เชลซี ภายใต้การบริหารของ ท็อดด์ โบลีห์ เจ้าของคนใหม่สร้างความฮือฮาด้วยการใช้เงินสูงถึง 600 ล้านปอนด์ (ราว 27,306 ล้านบาท) คว้านักเตะใหม่มาร่วมทีมชนิดนับไม่ถ้วนในตลาดสองรอบที่ผ่านมา และใช้วิธีเซ็นสัญญาระยะยาวมากกว่าห้าปีแทบทั้งนั้นซึ่งสร้างความน่าเคลือบแคลงเป็นอย่างยิ่ง
เริ่มตั้งแต่ตลาดนักเตะในช่วงซัมเมอร์ปี 2022 สิงห์บลูส์ ดึงตัว เวสลีย์ โฟฟาน่า มาเสริมทัพภายใต้สัญญาเจ็ดปี ขณะที่ เบอนัวต์ บาเดียชิล , เมโล่ กุสโต้ และ โนนี่ มาดูเอเก้ ต่างก็ได้รับสัญญาคนละเจ็ดปีครึ่ง ขณะที่ เอ็นโซ เฟร์นานเดซ กับ มิโคไล มูดริค สองดาวดังมีสัญญาระยะยาวแปดปีครึ่ง
ต่อกรณีดังกล่าว ส่งผลให้ ยูฟ่า มองว่าทีมดังของกรุงลอนดอนเล่นไม่ซื่อโดยเน้นเซ็นสัญญาระยะยาวกับนักเตะซึ่งแม้จะมีค่าตัวแพงมหาศาล แต่พวกเขาสามารถผ่านจ่ายค่าตัวได้อย่างยาวนานจนกว่าสัญญาจะสิ้นสุดซึ่ง ยูฟ่า มองว่าไม่เป็นธรรมต่อสโมสรอื่น และจัดแจงปรับเปลี่ยนกฏการซื้อนักเตะในประเด็นจ่ายค่าตัวออกมาบังคับใช้ในซัมเมอร์นี้แล้ว
"การเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฏมีความสำคัญ นักเตะสามารถเซ็นสัญญาระยะยาวได้ แต่ระยะเวลาการจ่ายค่าตัวจะต้องไม่เกินห้าปี" ยูฟ่า แถลง
ด้วยเหตุนี้ เชลซี จะต้องจ่ายค่าตัว คริสโตเฟอร์ เอ็นคุนคู กองหน้าเฟรนช์แมนรายใหม่ที่เพิ่งย้ายมาจาก แอร์เบ ไลป์ซิก ในซัมเมอร์นี้ให้หมดภายในระยะเวลาห้าปี แม้ สิงห์บลูส์ จะจับเขาเซ็นสัญญายาวหกปีก็ตาม
ต่อกรณีดังกล่าว หมายความว่า เชลซี จะต้องจ่ายค่าตัวของ เอ็นคุนคู จำนวน 52 ล้านปอนด์ (ราว 2,366 ล้านบาท) ให้กับทีมจาก บุนเดสลีกา ปีละ 10.4 ล้านปอนด์ (ราว 473 ล้านบาท) จนถึงปี 2027 ไม่ใช่ปีละ 8.6 ล้านปอนด์ (ราว 391 ล้านบาท) จนถึงปี 2028 เนื่องจากกฏใหม่ของ ยูฟ่า บังคับให้ทุกสโมสรจ่ายค่าตัวนักเตะให้ครบในเวลาห้าปีไม่ว่าจะเซ็นสัญญากับพ่อค้าแข้งยาวนานแค่ไหนก็ตาม