ครั้งหนึ่งที่ ฟอร์ทูน่า ดุสเซลดอร์ฟ คริสต์ศักราช 1986 เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เด็กหนุ่มที่ชื่อ เจอร์เก้น คล็อปป์ ลืมไม่ลงจนถึงทุกวันนี้
"ตอนผมอายุ 19 และมีความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ผมไปทดสอบฝีเท้าที่ ฟอร์ทูน่า ซึ่งมี ยอร์ก เป็นทั้งผู้รักษาประตู และเป็นรุ่นใหญ่ของที่นั่น" กุนซือ ลิเวอร์พูล เผยกับ โวล์ฟส์แบร์เกอร์ ออลเจมีน ไซตุ้ง สื่อเยอรมัน ตอนเดือนมกราคม
"ผมทุ่มเททุกอย่างลงไป และวิ่งพล่านเป็นบ้าเป็นหลัง แต่ผมจะพูดยังไงดี คือผมล้มเหลวไม่เป็นท่า ผมเดาว่า ชมัดต์เค่อ น่าจะจำเรื่องนั้นได้นะ"
"เขาไม่เคยยื่นชื่อผมเพื่อเป็นโค้ชไปยังสโมสรไหนของเขาเลย เขาต้องคิดแน่ ๆ ว่า -ในเมื่อ คล็อปป์ เล่นฟุตบอลไม่ได้แล้วล่ะก็ เขาไม่สามารถเป็นผู้จัดการทีมที่ดีได้เช่นกัน-"
ซึ่งดูเหมือนว่า ยอร์ก ชมัดท์เค่อ จะจำช่วงเวลานั้นไม่ค่อยได้เท่าไหร่
"ที่จริงเราก็ไม่ได้สนิทกันถึงขนาดนั้นหรอก เราเคยทำงานใน บุนเดสลีกา ในช่วงเวลาเดียวกัน เขาเป็นโค้ชส่วนผมเป็นผู้อำนวยการกีฬา เรารู้จักกันและกันในระดับหนึ่ง"
"แต่ผมรู้จัก มาร์ค โคซิคเค่อ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของเขามากกว่า" ชมัดเค่อ กล่าวกับ สปอร์ต1 สื่อเมืองเบียร์ในวันรับตำแหน่งกับ ลิเวอร์พูล
...
ว่ากันตามตรง ความสำเร็จบนเส้นทางอาชีพ ระหว่าง ยอร์ก ชมัดต์เค่อ กับ คล็อปป์ เป็นฝ่ายแรกที่โดดเด่นกว่า
กว่า คล็อปป์ จะได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพครั้งแรก อายุเข้าสู่วัย 21 ปี กลายเป็นพ่อคน และยังต้องเรียนหนังสือควบคู่ไปกับการทำงานพาร์ท-ไทม์
ด้าน ชมัดต์เค่อ ที่แม้จะดูดีกว่า คล็อปป์ ในตอนนั้น แต่เขาก็ต้องดิ้นรน พยายาม ต่อสู้ อย่างหนักเพื่อค้นหาเส้นทางของตัวเอง
ซึ่งเคมีในเรื่องความพยายาม การต่อสู้ ของทั้ง ชมัดต์เค่อ กับ คล็อปป์ เป็นอะไรที่ดูมีความเหมือนกัน
ระหว่างเล่นอาชีพที่ ฟอร์ทูน่า และช่วงท้ายที่ ไฟร์บวร์ก ชมัดต์เค่อ ทำหน้าที่เป็นโค้ชเยาวชน และศึกษาวิชาวิศวกรรมกับเศรษฐศาสตร์ ควบคู่ไปด้วย
เขาถูกกล่าวขานอย่างรวดเร็วในเรื่อความฉลาดปราดเปรื่อง จากการที่จบระดับการศึกษา Abiturenten (หลักสูตรระดับ A) ที่น้อยคนในวงการฟุตบอลเยอรมันจะผ่านมันมาได้
เวลาต่อมา ชมัดต์เค่อ รับงานเป็นผู้ช่วยโค้ชที่ โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค และเป็นโค้ชผู้รักษาประตูให้กับ ฟอร์ทูน่า ทีมเก่า
แล้วเขาก็ได้พบกับประกาศหางานบนนิตยสาร คิคเกอร์ เมื่อปี 2001 ที่เปลี่ยนแปลงเส้นทางการทำงานไปอย่างสิ้นเชิง
