปอนด์ ฉะนั้นไม่ต้องต่อรองให้เสียเวลา
ลิเวอร์พูลดีลจ่ายเลยโดยไม่ลังเล และการใช้เงินอย่างรอบคอบตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ทำให้สโมสรมีสภาพคล่องมากพอสำหรับการจ่ายเงินระดับสถิติพรีเมียร์ลีก ไม่ใช่ติดขัดไปหมดด้วยวงเงินเต็มต้องหาทางผ่องซ้ายถ่ายขวาวุ่นวาย
จากเอ๊ดเวิร์ดส์ สู่ชมัดท์เค่อ แนวทางการเจรจาและซื้อนักเตะก็ยังคงเป็นแบบลิเวอร์พูลเวย์ คือรอบคอบ ให้ความสำคัญกับนโยบายนอกสนาม และ.. อย่าคิดว่ากูหมูนะ ถ้าถึงเวลากูก็จ่ายนะ!
สำหรับมุมมองของผม ผมแค่คิดว่าเรื่องนี้สนุกดีโดยเฉพาะการได้เห็นจุดยืนของสโมสร แน่นอนว่าผมอยากเห็นกองกลางตัวรับคนใหม่ แต่ลิเวอร์พูลก็ยังคงเป็นลิเวอร์พูล เขี้ยวลากดินบนโต๊ะพูดคุยและจะไม่ยอมเสียเปรียบเด็ดขาดว่าซื้อใครแพงเกินความจำเป็น ถ้าจะยอมใครแบบพร้อมจ่ายทุกราคา คนๆ นั้นต้องเป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญยิ่งยวดจริงๆ
คำตอบที่กำลังจะออกมานั้นหมายความว่า โรเมโอ ลาเวีย เป็นแค่คำตอบที่เกือบจะใช่.. นั่นล่ะครับ เพราะเราไม่ได้อยู่ในโลกเดียวกับเมื่อวานนี้แล้ว..
-ตังกุย-