ไม่ผิดครับที่....ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เจ้าของฉายา "ไก่เดือยทอง" ใช้เพลง กลอรี กลอรี ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เหมือนที่เราได้ยินคุ้นหูกันมานานในโรงละครแห่งความฝันของแมนฯยูไนเต็ด โดยเฉพาะยุคพรีเมียร์ลีก
เสียงเพลงดัง....ตามความสำเร็จอะนะ
ทั้งที่จริงแล้วเพลง Glory Glory Tottenham Hotspur เป็นเพลงที่แฟนทีมไก่เดือยทองร้องมาก่อนตั้งแต่ยุค 60 แม้ไม่มีใครบันทึกว่าใครร้องก่อน แต่ยุค 60 แฟนผียังไม่ได้ร้องเพลงนี้ พึ่งมาตอนยุค 80 ช่วงผงาดคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ บ่อยๆ
ถ้าถามว่า...ใครร้องก่อนกัน เอาจริงๆ ในความรู้สึกของแฟนบอลทั่วไประดับอายุ 50+ คงตอบคล้ายๆกันว่าสเปอร์ส นั่นหละ เพราะได้ยินมานาน เพียงแต่พอยุค 90 เป็นต้นมาแมนฯยูไนเต็ด ประสบความสำเร็จสุดยิ่งใหญ่ เพลงนี้จึงเหมือนเป็นเพลงชาติเด็กผีเพราะได้ยินคุ้นหูกว่า
ตามรายงานพิเศษของ น.ส.พ. The Scotsman (ไซส์ใหญ่แบบสยามกีฬา)เมื่อ 26 ม.ค.2017 เรื่อง The origins of Scotland's most popular football chants".
โดยอ้างว่าสโมสรแรกที่ใช้เพลง Glory Glory คือทีมจากสกอตแลนด์ชื่อ ฮิเบอร์เนียน ตั้งแต่ยุค 50 "Glory, Glory to the Hibees"แล้วมีการทำเพลงนี้ออกมาขายแฟนบอลอีกด้วย
จากนั้นจึงเป็นทีมจากอังกฤษซึ่ง สเปอร์สยุค 60 นำมาดัดแปลงเป็น Glory Glory Tottenham Hotspur
แฟนๆ แมนฯยูไนเต็ด กับ ลีดส์ ยูไนเต็ด จึงทยอยใช้เพลงนี้ต่อจาก สเปอร์ส แต่อย่างที่บอกยิ่งมีความสำเร็จเสียงเพลงยิ่งดังขึ้นตาม ...ขณะที่ลีดส์ จึงไม่ค่อยได้ยินเพลงนี้บนอัฒจันทน์สักเท่าไหร่
การตะโกนเชียร์ ตะโกนร้องของแฟนบอลอังกฤษ จะใช้คำว่า chant สะท้อนให้เห็นว่ามันคือเสียงตะโกนเชียร์จากบนอัฒจันทน์ terrace chant ซึ่งตรงกับความหมายที่สุด
ใครไปเที่ยวดูบอลคงได้ยินทั้งตะโกนเชียร์ตัวเอง มีทำนองเพลงให้นักเตะบ้าง, ด่าคู่แข่งบ้าง, เพลงปลุกใจทีมตัวเองบ้าง คือถ้าไปอยู่ตรงนั้นจะเข้าใจวัฒนธรรมการเชียร์
ตะโกนเมื่อต้องการปลุกใจ
ตะโกนเมื่อต้องการกดดันคู่แข่ง
ตะโกนเมื่อทีมกำลังสิ้นหวัง
เขียนถึงเพลงนี้...ร่ายมาซะยาว เพื่อจะบอกว่าในโอกาสที่ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ มาเมืองไทยวันที่ 23 ก.ค. เพื่อเตะนัดพิเศษกับ เลสเตอร์ ซิตี้ ตอนนี้ตั๋วเริ่มขายแล้ว จับจองกันได้ครับ
ส่วนตัวของผมในฐานะแฟนบอลตั้งแต่ยุค 80 (ป.5) เริ่มรู้จักทีมไก่เดือยทองจากทีวีก่อนครับช่อง9 นำรายการสารคดีฟุตบอลอังกฤษมาแพร่ภาพ ผมเห็นสเปอร์ส บ่อยๆ นอกจากมีสารคดีเจ๋งๆ ส่วนตัวนักเตะอย่าง เกล็น ฮอดเดิ้ล ที่โชว์ทักษะการเดาะบอลจนเท้าถึงหัว ยังมีผลงานของสเปอร์สมาให้ชม
เหมือนไฮต์ไลต์เอฟเอ คัพที่เห็นเรื่อง แมนฯยูไนเต็ดมากกว่าทีมอื่นๆ (เพราะชิงบ่อย)
ดารานักเตะสเปอร์ส และ แมนฯยูฯอยู่ในสายตาของผมหลายคนในยุคนั้น นี่ถ้าไม่ค้นพบลิเวอร์พูลจากการอ่านหน้ากีฬา น.ส.พ. ไทยรัฐแล้วต่อด้วยสตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์
ผมอาจเชียร์สเปอร์ส แล้วก็ได้!!