มันเป็นประกาศหางานตำแหน่ง ผู้อำนวยการกีฬา จาก อเลมานเนีย อาเค่น สโมสรระดับ บุนเดสลีกา 2
ชมัดต์เค่อ สนใจมากจึงนำไปสู่ขั้นตอนการส่งใบสมัคร แล้วสิ่งที่ทำให้เขาเบียดคู่แข่งอีกสองรายคือการเตรียมเพาเวอร์พอยต์นำเสนอ จนชนะใจคนใหญ่คนโตที่นั่น
ชมัดต์เค่อ เข้ามาในช่วงที่ อาเค่น มีหนี้ท่วมหัว แต่สามารถพาทีมเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศของ เดเอฟเบ-โพคาล และนำทีมขึ้นสู่ บุนเดสลีกา ได้สำเร็จ รวมถึงเคยพา เอฟเซ โคโลญจน์ เลื่อนชั้นสู่ บุนเดสลีกา ได้ด้วย
ผลงานส่วนตัวทำให้ ชมัดต์เค่อ เป็นคนที่ได้รับความเคารพจากคนในวงการฟุตบอลเยอรมันมากพอตัว โดยเฉพาะตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ โวล์ฟสบวร์ก
จุดเด่นที่เขาได้รับการยอมรับคือการพัฒนาสโมสรให้ดีขึ้น โดยใช้หลักการที่ว่า -ทำพลาดให้น้อยกว่าคนอื่น- ในเรื่องของการแต่งตั้งโค้ช และดึงผู้เล่นมาร่วมทัพ
อย่างไรก็ดี ชมัดต์เค่อ มักถูกพูดถึงด้านเชิงลบ จนเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาไม่ได้รับงานใหญ่ไปกว่าเดิม
ซึ่งปัจจัยที่ว่าคือเรื่องอุปนิสัยที่เป็นคนตรงไปตรงมามากเกินไป
กล่าวคือ ชมัดต์เค่อ มักมีปัญหากับคนที่มีอำนาจสูงกว่า (อาเค่น, ฮันโนเวอร์, โคโลญจน์) ไม่ก็ขัดแย้งกับคนที่เป็นเทรนเนอร์ หรือไม่ก็ผิดใจกับทั้ง 2 ฝ่ายไปเลย
ความขัดแย้งระหว่างเทรนเนอร์กับผู้อำนวยการกีฬาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในโมเดลของลูกหนังเยอรมัน
คนเป็นเทรนเนอร์มักมีความต้องการสูงเพื่อการทำงานในระยะสั้น ซึ่งมันขัดกับผู้อำนวยการกีฬาที่ทำงานด้วยวิสัยทัศน์ในระยะยาว
แต่ก็มีเพียงไม่กี่คนที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อแบบฉุนเฉียวและอารมณร้อนมากพอ ๆ กับ ชมัดท์เค่อ
"ทุกคนรู้ดีว่าผมกับ เมียร์โก (สลอมก้า) จะไม่เช่ารถแคมป์ปิ้งมาแล้วขับไปทั่วแคนาดาเพื่อล่าหมีกันหรอก" เขาเคยพูดถึงความสัมพันธ์ของตัวเองกับ สลอมก้า ที่เป็นกุนซือ ฮันโนเวอร์ ในช่วงนั้น
ขณะที่ความสัมพันธ์เลวร้ายกับ ปีเตอร์ สโตเกอร์ ก็ทำให้เขาต้องแยกทางกับ โคโลญจน์
ส่วนที่ โวลส์ฟส์บวร์ก ชมัดต์เค่อ ยังมีความขัดแย้งกับ บรูโน่ ลาบบาเดีย ด้วย
"ผมจะไม่แลกสูตรทำอาหารกับเขา และวางแผนวันหยุดกับเขาแน่ ๆ" นั่นคือสิ่งที่เขาเคยพูดถึง ลาบบาเดีย และไม่นานหลังจากนั้น ลาบบาเดีย ก็บอกลาทีมเพื่อไปคุม แฮร์ธ่า เบอร์ลิน
โอลิเวอร์ กลาสเนอร์ คนที่รับงานต่อจาก ลาบบาเดีย สามารถพาทีมจบฤดูกาลด้วยการติด 4 อันดับแรกของตารางคะแนนได้ก็จริง แต่ ชมัดท์เค่อ พูดอย่างตรงไปตรงมาว่าพวกเขาเห็นไม่ตรงกันเรื่องนโยบายการเสริมทัพ
"ไอเดียของเขามันเป็นจริงไม่ได้หรอก นี่ไม่ใช่ ฟานตาเซียลันด์ (สวนสนุกของ เยอรมนี) นะ" ชมัดท์เค่อ ให้สัมภาษณ์แบบนั้นหลังจากเทรนเนอร์ชาวออสเตรียน บ่นเรื่องที่ตัวเลือกในแนวรุกของทีมไม่มีความเร็วมากเท่าที่ควร
บางทีสไตล์แบบเถรตรงของ ชมัดท์เค่อ อาจโดดเด่นโดยที่มีปัจจัยมาจากคนที่อยู่รอบตัวเขา เพราะทุกวันนี้คนหัวกะทิรุ่นใหม่ ๆ และมีความระมัดระวังมากกว่าเดิมเริ่มเข้ามามีอำนาจกับสโมสรต่าง ๆ ในเยอรมนี มากขึ้น
...
คนที่รู้จัก "ชมัดดี้" เป็นอย่างดีนั้นยืนยันว่าเขาเป็นคนที่ตลกมากกว่าที่หลายคนคิด และมีนิสัยดีมากกว่าที่หลายคนเข้าใจ
ตอนที่ ชมัดท์เค่อ ออกมากล่าวอำลาในช่วงต้นปี เหมือนว่าเขาจะสื่อว่าการที่ทำตัวเป็นคนขี้บ่น เป็นแค่การแสร้งทำเพื่อที่จะลดกระแสความสนใจจากสื่อเท่านั้น
"ผมไม่ใช่คนที่มีนิสัยทุเรศเหมือนที่หลายคนคิดหรอก" เขาบอกอย่างนั้นกับ ซุดดอยช์ ไซท์ตุ้ง
นิสัยที่มีความระมัดระวังสูงและหุนหันพลันแล่น ถือเป็นการอธิบายได้เป็นอย่างดีว่าทำไมคนในเยอรมนี ถึงแสดงความกังขาในตอนที่มีข่าวว่าเขาอาจจะไปรับงานกับ ลิเวอร์พูล
พวกเขามองไม่ออกเลยว่า ชมัดท์เค่อ จะทำงานที่ต่างแดนได้อย่างไร และจินตนาการไม่ออกว่าเขาจะทำงานในแบบไหนกับตำแหน่งที่ตัวเองไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจขั้นเด็ดขาด
ตอนเป็นผู้อำนวยการกีฬาของ ฮันโนเวอร์, โคโลญจน์ และ โวล์ฟส์บวร์ก ชมัดต์เค่อ คือคนที่มีตำแหน่งใหญ่โต และมีอำนาจมากที่สุดของสโมสร แต่ผู้อำนวยการกีฬาของ พรีเมียร์ลีก มีหน้าที่ตรงกันข้าม
เพราะผู้อำนวยการกีฬาใน พรีเมียร์ลีก จะเป็นคนที่ทำงานในเบื้องหลัง และมักมีอำนาจเป็นรองเหล่าผู้จัดการทีม เขาต้องทำความคุ้นเคยกับการทำงานที่ต่างออกไปจากเดิมมาก ๆ
และยิ่งการที่ต้องทำงานภายใต้หรืออยู่ในระดับเดียวกับ คล็อปป์ อย่างไรก็ดี ชมัดท์เค่ พูดชัดเจนถึงหน้าที่บางส่วนในวันรับตำแหน่ง
"ในอังกฤษ อิทธิพลของกุนซือในด้านการเสริมทัพมีมากกว่าที่ เยอรมนี เพราะที่ เยอรมนี คนเป็นผู้อำนวยการกีฬาจะเป็นคนที่ครองอำนาจทุกอย่าง"
"เจอร์เก้น คล็อปป์ คือคนที่จะกำหนดเรื่องหลัก ๆ ส่วนเราจะจัดทีมงานด้านวิเคราะห์ข้อมูล, แมวมอง ฯลฯ เพื่อที่เขาจะได้เลือกจากลิสต์รายชื่อนักเตะว่าเขาอยากจะร่วมงานกับคนไหน"
"โดยหลังจากนั้นผมจะจัดการกับเรื่องเสริมทัพโดยที่ร่วมมือกับฝ่ายที่มีอำนาจรับผิดชอบภายในสโมสร และสุดท้ายนั้นคนเป็นเจ้าของก็ต้องพอใจกับการลงทุนด้วย"
...
ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ชมัดต์เค่อ จัดการกับดีลหลายร้อยดีล ซึ่งมีทั้งอันที่ยอดเยี่ยมและอันที่ล้มเหลว แต่เขามีความชำนาญในการเอานักเตะดี ๆ มาร่วมทัพมากกว่าการหาเพชรเม็ดงามแล้วมาเจียระไนให้เป็นซูเปอร์สตาร์
อย่างเช่นพี่น้อง เอ็นเมช่า, เฟลิกซ์, ลูคัส หรือ มักแซงต์ ลาครัวซ์ (ทั้่งหมดเซ็นกับ โวล์ฟส์บวร์ก) อีกทั้งยังเคยรับหน้าที่เอา เวาท์ เว็กฮอร์สต์ มาอยู่กับ โวล์ฟส์บวร์ก ด้วย เพียงแต่ตอนแรกคนที่ติดต่อไปหาดาวเตะชาวดัตช์คือ โอลาฟ เร้บเบ้ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกีฬาคนก่อนหน้า
แต่ก็มีบางครั้งที่เขาตัดสินใจพลาด เช่น หลังจากเข้าไปอยู่กับ โวล์ฟส์บวร์ก ได้ไม่นานเมื่อปี 2018 ชมัดต์เค่อ ตัดสินใจปล่อย วิคเตอร์ โอซิมเฮน ไปให้ ชาร์เลอรัว ทีมในเบลเยียมด้วยสัญญายืมตัว ก่อนที่จะขายขาดด้วยราคา 3.5 ล้านยูโรในเวลาต่อมา
โดยคนที่ดึง โอซิมเฮน ไปอยู่กับ โวล์ฟส์บวร์ก ในตอนแรกคือ เคลาส์ อัลลอฟส์ กับ เร้บเบ้ ซึ่งเป็นคนที่กุมอำนาจภายในทีมก่อนหน้าที่ ชมัดต์เค่อ จะเข้ามา ซึ่งในอีก 4 สัปดาห์หลังจาก ชาร์เลอรัว ซื้อขาด พวกเขาก็ขาย โอซิมเฮน ให้กับ ลีลล์ ด้วยค่าตัว 22 ล้านยูโร
ถึงกระนั้น ในเชิงบวก ทุกทีมที่เขาเคยทำต่างมีผลงานดีขึ้นถึงขั้นมีโอกาสไปเล่นฟุตบอลสโมสรยุโรป
...