ยุคนั้นการอ่านทำให้เข้าถึงมากกว่าเพราะแหล่งข้อมูลจากทีวี มีก็จริงแต่หนังสือกีฬามีมากกว่า อ่านแล้วยังเก็บเอาไว้มาอ่านใหม่ได้อีก การจดจำเรื่องราวเมื่อยุคนั้น การอ่านจึงมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะคนชอบอ่านหนังสืออย่างผม
จริงอยู่ เรื่องสเปอร์ส ก็มีให้อ่าน แต่พอติดตามลิเวอร์พูลเป็นหลัก...เรื่องของลิเวอร์พูลจึงมาก่อนทีมใดๆ ในโลกนี้
5555
กระนั้น...เมื่อโลกทีวีนำพาให้มารู้จักสเปอร์ส นี่ก็เป็นอีกทีมที่เห็นถึงสเน่ห์ของพวกเขาและบอลอังกฤษได้ชัดเจน...เล่นบอลสนุก...มีดาราประจำทีม...ผลงานกลุ่มท็อป
ยุค 80 คือยุคทีมดีอย่างสเปอร์ส แต่กลับเป็นทีมที่ดีแต่ล้มเหลว หมายถึงแชมป์ลีกสูงสุดดิวิชั่นหนึ่งเดิมนะครับ ส่วนแชมป์อื่นๆโดยเฉพาะเอฟเอ คัพ นี่เป็นเจ้าพ่อมาก่อน อาร์เซนอลและ แมนฯยูฯ
สเปอร์สยุคผมเด็กๆคือทีมที่เมื่อเข้าชิงชนะเลิศแล้วเป็นแชมป์ สถิติ 100%
อย่างปี 1982 พวกเขาชิงเอฟเอ คัพ กับ ควีนส์พาร์ค เรนเจอร์ส ช่วงนั้นพวกเขาทำสถิติตามหลังแอสตัน วิลล่า 1 สมัย คือวิลล่าได้แชมป์เอฟเอ คัพ 7 ส่วนสเปอร์ส 6 แมนฯยูฯ ตอนนั้นได้แค่ 4 ครั้ง
คิดดูว่านี่คือถ้วยที่มีมนต์ขลังขนาดไหน ถึงปี 1982 ฟุตบอลรายการนี้มีอายุ 110 ปี ทีมได้แชมป์มากสุดแค่ 7 ครั้งคือ วิลล่า ตามด้วยสเปอร์ส 6 ครั้ง นัดชิงปี 1982 ทีมไก่เดือยทองชิงเป็นครั้งที่ 7
นับจากได้แชมป์ครั้งแรกปี 1901 (ในนามทีมสมัครเล่น) แล้วเข้าชิงหากครั้งชนะรวด พอครั้งที่ 7 ต้องออกแรงหน่อยครับ เพราะเฉือน คิวพีอาร์ จากการเล่นสองนัด เนื่องจากเมื่อก่อนนัดชิงถ้าเสมอ...รีเพลย์ แมตช์
ตอนนั้นสเปอร์ส ได้แชมป์สมัย 7 จากการเข้าชิงครั้งที่ 7 ถือว่าสุดยอด เรียกว่าชิงแล้วต้องได้แชมป์
ขุนพลชุดนั้นจำขึ้นใจเพราะดังและติดทีมชาติหลายคน เช่นประตูนี่เด็กหงส์ต้องจำแม่น เรย์ เคลเม้นส์ ผู้รักษาประตูมือสองทีมชาติที่เก่งกว่ามือหนึ่งหลายชาติ ยกเว้น ปีเตอร์ ชิลตัน
กองหลัง แกรแฮม โรเบิร์ตส์, สตีฟ เพอร์รีแมน, คริส ฮิวตส์ตัน ส่วนกองกลางก็ต้อง เกลน ฮอดเดิ้ล ตัวเปิดบอลที่แม่นยำและชั้นเชิงสูง มิค ฮาร์ซาด, โทนี กัลวิน จริงๆมี ออสบัลโด อาร์ดิเลส และ ริคกี บียา แต่ช่วงนั้นคือสงครามเกาะฟอล์คแลนด์ ที่กองทัพอาร์เจนติน่าจะชิงเกาะนี้คืนจากอังกฤษ แต่นางสิงห์เหล็ก มาร์กาเรต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรี ไม่ยอมกรีฑาทัพเรือสุดยิ่งใหญ่ไปจัดการ