ถามว่าใครกันที่เป็นคนแนะนำ ชมัดท์เค่อ ให้มาลงเอยกับ ลิเวอร์พูล ได้
คำตอบก็คือ มาร์ค โคซิคเค่อ ที่ปรึกษาส่วนตัวของ คล็อปป์
โคซิคเค่อ เคยเจอกับ ชมัดต์เค่อ มาแล้ว ตอนที่ ฟลอเรียน โคห์เฟลด์ต กุนซือที่อยู่ในความดูแลของเขาอยู่กับ โวล์ฟส์บวร์ก เมื่อฤดูกาลก่อน
ตอนนั้น ชมัดต์เค่อ อยากให้โอกาสเขาได้คุมทีมต่อไปแม้ว่าทีมจะมีผลงานที่น่าผิดหวังก็ตาม แต่คนอื่น ๆ ในสโมสรชอบ นิโก้ โควิช มากกว่า จนสุดท้ายก็มีการแต่งตั้ง โควัช ในช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา
ซึ่งแหล่งข่าวเชื่อว่าความไม่ลงรอยกันในเรื่องนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ ชมัดต์เค่อ บอกลา โวล์ฟส์บวร์ก พร้อมกับประกาศอำลาวงการลูกหนังไปเมื่อช่วงเดือนมกราคม
"เขา(โคซิคเค่อ) มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเหล่าเจ้าของทีม ลิเวอร์พูล ตอนที่ผู้อำนวยการกีฬาคนปัจจุบันประกาศว่าอยากลาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลส่วนตัว มาร์ค เป็นคนที่บอกกับเหล่าเจ้าของทีมว่า -ถ้าคุณกำลังหาคนที่มีอายุมากกว่าคนเก่า และมีประสบการณ์มากกว่าสำหรับเฉพาะช่วงตลาดการเสริมทัพแล้วล่ะก็ คุณอาจจะอยากลองพิจารณา ยอร์ก ชมัดท์เค่ ดูนะ-"
องค์ประกอบหลายอย่างทำให้ คล็อปป์ หลงใหลในความสามารถของ ชมัดต์เค่อ เอามาก ๆ คล็อปป์ เชื่อว่างานทุกอย่างจะออกมาสมบูรณ์แบบ
การทำงานที่่ผ่านมาของ ชมัดต์เก้ อาจเจอคนที่เป็นเฮดโค้ชที่ไม่เข้าใจว่า สโมสรมีข้อจำกัดด้านการเงิน อย่าง เมียร์โค่ สลอมก้า ที่ ฮันโนเวอร์, ปีเตอร์ สโตเกอร์ ที่ โคโลญจน์, บรูโน่ ลาบบาเดีย กับ โอลิเวอร์ คลาสเนอร์ ที่ โวล์ฟสบวร์ก
แต่ที่ ลิเวอร์พูล นั้น คล็อปป์ เข้าใจถึงเรื่องนั้นดี ทำให้ทั้งสองคนน่าจะมีความสอดคล้องกันได้
ย้อนกลับไปตอนที่ คล็อปป์ เหมือนจะแย้มกับ โวล์ฟส์แบร์เกอร์ ออลเจมีน ไซตุ้ง ตอนต้นปีแล้วว่าเขาสนใจที่จะทำงานร่วมกับ ชมัดต์เก้ ในอนาคต
"ผมอยากทำงานร่วมกับเขานะ ผมมั่นใจว่ามันจะออกมาดีเลย เขาเป็นคนชั้นยอด, เป็นคนที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยตลอดช่วง 38 ปีที่ผ่านมา เขาซื่อสัตย์ต่อตัวเอง วงการฟุตบอลคงจะคิดถึงเขามาก ๆ"
จนกระทั้งมีประกาศแต่งตั้งให้ ชมัดท์เค่อ เข้ามารับงานผู้อำนวยการกีฬาคนใหม่ ลิเวอร์พูล ต่อจาก จูเลี่ยน วอร์ด ซึ่งในเบื้องต้นสัญญาจะเป็นระยะสั้นที่มีผลจนถึงจบตลาดการเสริมทัพในช่วงซัมเมอร์นี้เท่านั้น
ทว่ามันอาจจะยาวนานกว่านั้นก็เป็นได้หากทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น
"ในเบื้องต้น การทำงานร่วมกันมันถูกกำหนดเอาไว้ที่ 3 เดือน ถ้าเราต่างถูกใจกัน มันก็อาจจะมีการต่อสัญญาให้มีผลเลยตลาดการเสริมทัพในรอบนี้ก็ได้" ผอ.กีฬาลิเวอร์พูล วัย 59 ปีกล่าวปิด
HOSSALONSO