ความขัดแย้งช่วงนั้น อาร์ดิเลส ที่อยู่อาร์เจนติน่า พอมีสงครามกลับไม่ได้ สเปอร์ส ปล่อยยืมชั่วคราวให้ ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง ส่วน บียา อยู่ในอังกฤษไม่พร้อมลงสนาม เพราะเดี๋ยวบานปลาย คือถ้ามีสองคนนี้เล่น อาจชนะแบบไม่ต้องรีเพลย์ แมตช์ คือขาดกองกลางตัวหลักไปนั่นเอง
ส่วนหน้าคู่ก็ สตีฟ อาร์ชิบัลด์ (ต่อมาย้ายไปบาร์ซ่า) การ์ธ ครูก ดาวยิงประจำทีมที่พอเลิกเล่นเดินสายสื่อกีฬากับบีบีซี
นั่นคือความทรงจำกับสเปอร์ส ที่รู้สึกว่ามีสเน่ห์อย่างยิ่ง
พอถึงยุคพรีเมียร์ลีกถ้วยเอฟเอ คัพ มีสองสามทีมที่แย่งกัน แมนฯยูฯ กวาดจนได้ 12 ครั้ง ก่อนโดนอาร์เซนอลแซง จนได้ฉายาว่า "ลอร์ด ออฟ เอฟเอ คัพ" 14 ครั้ง ส่วนสเปอร์ส นั้นอยู่ที่ 8 ครั้ง จากการเข้าชิงชนะเลิศ 9 ครั้ง
ที่มันมีสเน่ห์อย่างยิ่งคือการเข้าชิงชนะเลิศครั้งที่ 8 ของพวกเขาเจอโคเวนทรี เมื่อปี 1987 (ช่อง7 ถ่ายพี่โย่งพากษ์) นั่นคือการพลิกลอคครั้งสำคัญ เพราะสเปอร์ส เป็นต่อบานเบอะ
ขุนพลชุดนั้นนำโดย เรย์ เคลเม้นส์ เฝ้าเสาเหมือนเดิม กองหลังนี่ นำโดย เซนเตอร์ สกอตติช ริชาร์ด กัฟ , คริส ฮิวส์ตัน ยังยืนแบ๊กขวาอยู่ อีกคน แกรี แมบบัตต์
กองกลางยัง นำโดย เกลน ฮอดเดิล, สตีฟ ฮอดจ์ , ออสซี อาร์ดิเลส กลับเข้าอังกฤษได้แล้ว หลังสิ้นสุดสงครามไปหลายปี ที่สำคัญมีปีกจอมเลื้อย คริส วอลดเดิล อีกต่างหาก ยังมี พอล อัลเลน กองกลางจอมขยัน
หน้าเป้าคือไคล์ฟ อัลเลน (ดึงมาจากคิวพีอาร์)
ส่วนโคเวนทรี ก่อนลงสนามมี สตีฟ ออกริโซวิช อดีตนายประตูมือสองของหงส์แดงที่เป็นทั้งมือสองรองจาก เคลเม้นส์ และ กรอบเบลาร์ แต่มาเป็นมือหนึ่ง โคเวนทรี และศูนย์หน้าทีมชาติอังกฤษ ไซริล รีจิส ที่ดังสุดสองคน
คนอื่นก็ประปราย เดฟ เบนเนตต์ ปีกขวา กองหน้าอย่าง คีธ เฮาเช่น อีกคน
นัดนั้นโคเวนทรี ล้มยักษ์ โดนนำก่อน 2 ครั้ง แต่ไล่ตีเสมอ 2-2 ก่อนมายิงช่วงต่อเวลาพิเศษ ชนะสเปอร์ส เพราะ แกรี แมบบัตต์ ทำเข้าประตูตัวเอง..... สเปอร์สสิ้นสถิติชิงเอฟเอแล้วได้แชมป์ลงเมื่อปี 1987
ส่วนแชมป์อีกครั้งปี 1991 ขุนพลชุดนี้ก็โด่งดังระดับโลกหลายคน
พอล แกสคอยน์ ,แกรี ลินิเกอร์ ดาวยิงทีมชาติอังกฤษ , แกรี แมบบัตต์ ยืนเซนเตอร์ มี จัสติน เอดินเบอะระ , แพท ฟาน เดน ฮาว ประตูก็ เอริก ธอร์สเวสด์ ส่วนแดนกลางมี พอล สจวร์จ, พอล อัลเลน , วินนี แซมเวย์ และเดวิด ฮาวลส์ (โฮเวลส์สมัยก่อน)
ผ.จ.ก. คือ เทอรรี เวนาเบิลส์
พวกเขาชนะ นอตติงแฮม ฟอเรสต์ ภายใต้การคุมทีมของ ไบรอัน คลัฟ ซึ่งสตาร์ดังทั้ง สจวร์ต เพียร์ซ กัปตันไซโค, เดส วอล์คเกอร์ สองกำลังหลักทีมชาติอังกฤษ
แดนกลาง รอย คีน, แกรี พาร์คเกอร์, แกรี ครอสบี ปีกขวา ส่วนปีกซ้าย เอียน โวน กลางรุก ไนเจล คลัฟ ศูนย์หน้า ลี โกลเวอร์
ดาลกันสนุก เสมอ 1-1 ในเวลา พอต่อเวลาพิเศษ วอล์คเกอร์ ทำเข้าประตูตัวเอง ส่งผลให้สเปอร์ส แชมป์เอฟเอ คัพ ครั้งที่ 8 จากการเข้าชิงชนะเลิศ 9 ครั้ง ถึงวันนี้สเปอร์ส ยังไม่เคยย่างเท้าเข้าเวมบลีย์เพื่อชิงเอฟเอ คัพ อีกเลย
ยุคสมัยก่อนสเปอร์ส กับเอฟเอ คัพ จะมี "สตอรี" ที่ว่า เข้าชิงแล้วได้แชมป์ แล้วแชมป์มักจะเป็นปีที่ลงท้ายด้วยเลข1 (ส่วนใหญ่นะครับ)
1901,1921,1961,1962 (ถือว่าอยู่ในซีซั่น 61-62),1967,1981,1982 (ถือว่าอยู่ในซีซั่น 81-82)1991.....
สเปอร์สเจ๋งกว่าหลายทีมที่ได้แชมป์เอฟเอ คัพ พวกเขาคว้าแชมป์สองปีติดมาสองหน...ซึ่งหายากอยู่นะครับ
ทีมไก่เดือยทองอยู่ในความทรงจำของผมเรื่อยมาจนถึงยุคพรีเมียรลีก ที่มีการถ่ายทอดสดให้ชม ยิ่งทำให้แฟนสเปอร์สรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ แน่นอน บอลก็ต้องมีความสำเร็จ มีสไตล์ และมีสตาร์ เพื่อดึงดูดฐานแฟนบอลให้ขยายกว้างขึ้น
กระนั้น...แม้สเปอร์ส ไม่ได้แชมป์พรีเมียร์ลีก...ไม่ได้แชมป์เอฟเอ คัพ มาตั้งแต่ปี 1991 พวกเขาก็ยังเป็นทีมที่มีสเน่ห์ ทำให้มีแฟนติดตามเพิ่มขึ้น อย่างยุค พรีเมียร์ลีก ทุกคนได้ต้อนรับ....
เทดดี เชอริงแฮม, เจอร์เก้น คลินส์มันน์ หน้าคู่ระดับทอปของวงการ ที่เล่นด้วยกัน1 ซีซั่นกองกลางไม่ค่อยเด่นมาก มีปีกขวาอย่าง ดาร์เรน แอนเดอร์ตัน ดังหน่อย
กองหลัง แกรี แมบบัตต์ช่วงท้าย มีพวก โคลิน คัลเดอร์วูด , เอดินเบอระ ยังเล่นอยู่และการเติบโตของ โซล แคมป์เบลล์ (จูดาส) , สตีฟ คาร์ ....
ติดแค่ประตูไม่ค่อยเก่งเลยนับจากหมดยุค เรย์ เคลเมนส์ จนถึงวันนี้สเปอร์สยังไม่มีผู้รักษาประตูมือกาวเลย เอียน วอล์คเกอร์ ก็พอได้ , นีล ซัลลิแวน แฟนชอบ แต่ยังไม่ถึง แม้มีประตูแชมป์โลกอย่าง อูโก ยอริส แต่พักหลังมานี่คือบ่อน้ำมัน
จนถึงยุค แดเนียล เลวี ประธานสโมสรผู้ถือหุ้นรองในกลุ่มทุน Enic Group ที่มี โจ ลูอิส เจ้าของบริษัท ถือหุ้นใหญ่กว่า 70% นับจากไล่ซื้อหุ้นมาตั้งแต่ยุค อลัน ซูการ์เป็นเจ้าของทีม (แฟนสเปอร์สขับไล่เช่นกัน)
เอนิก กรุ๊ป และ แดเนียล เลวี บริหารทีมอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2001
ผ.จ.กคนแรกคือ เกล็น ฮอดเดิ้ล นับถึงปัจจุบันใช้ผ.จ.ก แบบถาวรและชั่วคราวไม่แล้วทั้งสิ้น 15 คน บางคนรักษาการสองครั้ง (ไรอัน เมสัน เป็นต้น) ทั้งอังกฤษ,ดัชท์, อิตาลี, โปรตุเกส, สเปน, ฝรั่งเศส ล่าสุดคือออสเตรเลีย คนแรกในฟุตบอลอังกฤษ อังเก ปอสเคโตกลู (นับว่าเป็นกรีสด้วยครึ่งหนึ่ง)
หลากหลายชาตินั้น...ลองมาหมดแล้ว
ดีสุดคือแชมป์ลีก คัพซีซั่น 2007-08 (ฆวนเด รามอส ผ.จ.ก.)และช่วงเวลาของโปเชตติโน ที่คว้าอันดับสามในลีก ซีซั่น 2015-16 ที่พอช พาทีมลุ้นแชมป์กับเลสเตอร์ แต่มาหลุดช่วงท้ายโดนอาร์เซนอลแซงไป1 แต้ม จนถูกล้อเลียนว่าสเปอร์ส ยังไงก็อันดับต่ำกว่าอาร์เซนอล ตลอดไป
ซีซั่นต่อมาร่วมลุ้นแชมป์กับเชลซี แต่ได้แค่ รองแชมป์พรีเมียร์ลีก ซีซั่น 2016-17
ในมุมของแฟนบอลและสื่อการบริหารงานของ เลวี นับว่าล้มเหลวในหลายเรื่อง กระนั้นสเปอร์ส ยังคงเป็นทีมที่สร้างสตาร์ประดับวงการต่อเนื่อง เฉพาะยุคของ เลวี เป็นประธานบริหาร....เรียงช่วงเวลานะครับ...(2001-2023)
รอบบี คีน, เจอร์เมน เดโฟ, ดิมิทาร์ เบอร์บาตอฟ, ไมเคิล คาร์ริค, ลูกา โมดริช , อารอน เลนนอน, ไมเคิล ดอว์สัน, สกอต พาร์คเกอร์, แกเรธ เบล, คริสเตียน เอริกเซน, โทบี อัลเดอไวเรล, แยน แฟร์ตองเก้น, แฮร์รี เคน, ซน ฮึง มิน
มันดูคล้ายๆสมัยผมเด็กๆ คือสเปอร์สเป็นทีมที่ดี ทีมแถวหน้าของวงการ มีนักเตะรดับชาติ ระดับโลกผ่านเข้ามาเล่น แต่ไม่ได้แชมป์ลีกสูงสุด
นับจากก่อตั้งสโมสรเมื่อ 5 ก.ย. 1882 พวกเขาได้แชมป์ลีกสูงสุดครั้งล่าสุดคือปี 1961 (บิล นิโคลสัน ผ.จ.ก.) พวกเขาได้แชมป์ใหญ่นี้ 2 ครั้ง นอกนั้นที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์คือแชมป์เอฟเอ คัพ 8 สมัย
กระนั้น...ความมีสเน่ห์ของสเปอร์ส ไม่ได้อยู่ที่แชมป์ลีกสูงสุดทีรอคอย หากแต่นี่คือทีมที่ไม่เคยขาดแคลน "สไตล์" และ "สตาร์" ประดับทีม รวมทั้งโค้ชยอดฝีมือที่ต่างเข้ามาทำงานเพื่อสร้างความสำเร็จให้กับทีม
ซีซั่นต่อไปนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งซีซั่นที่สเปอร์ส จะถูกจับตามองผ.จ.ก. ใหม่เลือดออสซี่ ที่โดนสบประมาทว่าจะไหวมั้ยในพรีเมียร์ลีก
ใครจะเข้ามาเสริมทีมอีกและดีระดับไหน
สิ่งสำคัญที่สุดคือ การรั้งตัว แฮร์รี่ เคน เอาไว้กับทีมให้ได้ต่อไป....(ผมเชื่อว่า เคน อยู่ต่อครับ)
นี่แหละครับ...."ไก่เดือยทอง" ที่รอวัน Glory Glory Tottenham Hotspur
JACKIE